ซอยกัปตันบุช หรือ ตรอกกัปตันบุช หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ซอยเจริญกรุง 30 เป็นซอยแยกจากถนนเจริญกรุงในพื้นที่แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ใกล้กับถนนสี่พระยาและท่าน้ำสี่พระยา ติดกับริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ซอยกัปตันบุชช่วงหน้าสถานทูตโปรตุเกส

ชื่อซอยกัปตันบุชมีที่มาจากจอห์น บุช นักเดินเรือชาวอังกฤษ ผู้เข้ามาอาศัยและรับราชการในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 จนมีตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมเจ้าท่า และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิสูตรสาครดิฐ ซึ่งเคยมีบ้านพำนักอยู่บริเวณแถบนี้ โดยในซอยเป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ 1 ของถนนเจริญกรุง[1] เป็นบ้านที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามแบบยุโรปนีโอคลาสสิก ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น หลังคาทรงปั้นหยา และออกแบบเป็นหน้าจั่วตรงกลางด้านหน้าอาคาร ผนังทาสีเหลือง หน้าต่างทาสีเขียวมะกอกตัดขอบขาว ประตูหน้าต่างเป็นทรงโค้งแบบโรมัน

บ้านหลังนี้มักมีความเข้าใจผิดว่าเป็นบ้านของกัปตันบุช[1] แต่ตามหลักฐานชื่อของเจ้าบ้านเลขที่ 1 ถนนเจริญกรุงของกรมไปรษณีย์โทรเลข พบว่าในปี พ.ศ. 2454 เป็นบ้านของขุนราชพิมาน บุตรชายของพระยาพิทักษ์ภูบาล ขึ้นกรมรักษาพระองค์ปืนทองปลายซ้าย เคยเป็นอาคารที่ทำการของกรมพระคลังข้างที่ (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในปัจจุบัน) และเคยเป็นที่ทำการของบริษัทสุราฝรั่งเศส [1]รวมถึงเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอาชีวศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยอีกด้วย คือ โรงเรียนอาชีพช่างกล (สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ในปัจจุบัน) ซึ่งในระยะแรกดำเนินกิจการและทำการสอนโดยทหารเรือ[2] ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เข้ามาบูรณะ ถือเป็นอาคารอนุรักษ์และโบราณสถานแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร และด้านข้างทางขวา เป็นอาคารคลังสินค้าเก่า ซึ่งครั้งหนึ่ง หลุยส์ ที. ลีโอโนเวนส์ บุตรชายของแอนนา ลีโอโนเวนส์ หรือแหม่มแอนนา เคยมาเช่าประกอบกิจการอยู่[3]

ในอดีต ย่านซอยกัปตันบุชตลอดจนถนนเจริญกรุง รวมถึงถนนสี่พระยา เป็นย่านแห่งหนึ่งที่มีความคึกคักและเจริญที่สุดของกรุงเทพมหานคร นอกเหนือจากย่านเยาวราช, สำเพ็ง หรือตลาดน้อย เป็นแหล่งที่อาศัยและประกอบกิจการรวมถึงเป็นที่ทำการทางราชการของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันตก ซึ่งยังคงปรากฏหลักฐานมาจนถึงปัจจุบันด้วยอาคารเก่าแก่ที่มีความสวยงามทางสถาปัตยกรรมหลายแห่ง เช่น สถานทูตโปรตุเกส อันเป็นสถานทูตต่างประเทศแห่งแรกที่มีขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยสร้างมาตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 2 ตัวอาคารสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลโปรตุเกส[4], อาคารศุลกสถาน หรือโรงภาษีร้อยชักสาม โรงภาษีเก็บค่าภาษีจากเรือสินค้าต่างชาติ ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบปัลลาดีโอ, ที่ทำการของฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น ธาคารสัญชาติฮ่องกง ที่เข้ามาเปิดกิจการในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2431 เป็นต้น

ระเบียงภาพของอาคารที่อยู่ใกล้เคียง แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 "เรื่องนี้มีอยู่ว่า : "เจริญกรุง" "บำรุงเมือง" "เฟื่องนคร"". ทีเอ็นเอ็น24. 2015-07-19.
  2. นายหนหวยทหารเรือปฏิวัติ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555. 124 หน้า. หน้า 55. ISBN 978-974-02-1025-2
  3. "เปิดประตูสัมผัสความคลาสสิกเหนือกาลเวลา ณ "บ้านเลขที่ ๑"". ไทยรัฐ. 2017-12-27. สืบค้นเมื่อ 2018-02-17.
  4. บางยี่ขัน, ทรงกลด. "สถานทูตโปรตุเกส สถานทูตแห่งแรกในกรุงเทพฯ อายุกว่า 150 ปี". readthecloud.co. สืบค้นเมื่อ 2018-02-17.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°43′45″N 100°30′55″E / 13.729265°N 100.515416°E / 13.729265; 100.515416