ซากูระ (ญี่ปุ่น: 桜, 櫻) เป็นชื่อสามัญของพืชหลายชนิดจำพวกเชอร์รีในสกุล Prunus อาทิ P. jamasakura, P. serrulata เป็นต้น มีถิ่นกำเนิดในจีนตอนใต้, เกาะไต้หวัน, หมู่เกาะโอกินาวะ และหมู่เกาะญี่ปุ่น มีดอกสีขาว กลีบแต่ละกลีบมีจำนวนแตกต่างกันไปตามชนิด[1] ลักษณะเด่นของซากูระก็คือ เมื่อร่วง จะร่วงพร้อมกันหมด ซากูระจึงเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นทหารและวิถีความเป็นบูชิโดของญี่ปุ่น

ซากูระ

ดอกซากูระมีในเกาหลี, สหรัฐ, แคนาดา, จีน หรือที่อื่น ๆ แต่ไม่มีกลิ่น ขณะที่ในญี่ปุ่นนั้นผู้คนจำนวนมากยกย่องชื่นชมกลิ่นซากูระ และมักจะกล่าวฝากไว้ในบทกวี โดยซากูระจะบานในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ อุณหภูมิเริ่มอุ่นขึ้นจากฤดูหนาวที่หมดไป

คำว่า "ซากูระ" ในภาษาญี่ปุ่นนั้นเชื่อกันว่ากร่อนมาจากคำว่า "ซากูยะ" (咲耶; หมายถึง ผลิบาน) อันเป็นชื่อของเทพธิดา "โคโนฮานาซากูยาฮิเม" (木花之開耶姫) ในเทพปกรณัมของญี่ปุ่น มีศาลบูชาของพระองค์อยู่บนยอดเขาฟูจิด้วย สำหรับพระนามของเทพธิดาองค์ดังกล่าวนั้น มีความหมายว่า "เจ้าหญิงดอกไม้บาน" และเนื่องจากซากูระเป็นดอกไม้ที่นิยมกันมากในญี่ปุ่นสมัยนั้น คำว่าดอกไม้ดังกล่าวจึงหมายถึงดอกซากูระนั่นเอง เทพธิดาองค์ดังกล่าวได้รับพระนามเช่นนั้น ก็เพราะมีเรื่องเล่ามาว่าทรงตกจากสวรรค์มาบนต้นซากูระ ดังนั้น ดอกซากูระจึงถือเป็นตัวแทนของดอกไม้ญี่ปุ่น ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้ดอกเก๊กฮวย (ดอกเบญจมาศ) เป็นดอกไม้ประจำชาติ[1][2]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "ซากุระนานาพันธุ์ จาก JapanKIKU.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-10. สืบค้นเมื่อ 2007-08-06.
  2. ซากุระสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น[ลิงก์เสีย]