ซือหม่า เลี่ยง

(เปลี่ยนทางจาก ซือหม่าเหลียง)

ซือหม่า เลี่ยง (จีน: 司馬亮; ?-25 กรกฎาคม 834) พระนามรอง จื่ออี้ (จีน: 子翼) ผู้สำเร็จราชการ ระหว่างรัชสมัยของ จักรพรรดิจิ้นฮุ่ย จักรพรรดิองค์ที่ 2 ของ ราชวงศ์จิ้นตะวันตก. โดยพระองค์เป็นองค์ชายองค์แรกที่เข้าร่วมในสงครามที่เรียกว่า สงครามแปดอ๋อง.

ซือหม่า เลี่ยง
司馬亮
ผู้สำเร็จราชการ แห่ง ราชวงศ์จิ้น
สวรรคต25 กรกฎาคม พ.ศ. 834 ค.ศ.291
พระราชบิดาสุมาอี้
พระราชมารดานายหญิงฟู่
พระนามรองจื่ออี้
พระสมัญญานามPrince Wencheng of Ru'nan (汝南文成王)

ประวัติ แก้

ซือหม่า เลี่ยงเป็นพระโอรสองค์ที่ 4 ใน จักรพรรดิจิ้นเสฺวียน หรือ สุมาอี้ ที่ปรึกษาคนสำคัญของ โจโฉ แห่ง วุยก๊ก ในระหว่าง ยุคสามก๊ก ที่ประสูติแต่นายหญิงฟู่ ระหว่างที่พระเชษฐาต่างพระมารดาของพระองค์คือ สุมาสู และ สุมาเจียว ได้สำเร็จราชการในวุยก๊กพระองค์รับราชการเป็นขุนนางระดับกลาง หลังจากพระนัดดาของพระองค์ สุมาเอี๋ยน ขึ้นสืบราชบัลลังก์เป็น จักรพรรดิจิ้นอู่ ก็ได้สถาปนาพระปิตุลา (อา) พระองค์นี้เป็น ฟู่เฝิงอ๋อง

เจ้าชายซือหม่า เลี่ยง เป็นคนที่ยึดมั่นในความถูกต้องและคุณธรรมเป็นอย่างมาก พระองค์เข้ารับราชการมาตั้งแต่สมัยตระกูลโจเรืองอำนาจ โดยดำรงตำแหน่งเป็นขุนนางระดับกลาง ต่อมาพระนัดดาของพระองค์ สุมาเอี๋ยน (司马炎) โค่นล้มตระกูลโจและก่อตั้งราชวงศ์จิ้นขึ้น พระองค์ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นอ๋องและดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่คุมกำลังทหารในภูมิภาคตะวันตกทั้งหมด แต่ว่าในปี ค.ศ. 270 แม่ทัพในสังกัดของพระองค์ได้รบแพ้กบฏชนเผ่าเซียนเป่ยจนถูกคาดโทษประหารชีวิต เพื่อปกป้องชีวิตของลูกน้องพระองค์จึงยอมรับผิดแทนและถูกปลดออกจากตำแหน่ง แม้กระนั้นความดีของพระองค์ก็เป็นที่ถูกนับถือในราชสำนักเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่จักรพรรดิจิ้นอู่มาขอให้พระองค์ช่วยดูแลอบรมสั่งสอนรัชทายาทเลยทีเดียว ต่อมาใน ปี ค.ศ. 277 พระองค์ก็ถูกแต่งตั้งให้เป็นอ๋องแห่งหรู่หนาน หรือเมือง ยีหลำ และคุมกำลังทหารในแคว้นเหอหนาน แต่เพียงไม่นานก็โดนโยกกลับไปเป็นที่ปรึกษาระดับสูงในราชสำนักแทน

หลังจากจักรพรรดิจิ้นอู่เริ่มมีอาการประชวรในปี ค.ศ. 289 ก็ได้ขอให้เจ้าชายซือหม่า เลี่ยงและหยางจุน (Yang Jun) พระบิดาของจักรพรรดินีหยางขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทน หยางจุนมีความหวาดกลัวในตัวของเจ้าชายซือหม่า เลี่ยงและอ๋ององค์อื่น จึงได้ทำเรื่องโยกให้เจ้าชายซือหม่า เลี่ยงไปประจำอยู่ที่เมืองฮูโต๋แทน ส่วนอ๋ององค์อื่น ๆ ก็จะถูกโยกไปประจำอยู่ตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ทั่วแผ่นดินจีน จักรพรรดิจิ้นอู่เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจึงคิดจะมีพระราชโองการให้ทั้งสองคนเป็นผู้สำเร็จราชการร่วมกัน แต่ว่าพระราชโองการนั้นถูกหยางจุนลอบสับเปลี่ยนให้เหลือแต่เพียงชื่อตนเองเพียงคนเดียว หลังจากนั้นไม่นานจักรพรรดิจิ้นอู่ก็สวรรคตและองค์รัชทายาทขึ้นดำรงตำแหน่งองค์ฮ่องเต้แทนพระนามว่าจักรพรรดิจิ้นฮุ่ย (晉会帝) ในตอนนั้นเจ้าชายซือหม่า เลี่ยงยังประทับอยู่ในเมืองหลวงและรู้สึกหวาดกลัวหยางจุนมากจนไม่มีความคิดที่จะหาความเรื่องพระราชโองการของจักรพรรดิจิ้นอู่อีกต่อไป แต่หยางจุนนั้นกลับคิดว่าเจ้าชายซือหม่า เลี่ยงมีความคิดจะต่อต้านจึงเตรียมกำลังทหารเข้าปราบปราม เป็นเหตุให้เจ้าชายซือหม่า เลี่ยงต้องรีบเผ่นหนีไปตั้งหลักที่เมืองฮูโต๋ทันทีเพื่อรักษาชีวิตตัวเอง

