ชาญชัย ลิขิตจิตถะ

ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (25 เมษายน พ.ศ. 2489 – 18 มกราคม พ.ศ. 2560) อดีตองคมนตรี[2] อดีตประธานศาลฎีกา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตผู้พิพากษาอาวุโส ชาญชัย เป็นผู้มีบทบาทในการแก้ไขวิกฤตการเมือง อันเนื่องจากการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 และกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชุดที่ 2 ที่มี พลตำรวจเอก วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธานก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร หลังจากที่เกษียณอายุราชการแล้วได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้พิพากษาอาวุโสศาลแพ่งธนบุรี แต่ทำงานได้เพียง 2 วันจึงได้ลาออกจากตำแหน่ง[3]

ชาญชัย ลิขิตจิตถะ
องคมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
8 เมษายน 2551 – 6 ธันวาคม 2559
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ดำรงตำแหน่ง
6 ธันวาคม 2559 – 18 มกราคม 2560
กษัตริย์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ดำรงตำแหน่ง
8 ตุลาคม 2549 – 6 กุมภาพันธ์ 2551
นายกรัฐมนตรีพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
ก่อนหน้าพลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์
ถัดไปสมพงษ์ อมรวิวัฒน์
ประธานศาลฎีกา คนที่ 36
ดำรงตำแหน่ง
1 ตุลาคม 2548 – 30 กันยายน 2549
ก่อนหน้าศุภชัย ภู่งาม
ถัดไปปัญญา ถนอมรอด
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด25 เมษายน พ.ศ. 2489
อำเภอพระประแดง
จังหวัดสมุทรปราการ
ประเทศไทย[1]
เสียชีวิต18 มกราคม พ.ศ. 2560 (70 ปี)
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
คู่สมรสเพ็ญศรี ลิขิตจิตถะ

ภายหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 เคยถูกทาบทามจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ในที่สุดทาง คปค. ได้ตัดสินใจเลือกเลือกพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ต่อมาจึงถูกเลือกให้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการกฤษฎีกาในปี พ.ศ. 2549

ภายหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว ชาญชัยยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เพื่อขอกลับรับราชการเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรีเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2551 จนถึงวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ในรัชกาลที่ 10 จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม และยังเป็น 1 ใน 3 องคมนตรีที่ถูกตั้งเป้าลอบสังหาร แต่เจ้าตัวออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน

ประวัติ แก้

ชาญชัย ลิขิตจิตถะ เกิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2489 ที่ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ จบการศึกษามัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดทรงธรรมจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2512 จบเนติบัณฑิตไทย พ.ศ. 2514 สมรสกับ เพ็ญศรี ลิขิตจิตถะ มีบุตรีชื่อ สุชีรา ลิขิตจิตถะ

เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เข้ารับราชการตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาประจำกระทรวง ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงราย หัวหน้าศาลแขวงนครสวรรค์ หัวหน้าศาลจังหวัดชลบุรี หัวหน้าศาลประจำกระทรวง หัวหน้าศาลจังหวัดกระบี่ หัวหน้าศาลจังหวัดเพชรบุรี ผู้พิพากษาศาลแพ่ง หัวหน้าคณะในศาลแพ่ง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 3 รองอธิบดีศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ผู้พิพากษาศาลฎีกา หัวหน้าแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ หัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 รองประธานศาลฎีกา เป็นประธานศาลฎีกาในปี 2548 ต่อจากนายศุภชัย ภู่งาม เกษียณอายุราชการในปี 2549 และได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์[4]

เมื่อวันที่ 25 เมษายน เวลา 17.42 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จออก ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ พร้อมทั้งรับสั่ง เปิดสภาไม่ครบ 500-ขอนายกฯพระราชทานทำให้ประชาธิปไตยมั่ว การเลือกตั้งเพียงพรรคเดียวไม่ใช่ประชาธิปไตย ให้ศาลปกครองไปพิจารณาเลือกตั้ง 2 เมษา โมฆะหรือไม่ทรงย้ำกษัตริย์ไม่เคยทำตามใจชอบ[5]

