ซอน ซาน (เขมร: សឺន សាន สืน สาน; 5 ตุลาคม พ.ศ. 2454 - 19 ธันวาคม พ.ศ. 2543) เป็นนักการเมืองชาวกัมพูชาที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของกัมพูชา (พ.ศ. 2510 – 2511) และต่อมาเป็นประธานสมัชชาแห่งชาติ (พ.ศ. 2536) ตำแหน่งเต็มยศของเขาคือ สมเด็จบวรเศรษฐาธิบดี ซอน ซาน (ภาษาเขมร: សម្តេចបវរសេដ្ឋាធិបតី សឺន សាន)

ซอน ซาน

ชีวิตช่วงแรก แก้

ซอน ซาน เกิดที่กรุงพนมเปญ ครอบครัวของเขามีภูมิหลังเป็นชาวแขมร์กรอม ทั้งพ่อแม่ของเขามาขากจังหวัดจ่าวิญในเวียดนาม ซอน ซัท พ่อของเขาอพยพมาสู่กัมพูชาก่อนซอน ซานเกิดเพื่อมาทำงานให้กับพระสีสุวัตถิ์ สุภานุวงศ์[1] ซอน ซานศึกษาในพนมเปญก่อนจะไปศึกษาต่อที่ปารีส จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จาก École des Hautes Études Commerciales de Paris ปารีส ใน พ.ศ. 2476 และได้ไปศึกษาภาษาอังกฤษในลอนดอนเป็นเวลาสั้นๆ และกลับสู่กัมพูชาใน พ.ศ. 2478 จากนั้นกลับมาทำงานให้กับหน่วยงานของรัฐบาล ดูแลเกี่ยวกับด้านการค้า ที่จังหวัดเปรยแวง และจังหวัดพระตะบอง และเข้าร่วมในคณะกรรมการเศรษฐกิจที่เดินทางไปโตเกียวใน พ.ศ. 2484

นักการเมือง แก้

เขาเป็นผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปไตยและได้เป็นรองประธานในสภารัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของพระสีสุวัตถิ์ ยุทธวงศ์ระหว่าง พ.ศ. 2489 – 2490 หลังจากพระสีสุวัตถ์ ยุทธวงศ์สิ้นพระชนม์ เขาได้เป็นรองประธานต่อจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491[2] และได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2493 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2494 จนกระทั่งพรรคประชาธิปไตยสลายตัวใน พ.ศ. 2495 เขาลาออกจากผู้นำพรรค เข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมและเข้าร่วมรัฐบาล ได้เป็นประธานธนาคารแห่งชาติกัมพูชาระหว่าง พ.ศ. 2507 – 2509

กักบริเวณและลี้ภัย แก้

หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2513 เขาถูกกักบริเวณที่บ้านก่อนจะลี้ภัยไปฝรั่งเศส[3] ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2513 เขาเดินทางไปปักกิ่งเพื่อพยายามประสานระหว่างพระนโรดม สีหนุ และลน นล โดยการสนับสนุนจากฝรั่งเศสและจีน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งมีการประกาศตั้งสาธารณรัฐเขมรในเดือนตุลาคม

กลับสู่กัมพูชา แก้

ซอน ซานเป็นผู้ก่อตั้งแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร ใน พ.ศ. 2521 เพื่อรวมผู้อพยพที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามแนวชายแดนไทย เป็นกองกำลังต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่มีเวียดนามหนุนหลัง ซึ่งต่อมาได้ร่วมมือกับกองทัพแห่งชาติเจ้าสีหนุเพื่อเป็นกลุ่มต่อต้านที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ต่อมา ใน พ.ศ. 2525 จัดตั้งรัฐบาลแนวร่วมแห่งกัมพูชาประชาธิปไตยหรือรัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตยหรือแนวร่วมเขมรสามฝ่ายร่วมกับพรรคกัมพูชาประชาธิปไตยของพล พต โดยซอน ซานดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[4]ในช่วง พ.ศ. 2523 – 2533 ซอน ซานได้รับการสนับสนุนทางการเงินและอาวุธอย่างจำกัดจากสหรัฐเพื่อต่อต้านโซเวียตและเวียดนามในกัมพูชา

หลังการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยสหประชาชาติ และมีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพปารีสในปีพ.ศ. 2534 ซอน ซานได้ก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคประชาธิปไตยเสรีนิยมชาวพุทธ (Buddhist Liberal Democratic Party) ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2536 พรรคนี้ได้รับเลือกตั้ง 10 ที่นั่ง และเข้าร่วมรัฐบาลผสม ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยในรัฐบาลผสม โดยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภากัมพูชาเป็นระยะเวลาสั้นๆ ช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม พ.ศ. 2536 ในปี พ.ศ. 2540 ซอน ซานได้เกษียณตัวเองทางการเมืองเนื่องจากปัญหาทางสุขภาพ และเดินทางไปใช้ชีวิตกับครอบครัวในกรุงปารีส จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยวัย 89 ปี ในปี พ.ศ. 2543 [5]

อ้างอิง แก้

  1. Corfield (1994), p. 5
  2. Cambodian Envoy Off to Paris, New York Times, May 31, 1973, Thursday
  3. Cambodian Envoy Off to Paris, New York Times, May 31, 1973, Thursday
  4. Two old enemies fight Cambodia war, Christian Science Monitor, October 23, 1985
  5. Former Cambodian Prime Minister Son Sann Dies, People's Daily, December 20, 2000
ก่อนหน้า ซอน ซาน ถัดไป
ลอน นอล   นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
(1967 – 1968)
  แปน นุต
เขียว สัมพัน   นายกรัฐมนตรีรัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตย (เขมรสามฝ่าย)
(1982 - 1991)
  ฮุน เซน
เจีย ซีม   ประธานรัฐสภากัมพูชา
(1993)
  เจีย ซีม