ซาริตซา หรือ "ซารีนา" (บัลแกเรีย: царица, รัสเซีย: царица) เป็นตำแหน่งของพระประมุขสตรีซึ่งทรงราชย์ในระบอบอัตตาธิปไตย หรือ พระมหากษัตริย์ แห่งบัลแกเรีย, เซอร์เบีย และรัสเซีย หรือตำแหน่งนี้ใช้เรียกพระมเหสีในพระเจ้าซาร์ การสะกดคำมาเป็นภาษาอังกฤษได้ยึดมาจากภาษาเยอรมันว่า "ซาริน" (czarin หรือ zarin) เช่นเดียวกับภาษาฝรั่งเศสที่อ่านว่า "ซารีน" (tsarine/czarine) และในภาษาสเปนกับอิตาลีอ่านว่า "ซารินา" (czarina/zarina)[1] ส่วนพระราชธิดาในซาร์จะถูกเรียกว่า ซาเรฟนา

ซารีนามาร์ฟา อาปรัคซินา พระมเหสีในพระเชษฐาของจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย

"ซาริตซา" เป็นตำแหน่งประมุขสูงสุดของประเทศในอดีตดังนี้

  • บัลแกเรีย ในปีค.ศ. 910 - 1018, ปีค.ศ. 1185 - 1422 และในปีค.ศ. 1908 - 1946
  • เซอร์เบีย ในปีค.ศ. 1346 - 1371
  • รัสเซีย อย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 1547 - 1721 และอย่างไม่เป็นทางการในปีค.ศ. 1721 - 1917 (เนื่องจากมีพระอิสริยยศ "จักรพรรดินี" แทน)

รัสเซีย แก้

 
ซารีนาวาซิลีซา เมเลนเตเยวา หนึ่งในพระมเหสีของซาร์อีวานผู้เหี้ยมโหด วาดโดยนิโคไล เนฟเรฟ ในศตวรรษที่ 19

นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1721 ตำแหน่งพระประมุขบุรุษและสตรีของรัสเซียถูกเปลี่ยนแปลงเป็นตำแหน่ง จักรพรรดิ (รัสเซีย: император, imperator) และ จักรพรรดินี (รัสเซีย: императрица, imperatritsa) หรือลำดับถัดมาคือ จักรพรรดินีพระมเหสี ดังนั้นซารีนาพระองค์สุดท้ายของรัสเซียอย่างเป็นทางการคือ ซารีนายูโดเซีย โลพูคินา พระมเหสีพระองค์แรกในจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย ส่วนจักรพรรดินีพระองค์สุดท้ายของรัสเซียคือ จักรพรรดินีอะเลคซันดรา ฟอโดรอฟนา แห่งรัสเซีย พระมเหสีในจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย

ซารีนายูโดเซีย โลพูคินาถูกส่งไปคุมขังที่อารามในปีค.ศ. 1696 (ซึ่งเป็นวิธีปกติที่จักรพรรดิรัสเซียจะทรงหย่ากับพระมเหสี) และพระนางสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1731 ในปีค.ศ. 1712 จักรพรรดิปีเตอร์ได้อภิเษกสมรสใหม่กับมาร์ธา ซามูอิลอฟนา สคาฟรอนสกายา ทรงเปลี่ยนมานับถือศาสนาออร์ทอดอกซ์รัสเซีย และเปลี่ยนพระนามเป็นเยกาเจรีนา อะเลคเซยีฟนา หลังจากมีการสถาปนาจักรวรรดิรัสเซียในปีค.ศ. 1721 พระนางเยกาเจรีนา อะเลคเซยีฟนาจึงกลายเป็นจักรพรรดินีโดยการอภิเษกสมรส หลังจากจักรพรรดิปีเตอร์สวรรคต พระนางจึงครองราชย์สืบต่อด้วยสิทธิของพระนาง ในหลายศตวรรษต่อมาคำว่า "ซารีนา" จึงไม่ถูกใช้อย่างเป็นทางการ จึงกลายเป็นชื่อเรียกแบบทั่วๆไปสำหรับจักรพรรดินี หรือสมเด็จพระราชินีนาถ[2] (ตำแหน่ง "Mother dear-tsaritsa" หรือ ซารีนา พระราชมารดา [матушка-царица] เป็นตำแหน่งที่มักนิยมเรียก จักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 มหาราชินี)