ต่อมาได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับคณะตุลาการทั้ง 3 ฝ่ายประชุมปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการเมือง เมื่อวันที่ 28 เมษายน[6] ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนความเห็นข้อกฎหมายในหลายประเด็นแล้ว ทั้ง 3 ศาล มีความเห็นพ้องกันใน 3 ประเด็นว่า 1. แต่ละศาลจะเร่งรัดพิจารณาพิพากษาคดีและดำเนินการในส่วนที่อยู่อำนาจหน้าที่ของแต่ละศาล ให้รวดเร็วทันต่อของความเร่งด่วนในแต่ปัญหาที่เกิดขึ้น, 2. การพิจารณา คดีความแต่ละศาล จะต้องใช้และตีความตัวบทกฎหมายเดียวกันนั้นต้องระมัดระวัง ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งนี้เพื่อป้องกันความขัดแย้งและสับสนของ ประชาชน และ 3. ในการดำเนินการของแต่ละศาลนั้นยังต้องยึดถือหลักความเป็นอิสระของศาล ตามเขตอำนาจแต่ละศาลให้ดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ด้วยความสุจริตและยุติธรรม โดยทั้ง 3 ประเด็นนี้เป็นข้อยุติที่ประธานทั้งสามศาลเห็นพ้องต้องกันอย่างไม่มีข้อแม้ ต่อมาคำวินิจฉัยทั้ง 3 ศาลมีคำสั่งให้ระงับการเลือก ตั้ง สส.ใน จังหวัดชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต สงขลา และสุราษฎร์ธานี รวม 9 จังหวัด 14 เขต ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 เมษายน 2549 นี้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น[7]

ราชการพิเศษ แก้

  • พ.ศ. 2548
    • ประธานกรรมการพัฒนาระบบการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลสูง
    • ประธานอนุกรรมการกำหนดจำนวนผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม
    • ประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
    • ประธานกรรมการบริหารศาลยุติธรรม
    • ประธานกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
    • กรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2547
    • อนุกรรมการบริหารศาลยุติธรรมเพื่อศึกษาวางแนวทางการใช้ดุลพินิจและเหตุผลในการลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญา
  • พ.ศ. 2546
    • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับหลักสูตรและแผนการพัฒนาข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม

เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แก้

ภายหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ทางคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเคยทาบทามให้ชาญชัย ลิขิตจิตถะเป็นนายกรัฐมนตรี[8] แต่ในที่สุดทางคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ตัดสินใจเลือกเลือกพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ชาญชัยจึงถูกเลือกให้มาเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์[9]

ในการโฟนอินของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2552 ได้กล่าวหาชาญชัยว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังวางแผนการรัฐประหาร 19 กันยายนที่บ้านของปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา[10] ต่อมา ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2552 ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวระหว่างการปราศรัยกับกลุ่มคนเสื้อแดง ผ่านระบบวิดีโอลิงก์ว่า พลเอก พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรองผู้อำนวยการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้เล่าให้ตนฟังว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี, ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา (ในขณะนั้น), อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด, จรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม, ปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ ผู้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ อ้างว่า ทักษิณ วางแผนที่จะใช้ ปฏิญญาฟินแลนด์ และปีย์ ร่วมปรึกษาหารือกัน ที่บ้านพักของปีย์ ถนนสุขุมวิท ในอันที่จะวางแผนจัดตั้งขบวนการขับไล่ตน โดยเฉพาะการลอบสังหารตน และวางแผนสำรอง หากดำเนินการไม่สำเร็จ ซึ่งก็คือการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่ทั้งพลเอก สุรยุทธ์ และปีย์ ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว[11]

การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แก้

ชาญชัย ลิขิตจิตถะ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2549[12] และได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พร้อมทั้ง เพ็ญศรี ลิขิตจิตถะ ภรรยาของ ชาญชัย ลิขิตจิตถะในวันที่ 9 ตุลาคม มีทรัพย์สินมากกว่า (น้อยกว่า) หนี้สิน 4,385,488.76 บาท ส่วนของเพ็ญศรีมีทรัพย์สิน 3,977,758.27 บาท[13]

ชาญชัยเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ได้มอบนโยบายว่า งานอันดับแรกที่จะเข้ามาสานต่อนโยบายเดิม คือ การเดินหน้าปราบปรามยาเสพติด ที่ผ่านมาเคยเป็นนโยบายที่เข้มงวดการกวาดล้างอย่างหนัก แต่ในระยะหลังเบาบางลงไป เพื่อปราบปรามยาเสพติดให้หมดไป รวมถึงการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับตัวเป็นคนดีในสังคม ตามด้วยมาตรการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนในทุกภูมิภาค สำหรับปัญหาการอำนวยความยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลทุกชุดพยายามแก้ไข เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข บทบาทของกระทรวงยุติธรรมต้องทำให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาค ในกรณีที่ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ จะเข้าไปจัดการให้เกิดความยุติธรรม ผู้ต้องหาคนใดไม่มีทนายจะจัดหาทนายความให้ ในส่วนของประชาชนที่ให้ข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ จะได้รับการคุ้มครองดูแลให้ปลอดภัย และชาญชัยยังได้เน้นย้ำในการดำเนินงานกองทุนยุติธรรม เพื่อความยุติธรรมโดยเสมอภาค[14]

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2550 ชาญชัยได้สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ จัดชุดปฏิบัติการ เข้าร่วมสอบสวนคลี่คลายคดีลอบวางระเบิดตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี โดยให้เข้าไปทำงานสนับสนุนตำรวจและหาข้อเท็จจริง ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์วางระเบิดกรุงเทพมหานครและนนทบุรีในวันส่งท้ายปีเก่า (31 ธันวาคม 2549)[15]

ชาญชัยลงนามในคำสั่งย้าย พลตำรวจเอก สมบัติ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในขณะนั้น ไปช่วยราชการที่กระทรวงยุติธรรม และแต่งตั้งให้สุนัย มโนมัยอุดม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ในขณะนั้นมาดำรงตำแหน่งแทน ชาญชัยให้เหตุผลว่าเขาไม่ต้องการให้ดีเอสไอเป็นกรมตำรวจย่อยๆ อีกกรมหนึ่ง เขาต้องการให้ดีเอสไอเป็นหน่วยสอบสวนพิเศษเหมือนเอฟบีไอของสหรัฐ โดยต้องการให้เป็นหน่วยงานที่คานกับตำรวจ ไม่ใช่เป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งคนที่ยืมตัวมาจาก สตช.ก็อยากคืนกลับไป[16] วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2550 ได้ลงนามคำสั่งโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งข้าราชการกระทรวงยุติธรรม ระดับ 9 จำนวน 2 ตำแหน่ง โดยให้ปรับเปลี่ยน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปเป็นรองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และให้ ภิญโญ ทองชัย รองเลขาฯ ป.ป.ส.มาเป็นรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแทน โดยมีผลในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2550[17] สำหรับสาเหตุที่ต้องย้าย พลตำรวจเอก สมบัติ ก็เพื่อให้การสอบสวนคดีอุ้มสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม มีความคืบหน้า และเพื่อไม่ให้ดีเอสไอตกเป็นจำเลยของสังคมต่อไป

ชาญชัยออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการสอบสวนคดีการหายตัวของ สมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่าจนถึงขณะนี้ยังหาพยานหลักฐานไม่ได้ว่า หลังจากสมชายถูกคนร้ายนำตัวขึ้นรถและขับออกจากย่านรามคำแหงแล้ว สมชายอยู่กับคนร้ายตลอดเวลาหรือไม่ แต่หลักฐานจากพยานแวดล้อมระบุว่า สมชายน่าจะเสียชีวิตแล้ว โดยจุดต้องสงสัยแห่งสุดท้าย ที่พบตัวสมชายคือพื้นที่จ.ราชบุรี ซึ่งดีเอสไอเตรียมที่จะนำกำลังลงพื้นที่ เพื่อค้นหาชิ้นส่วนศพของสมชาย ซึ่งอาจจะยังหลงเหลืออยู่[18][19]

วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2550 ชาญชัย ลิขิตจิตถะ เสนอรายงานการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นให้คณะรัฐมนตรีทราบ โดยมีรายงานผลการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น จาก 15 กระทรวง ซึ่งยังมีส่วนราชการที่ยังไม่รายงานผลการดำเนินงานคือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ ชาญชัย ยังแจ้งให้รัฐมนตรีที่ดูแลหน่วยงานในสังกัดว่า ให้ทุกส่วนราชการ ส่งแบบรายงานผลการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นให้กระทรวงยุติธรรมรับทราบ ตามเวลาดังนี้ ครั้งที่ 1 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน ให้รายงานผลก่อนวันที่ 15 กรกฎาคม ของทุกปี ครั้งที่ 2 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม - 31 ธันวาคม ให้รายงานผลก่อนวันที่ 15 มกราคม ของทุกปีด้วย ชาญชัยยังแจ้งถึงปัญหาในระดับโครงสร้าง ที่ทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่น ยังมีอยู่ คือ 1.เด็กและเยาวชนไม่ตระหนักถึงความสำคัญเนื่องจากกระแสโลกาภิวัฒน์ไหลบ่าเข้าสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง เกิดค่านิยมเชิงลบที่แปลกแยกจากวิถีเดิม 2.ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งร้องเรียน และไม่กล้าร้องเรียน เพราะกลัวอันตราย จะต้องเร่งสร้างการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งของภาคประชาชนทุกระดับ[20]

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) รวบรวมคำกล่าวมอบนโยบายในการปราบปรามยาเสพติดของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อนำมาประกอบสำนวนการสอบสวนในคดีฆ่าตัดตอน โดยหากพบว่าการมอบนโยบายของ ทักษิณ ส่งผลให้มีการจัดชุดเฉพาะกิจออกปฏิบัติการฆ่าตัดตอนเพื่อลดเป้าบัญชีดำ ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะตั้งข้อหาดำเนินคดีต่อ ทักษิณ ฐานเป็นผู้สนับสนุน โฆษณา หรือจูงใจ ปลุกเร้าให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ความรุนแรงนอกกฎหมาย ฆ่าตัดตอนผู้ค้ายาเสพติด[21]

วันที่ 23 มีนาคม 2550 ชาญชัยสั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เตรียมนำคดีบริษัทกุหลาบแก้ว จำกัด เป็นนอมินีเสนอให้คณะกรรมการฯพิจารณาเพื่อลงมติว่าจะรับโอนเป็นคดีพิเศษ[22] และนำเสนอแนวคิดเพื่อสังคมถูกนำเสนอออกมารายวัน เช่น เสนอกฎหมายเฉพาะสำหรับการบริหารจัดการเรื่องการดื่มสุราการเก็บภาษีเหล้า เบียร์ และเสนอแนวทางแก้ไข พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเก็บภาษีนักปั่นหุ้นใน 3 ประเด็นคือ

  1. กฎหมายการซื้อขายหุ้นต้องระบุให้ชัดเจนว่าการกระทำลักษณะใดเข้าข่ายปั่น หุ้นหรือเก็งกำไร ถ้าพบต้องใช้มาตรการเสียภาษีย้อนหลังกับนักปั่นหุ้นทันที
  1. กำหนดระยะเวลาการซื้อการคอบครองหุ้น ไม่ใช่ซื้อขายวันต่อวัน เพราะถือว่าเข้าข่ายนักเก็งกำไร
  1. ต้องให้อภิสิทธิ์คุ้มครองนักลงทุนจริงๆ โดยไม่ต้องเสียภาษี