ต่อมา เจี่ยหนานเฟิง (Jia Nanfeng) ฮองเฮาของจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยได้ร่วมมือกับเจ้าชาย ซือหม่าเหว่ย (Sima Wei) ปราบปรามหยางจุนได้สำเร็จ จักรพรรดิจิ้นฮุ่ยและเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายจึงได้เชิญตัวเจ้าชายซือหม่า เลี่ยงกลับคืนสู่นครหลวงอีกครั้งและให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการตามเดิม พระองค์และ อุยก๋วน (Wei Guan, อดีตเสนาธิการวุ่ยก๊ก ผู้ปราบเตงงาย,จงโฮยและเกียงอุย) พยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะทำให้ราชสำนักกลับมาเข้าร่องเข้ารอยเหมือนเดิม แต่ว่าเจี่ยหนานเฟิงนั้นกลับพยายามเข้ามายุ่มย่ามเรื่องการปกครอง แถมพวกเขายังกังวลเรื่องนิสัยที่รุนแรงของซือหม่าเหว่ยจนมีความคิดที่จะปลดเขาออกจากตำแหน่ง แต่ว่าสุมาเหว่ยได้ไปขอร้องเจี่ยหนานเฟิงจนได้ตำแหน่งกลับคืนมาเหมือนเดิม ต่อมา ชีเช่ง (Qi Sheng) และ กงซุนฮอง (Gongsun Hong) ที่ปรึกษาของสุมาเหว่ยได้ยุแยงเจี่ยหนานเฟิงว่าซือหม่า เลี่ยงกับอุยก๋วนมีความคิดที่จะปลดจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยออกจากตำแหน่งองค์ฮ่องเต้ ตัวเจี่ยหนานเฟิงนั้นเคยมีเรื่องกับอุยก๋วนมาก่อนจึงเชื่อว่าเป็นความจริง

ในฤดูร้อน ปี ค.ศ. 291 เจี่ยหนานเฟิงได้ปลอมพระราชโองการปลดซือหม่า เลี่ยงและอุยก๋วนออกจากตำแหน่ง และให้สุมาเหว่ยนำกำลังไปล้อมคฤหาสน์ของทั้งคู่เอาไว้ ผู้ใต้บังคับบัญชาของทั้งคู่ต่างสนับสนุนให้ทำการต่อต้านแต่ทั้งคู่กลับเลือกที่จะยอมจำนนแทน แต่แทนที่จะทำตามพระราชโองการสุมาเหว่ยกลับสั่งให้ทหารล้างบางตระกูลของทั้งคู่เสีย อุยก๋วนและผู้ชายในตระกูลทั้งหมดถูกสังหารทิ้งอย่างโหดเหี้ยม ส่วนซือหม่า เลี่ยงนั้นพวกทหารที่เคยเคารพเขานั้นไม่กล้าลงมือสังหาร เขาจึงถูกจับขึ้นรถนักโทษเอาตัวกลับไปแทน แต่ด้วยความเศร้าเสียใจและสภาพอากาศอันร้อนจัด เขาจึงนำพัดเหล็กที่ทหารให้เอาไว้ใช้พัดแก้ร้อนมาแทงตัวเองตาย เป็นการปิดฉากตำนานรัฐบุรุษผู้นี้ในที่สุด

สุมาเหว่ยจึงได้ตัดหัวศพซือหม่า เลี่ยงกลับไปเป็นหลักฐานแทน ซึ่งต่อมาเขาก็ถูกเจี่ยหนานเฟิงทรยศและป้ายความผิดที่ฆ่าซือหม่า เลี่ยงกับอุยก๋วนให้กับเขา สุมาเหว่ยจึงถูกจับประหารในฐานะกบฏ ส่วนซือหม่า เลี่ยงก็ถูกได้รับการยกย่องและสร้างสุสานฝังศพเขาอย่างสมเกียรติในเวลาต่อมา

อ้างอิง แก้