ตำแหน่งซารีนาโดยนิตินัย เริ่มต้นตั้งแต่ค.ศ. 1547 ถึงค.ศ. 1721 เหล่าซารีนาผู้ทรงเป็นที่รู้จักก็เช่น ซารีนาทั้ง 6 หรือ 7 พระองค์ ซึ่งเป็นพระมเหสีในซาร์อีวานผู้เหี้ยมโหด ซึ่งซารีนาในรัชกาลนี้ทรงถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษโดยศัตรูของซาร์อีวาน บางพระองค์ถูกซาร์อีวานประหารชีวิต และบางพระองค์ถูกส่งไปคุมขังที่อาราม แต่มีเพียงซารีนา 4 พระองค์แรกเท่านั้นที่มีการสวมมงกุฎ ราชิภิเษกเป็นซารีนา แต่หลังจากนั้นซารีนาพระองค์หลังไม่ได้ผ่านการอภิเษกสมรสในโบสถ์ออร์ทอดอกซ์ ซึ่งทรงอยู่ร่วมกันเฉยๆโดยไม่ได้อภิเษกสมรส

 
ซาร์อเล็กซีที่ 1 แห่งรัสเซีย ทรงเลือกเจ้าสาวในปี ค.ศ. 1648 วาดโดย กริกอรี เซดอฟ ในศควรรษที่ 19

ธิดาขุนนางชาวโปแลนด์ชื่อ มารีนา มนิสเชค ได้กลายเป็นซารีนาแห่งรัสเซีย จากการอภิเษกสมรสกับผู้แอบอ้างเป็นซาร์ คือ ซาร์ดมิตรีที่ 1 ตัวปลอม และหลังจากนั้นอภิเษกสมรสกับซาร์ดมิตรีที่ 2 ตัวปลอม

พระมเหสีหลายพระองค์ของรัสเซียส่วนใหญ่ล้วนผ่านพิธีดูตัวเจ้าสาว (คล้ายพิธีประชันความงามกันระหว่างสตรี ซึ่งประเพณีนี้รัสเซียรับมาจากจักรวรรดิไบแซนไทน์) เหล่าสตรีสูงศักดิ์ และสิริโฉมงดงาม แต่ยากจนจำนวนหลายร้อยคน ได้เดินทางมารวมกันจากทั่วทุกภูมิภาคของรัสเซีย และพระเจ้าซาร์จะทรงเลือกผูที่ทรงเห็นว่างดงามที่สุด ในกรณ๊นี้ถือว่าเป็นกีดกันรัสเซียจากการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ต่างๆในยุโรป แต่สามารถป้องกันความสัมพันธ์จากสายโลหิตเดียวกันและความเสื่อมสภาพของเชื้อสายได้ และยังป้องกันอิทธิพลทางการเมืองของเจ้าหญิงชาวต่างชาติ (ซึ่งนับถือคาทอลิก หรือ โปรแตสแตนต์) พระมเหสีชาวต่างชาติในช่วงยุคนี้มีเพียงพระองค์เดียวคือ (ไม่นับรวมซารีนามารีนา มนิสเชค) มารีเยีย เตมรีอูคอฟนา ซึ่งเป็นเจ้าหญิงมาจากแถบคอเคเซียน ที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ นิกายออร์ทอดอกซ์

นักเขียนชาวรัสเซีย ชื่อ อีวาน ซาเบลิน ได้เขียนหนังสือ The Domestic Life of Russian Tsaritsas ในปีค.ศ. 1872 ซึ่งได้อธิบายเรื่องราวของซารีนาไว้

บัลแกเรีย แก้

 
ซารีนามาเรีย พาลาอีโอโลกินา คานตาคูเซเนแห่งบัลแกเรีย

บัลแกเรียมีตำแหน่งซารีนา ในฐานะพระมเหสีในพระเจ้าซาร์แห่งบัลแกเรีย ซารีนาของบัลแกเรียสามารถย้อนไปได้ถึงในช่วงสมัยกลาง ซึ่งบัลแกเรียดำรงสถานะเป็น จักรวรรดิบัลแกเรียตั้งแต่ ค.ศ. 681 - 1018 และครั้งที่ 2 ในปีค.ศ. 1185 - 1396 และราชอาณาจักรบัลแกเรีย ในปีค.ศ. 1908 - 1946 เรื่องราวของซารีนาแห่งบัลแกเรียมีความคลุมเคลือ เมื่อเทียบกับรัสเซีย ซารีนาแห่งบัลแกเรียมีความเกี่ยวเนื่องกับการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ จากราชวงศ์ต่างในยุโรป เป็นส่วนใหญ่ และมักจะมีการใช้ตำแหน่ง "ซารีนา" ควบคู่กับ "จักรพรรดินี" เช่น จักรพรรดินีมาเรีย พาลาอีโอโลกินา คานตาคูเซเน หรือ ซารีนามาเรีย พาลาอีโอโลกินา คานตาคูเซเน เป็นเจ้าหญิงจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ ซึ่งอภิเษกสมรสกับซาร์คอนสแตนติน ตีห์แห่งบัลแกเรีย ซารีนามาเรีย พาลาอีโอโลกินากุมอำนาจทางการเมืองรัชสมัยของพระสวามีและพระโอรส และนำบัลแกเรียเข้าไปในกิจการการเมืองของจักรวรรดิไบแซนไทน์ จึงทำให้อิทธิพลของต่างชาติมีสูงในราชสำนักบัลแกเรีย และต้องประสบกับการก่อกบฎ พระโอรสจึงสูญเสียราชบัลลังก์ไปจากการช่วงชิงบัลลังก์