แต่ต้องกำหนดกำไรในการซื้อขายในวงจำนวนมาก ประมาณ 100 ล้านบาทขึ้น เพื่อต้องการให้นำกำไรที่ได้มาให้สังคม เช่น การซื้อหุ้นนอกตลอดแต่นำมาขายในตลาดมีกำไรเป็น 10,000 ล้านบาท ดังนั้น ควรเก็บภาษีเป็นขั้นบันไดตามเปอร์เซ็นต์กำไร และเสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เพื่อบังคับใช้กับผู้ขับขี่ยานพาหนะโดยให้เหตุผลว่าที่ผ่านมา การมึนเมาสุราขณะขับขี่รถยนต์เกิดปัญหาผู้ที่เมาแล้วขับไม่ยินยอมให้เจ้า หน้าที่ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ซึ่งกฎหมายไม่มีมาตรการบังคับ ทำให้ลงโทษผู้ที่เมาแล้วขับฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานคือ ปรับ 1,000 บาท ดังนั้น ต้องแก้กฎหมายให้มาตรการบังคับ ตรวจวัดแอลกอฮอล์เป็นผู้เมาแล้วขับ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเกิดอุบัติเหตุต้องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย

วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ออกประกาศกระทรวงยุติธรรมเรื่อง กำหนดอำนาจการคุมขังผู้ต้องขังของเรือนจำฉบับที่ 2 เรือนจำส่วนภูมิภาคตามข้อ 1 (ข) แห่งกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความใน พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 (ฉบับที่ 3) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2547) ออกตามความในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 มีอำนาจการคุมขังผู้ต้องขังที่ต้องรับโทษต่อไป ดังนี้ 1. เรือนจำอำเภอชัยบาดาล จำคุกไม่เกิน 15 ปี 2. เรือนจำอำเภอเกาะสมุย จำคุกไม่เกิน 10 ปี[23]

วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ชาญชัย ลิขิตจิตถะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ถูกเลือกให้เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)[24]

วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2551 ได้ลงนามความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการนำร่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามากาเด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้เกิดประสิทธิภาพ ครบถ้วนทั้งด้านฐานข้อมูล ระบบเครือข่าย และระบบการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร โดยการสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอสาระสำคัญของแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสาธิตระบบนำร่องศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม ต้นแบบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม พิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับความต้องการ สำหรับหน่วยงานที่ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการนำร่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม มีหน่วยงานร่วมลงนาม 9 หน่วยงานประกอบด้วย กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ กรมการปกครอง ศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานกิจการยุติธรรม และสำนักงาน ป.ป.ส.[25]

ภายหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว ชาญชัยยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เพื่อขอกลับรับราชการเป็นผู้พิพากษาอาวุโส[26]

องคมนตรี แก้

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่าตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งองคมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 16 สิงหาคม พุทธศักราช 2550 แล้วนั้น บัดนี้ ทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งองคมนตรีเพิ่มขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 ประกอบกับ มาตรา 13 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งดังต่อไปนี้ 1.พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ 2.ศุภชัย ภู่งาม 3.ชาญชัย ลิขิตจัตถะ ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2551 เป็นปีที่ 63 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี[27]

ในเวลาต่อมากลุ่มคนเสื้อแดงออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 โดยเรียกร้องให้ประธานองคมนตรี องคมนตรี และนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ซึ่งชาญชัยเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกเรียกร้องด้วย[28]

ความพยายามลอบสังหาร แก้

วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2552 ชุดสืบสวนภูธรภาค 1 ได้ควบคุมตัวชายต้องสงสัย อายุประมาณ 35 ปี ขณะเดินอยู่ใกล้กับบ้านชาญชัย ไว้ได้ทันก่อนลงมือโดยผู้ต้องสงสัยสารภาพว่า ได้รับการติดต่อจ้างวานให้ลงมือสังหารชาญชัยภายในวันที่ 7 เมษายน เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างขยายผลตรวจ สอบข้อเท็จจริงตามคำให้การของผู้ต้องสงสัยที่ซัดทอดทหาร กลุ่มเตรียมทหารรุ่น 10 รุ่นเดียวกับทักษิณ ชินวัตร อยู่เบื้องหลังบงการลอบสังหารองคมนตรีเพื่อทำให้สถานการณ์บ้านเมืองวุ่นวาย[29] ต่อมาชาญชัยออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า รู้สึกแปลกใจทีมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ไม่เคยมีปัญหากับใคร และไม่ทราบสาเหตุว่า จะมาทำร้ายกันทำไม[30] จากนั้นตำรวจจึงส่งชุดป้องกันรักษาความปลอดภัยมาคุ้มกันทันที

วันที่ 7 เมษายน สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง พร้อมด้วย พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโท ฉลอง สนใจ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 และพลตำรวจเอก จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เดินทางมาที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 แถลงการณ์การจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นจำนวน 3 คนประกอบด้วย คนิช สุกาญจกาศ อายุ 30 ปี ศักดิ์ชาย แซ่ลิ้ม อายุ 28 ปี ภาณุพาศ รัตนาไพบูลย์ อายุ 31 ปีพร้อมอาวุธปืนขนาด . 38 จำนวน 1 กระบอก กระสุน 10 นัด จักรยานยนต์ 1 คัน[31][32] ตำรวจได้รวบรวมหลักฐานไปขออนุมัติหมายจับผู้ร่วมขบวนการอีก 2 คน คือ นาวาเอก จักรกฤษณ์ เสขะนันท์ (ภายหลังพ้นข้อกล่าวหา) สังกัดกองกิจการภายใน กองทัพเรือ และนายแจ็ค ไม่ทราบชื่อสกุล โดยสั่งการให้พนักงานสอบสวนนำหลักฐานไปขออนุมัติหมายจับที่ศาลอาญา ถ.รัชดาฯ[33]

ผลงานทางวิชาการ แก้

หนังสือ “คู่มือการจัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาในคดีอาญาและสิทธิในการรับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ทนายความให้แก่ผู้ต้องหา” , 2548[34]