จักรวรรดิบัลแกเรียได้ล่มสลาย ตำแหน่งซารีนาจึงยุติไปด้วยและเกิดขึ้นอีกครั้งในยุคราชอาณาจักรบัลแกเรียสมัยใหม่ เจ้าหญิงเอเลนอร์ รอสแห่งคอสทริกส์ พระมเหสีองค์ที่สองในพระเจ้าซาร์เฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งบัลแกเรีย ซึ่งทั้งสองพระองค์ล้วนเป็นชาวเยอรมัน ได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง "ซารีนาแห่งบัลแกเรีย" พระองค์แรกในราชอาณาจักรบัลแกเรียสมัยใหม่ ค.ศ. 1908 ซึ่งตำแหน่งซารีนาในสมัยนี้ ไม่ได้ผูกติดกับยศ "จักรพรรดินี" ดังเช่นในสมัยกลาง แต่เชื่อมโยงกับ "สมเด็จพระราชินี" ตามราชอาณาจักรสมัยใหม่ในคาบสมุทรบอลข่าน ซารีนาแห่งบัลแกเรียพระองค์สุดท้ายคือ เจ้าหญิงโจวันนาแห่งอิตาลี พระมเหสีในพระเจ้าซาร์บอริสที่ 3 แห่งบัลแกเรีย ก่อนที่ราชอาณาจักรบัลแกเรียจะสิ้นสุดลงจากการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในปีค.ศ. 1946 รัชสมัยพระเจ้าซาร์ซีโมนที่ 2 แห่งบัลแกเรีย พระโอรส

เซอร์เบีย แก้

ซารีนาพระองค์แรกแห่งเซอร์เบีย คือ เฮเลนาแห่งบัลแกเรีย พระราชธิดาในซาร์อีวาน อเล็กซานเดอร์แห่งบัลแกเรีย และเป็นพระมเหสีในซาร์สเตฟาน อูรอสที่ 4 ดูซังแห่งเซอร์เบีย พระนางทรงดำรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเซอร์เบีย และจักรพรรดินีแห่งเซอร์เบียตามลำดับ ในปีค.ศ. 1346 จนกระทั่งซาร์ดูซังสวรรคตกระทันหันในปีค.ศ. 1355 และซารีนาองค์สุดท้ายของเซอร์เบียคือ ซารีนาอนา บาซารับ ธิดาตระกูลบาซารับ ตระกูลขุนนางจากวัลลาเซีย อนาอภิเษกสมรสกับพระราชโอรสของซาร์ดูซัง คือ ซาร์สเตฟาน อูรอสที่ 5 แห่งเซอร์เบีย ในช่วงปีค.ศ. 1356 - 1360 และพระองค์ปกครองเซอร์เบียจนกระทั่งจักรวรรดิล่มสลายในปีค.ศ. 1371

ราชอาณาจักรเซอร์เบียยุคใหม่ได้ก่อตั้งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ไม่ได้ปรากฏว่ามีการใช้คำว่า "ซารีนา" อีกต่อไป หากแต่มีการใช้คำว่า "สมเด็จพระราชินีแห่งเซอร์เบีย" แทน

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "tsarina", Oxford English Dictionary (2nd ed.), 1989
  2. มี "ซารีนา" หลายพระองค์ครองราชย์ในรัสเซียช่วงศตวรรษที่ 18 ได้แก่ จักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 1 (ครองราชย์ 1725–27), จักรพรรดินีแอนนา (1730–40), จักรพรรดินีเยลิซาเวตา (1741–62), และ จักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 มหาราชินี (1762–96)