ถึงแก่อนิจกรรม แก้

ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2560 เมื่อเวลา 08.30 น. ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. แบบประวัติมหาวิทยาลัย[ลิงก์เสีย]
  2. พระราชโองการ ประกาศแต่งตั้งองคมนตรี
  3. "ตั้งศูนย์บริหารงานยุติธรรมแก้ปัญหาชายแดนใต้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2009-04-09.
  4. "ชีวประวัติบุคคลสำคัญ : 3 องคมนตรีใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-03. สืบค้นเมื่อ 2009-04-08.
  5. ในหลวงทรงแนะศาลพิจารณาเลือกตั้งโมฆะหรือไม่ รับสั่ง "อย่ามั่ว" ลงพรรคเดียวไม่ใช่ปชต.ไม่มีนายกฯพระราชทาน [ลิงก์เสีย]
  6. "ทรท.ชี้โมฆะเลือกตั้ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2009-04-09.
  7. "สั่งระงับเลือกตั้งรอบ3ศาลปกครองนำร่องคลี่วิกฤติชาติยกปมหย่อนบัตร 2 เม. ย.ไม่สุจริตผันตามซ้ำชี้ขาดปมลงคะแนน1พค.ถก3ศาลใหญ่ปลดล็อกปัญหาอึมครึม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-25. สืบค้นเมื่อ 2009-04-09.
  8. เลขาฯศาลฎีกาเผย ชาญชัย ลิขิตจิตถะ " น้อมรับหากถูกทาบเป็นนายกฯ
  9. คปค.ลงมติ"สุรยุทธ์"นายกฯ รื้อร่างรัฐธรรมนูญร่างทรง - อาจารย์นิติศาสตร์เข้าพบ
  10. คำต่อคำ ‘ทักษิณ’ โฟนอินเชียงใหม่ 22 มี.ค. 52 แฉเบื้องหลังถูกโค่น
  11. "ป้อง"แอ้ด"-ซัด"พัลลภ" "ปีย์"โผล่โต วันเปิดบ้านกินข้าว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-01. สืบค้นเมื่อ 2009-04-10.
  12. "ราชกิจจานุเบกษา" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-02-23. สืบค้นเมื่อ 2009-04-08.
  13. บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ ชาญชัย ลิขิตจิตถะ[ลิงก์เสีย]
  14. กองทุนยุติธรรม เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นคนของผู้ยากไร้[ลิงก์เสีย]
  15. ทหารชั้นประทวนจากลพบุรี รับสารภาพเป็นมือบึ๊ม กทม.[ลิงก์เสีย]
  16. "ล้าง"รัฐตำรวจ"ใน"ดีเอสไอ" เป้าใหญ่"ชาญชัย ลิขิตจิตถะ"[ลิงก์เสีย]
  17. "ย้าย "ทวี สอดส่อง" พ้นดีเอสไอ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-02. สืบค้นเมื่อ 2009-04-08.
  18. ดีเอสไอรุกคดีสมชาย ออกหมายจับเพิ่มเติม ชาญชัยรับเกิดนาน 3ปี หลักฐานรวมได้ยาก!/
  19. "ย้อนรอย...ต้องสอบ "ทักษิณ" ใครสั่งฆ่าทนายสมชาย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-11-20. สืบค้นเมื่อ 2009-04-08.
  20. ทุกหน่วยแจ้งการทุจริตปีละ 2 ครั้ง[ลิงก์เสีย]
  21. ""ดีเอสไอ" หาหลักฐานมัด "ทักษิณ" บงการฆ่าตัดตอน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-28. สืบค้นเมื่อ 2009-04-08.
  22. "ดีเอสไอพร้อมรับ"กุหลาบแก้ว-ฆ่าตัดตอน"เป็นคดีพิเศษ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-23. สืบค้นเมื่อ 2009-04-08.
  23. ประกาศกระทรวงยุติธรรม เรื่อง กำหนดอำนาจการคุมขังผู้ต้องขังของเรือนจำ ฉบับที่ ๒[ลิงก์เสีย]
  24. กมธ.ปฏิเสธข่าวเปิดทางให้ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ไม่ทันสภาฯ นี้[ลิงก์เสีย]
  25. "กรมพินิจฯ จับมือ 9 หน่วยงานสร้างเครือข่ายกระบวนการยุติธรรม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 2009-04-09.
  26. ‘ชาญชัย ลิขิตจิตถะ’เตรียมขอกลับเป็นผู้พิพากษาอาวุโส
  27. สุรยุทธ-ชาญชัย-ศุภชัย ได้รับโปรดเกล้าเป็นองคมนตรี[ลิงก์เสีย]
  28. แถลงการณ์เสื้อแดงจี้"เปรม-สุรยุทธ์-ชาญชัย-มาร์ค"ลาออกทันที
  29. ตำรวจภูธรภาค 1 จับมือปืนเสื้แดงลอบสังหารองคมนตรี"ชาญชัย ลิขิตจิตถะ"
  30. ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประหลาดใจถูกจ้างฆ่า[ลิงก์เสีย]
  31. "จงรัก"เผย3จับมือปืนรับจ้างลอบสังหารองคมนตรี
  32. แถลงจับผู้ต้องหาลอบฆ่าองคมนตรีชาญชัย[ลิงก์เสีย]
  33. ออกหมายจับเพิ่มอีก2จ้างวานฆ่าองคมนตรี
  34. ข้อมูลนักวิชาการ | ชาญชัย ลิขิตจิตถะ[ลิงก์เสีย]
  35. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๔, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐
  36. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๕๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๙, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕
  37. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๒ ข หน้า ๔๐๘, ๑๘ มกราคม ๒๕๔๑


ก่อนหน้า ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ถัดไป
พลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์    
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
(8 ตุลาคม พ.ศ. 2549 – 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551)
  สมพงษ์ อมรวิวัฒน์
ศุภชัย ภู่งาม   ประธานศาลฎีกา คนที่ 36
(1 ตุลาคม พ.ศ. 2548 – 30 กันยายน พ.ศ. 2549)
  ปัญญา ถนอมรอด