ชั่วนิรันดร์ (วรรณกรรม)

ชั่วนิรันดร์ (อังกฤษ: Tuck Everlasting) เป็นวรรณกรรมอันสร้างสรรค์โดยนาตาลี แบ็บบิต (อังกฤษ: Natalie Babbitt) นักเขียนวรรณกรรมแนวจินตนิมิตสัญชาติอเมริกัน

ชั่วนิรันดร์  
ปก "ชั่วนิรันดร์" ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2
ผู้ประพันธ์นาตาลี แบ็บบิต
ชื่อเรื่องต้นฉบับTuck Everlasting
ผู้แปลสุริยฉัตร ชัยมงคล
ผู้วาดภาพประกอบเฉลิมชาติ เจริญดียิ่ง
ศิลปินปกอภิชัย วิจิตรปิยกุล
ประเทศ สหรัฐ (ต้นฉบับ)
ภาษาภาษาอังกฤษ (ต้นฉบับ)
สำนักพิมพ์สำนักพิมพ์ผีเสื้อ
วันที่พิมพ์ไทย
สิงหาคม พ.ศ. 2544
(พิมพ์ครั้งที่ 2)
ชนิดสื่อวรรณกรรมเยาวชน
วรรณกรรมแนวจินตนิมิต
หน้า192 หน้า
ISBN974-14-0197-3

หนังสือนี้แปลเป็นภาษาไทยโดยสุริยฉัตร ชัยมงคล จัดพิมพ์ในประเทศไทยโดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 และพิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2544 โดยในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 มีสุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร เป็นบรรณาธิการต้นฉบับ อภิชัย วิจิตรปิยกุล วาดภาพปก และเฉลิมชาติ เจริญดียิ่ง วาดภาพประกอบในเล่ม

เรื่องย่อ แก้

สาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้ เกี่ยวกับครอบครัวสกุลทัค (อังกฤษ: Tuck) ซึ่งประกอบด้วยแองกัส ทัค (อังกฤษ: Angus), เม ทัค (อังกฤษ: Mae) ภรรยาของแองกัส, เจสซี ทัค (อังกฤษ: Jesse) และไมส์ (อังกฤษ: Miles) บุตรสองคนของแองกัสกับเม และมิตรภาพของพวกเขากับเด็กหญิงนามว่า "วินนีเฟรด ฟอสเตอร์" (อังกฤษ: Winnifred Foster) หรือ "วินนีย์" (อังกฤษ: Winney) ผู้ถูกครอบครัวคอยจ้ำจี้จ้ำใจในทุกเรื่องจนทำให้เธอเกิดความคิดจะหนีออกจากบ้านไปหาความอิสระ วันหนึ่งวินนีย์จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านจริง ๆ โดยเดินฝ่าเข้าไปในป่าทรีแก็ป (อังกฤษ: Treegap) อันเป็นสมบัติของครอบครัวเธอเอง

วินนีย์เดินดุ่ม ๆ ไปพบกับครอบครัวทัค และได้ใช้ช่วงเวลาอันน่าจดจำที่สุดที่ในชีวิตของเธอกับพวกเขา เธอได้ทราบว่าเรื่องน่าพิศวงที่สุดในโลกว่า ครอบครัวทัคเป็นอมตะเนื่องจากได้เผอิญดื่มน้ำพุตาหนึ่งในป่าทรีแก๊ปเข้าไป และเธอก็ได้หลงรักเจสซีผู้มีรูปลักษณ์หยุดอยู่ ณ วัยสิบเจ็ดปีมากว่าเจ็ดสิบปีแล้ว ขณะที่ครอบครัวของวินนีย์ออกตามหาเธอนั่นเอง ชายสวมชุดเหลืองได้ปรากฏตัวเข้ามาเจรจาขอแลกป่าทรีแก๊ปที่พวกเขาครอบครองอยู่กับการนำตัววินนีย์กลับคืนมาให้ ความจริงแล้วชายสวมชุดเหลืองผู้นี้ตามหาน้ำพุตานั้นอยู่นาน และได้สะกดรอยไปฟังเรื่องราวของครอบครัวทัคจนจบสิ้น

เมื่อครอบครัวฟอสเตอร์ตกลง ชายสวมชุดเหลืองจึงไปยังครอบครัวทัคเพื่อนำตัววินนีย์จากไป แต่หาใช่ความประสงค์ของวินนีย์ไม่ ขณะชุลมุนกันอยู่นั้น เม ทัค ได้กวัดแกว่งปืนเก่าแก่ซึ่งไม่อยู่ในสภาพใช้การได้แล้วเพื่อป้องกันมิให้ชายผู้นั้นนำตัวเด็กหญิงไป ท้ายปืนฟาดโดนศีรษะชายสวมชุดเหลืองล้มลงขาดใจตายทันที ประจวบกับที่นายตำรวจแห่งทรีแก๊ปซึ่งได้รับแจ้งจากชายสวมชุดเหลืองให้ติดตามมาด้วยก่อนหน้านี้ ปรากฏตัวขึ้นพอดีและเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด จึงเข้าจับกุมตัวเม ทัค เรื่องที่น่ากลัวมิใช่การที่เม ทัค จะถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ แต่คือการที่เม ทัค ไม่อาจตายได้เพราะนางเป็นอมตะ ครอบครัวทัคไม่ต้องการให้ผู้คนทราบเรื่องน้ำพุประหลาดดังกล่าว หาไม่แล้วคนก็จะแห่กันมาแย่งดื่มกิน วัฏจักรแห่งความเปลี่ยนแปลงก็จะพังครืนลงไป สิ่งมีชีวิตทั้งหลายไม่อาจดำเนินไปได้โดยปรกติอีกต่อไป ครอบครัวทัคพร้อมด้วยวินนีย์จึงช่วยเหลือเมออกมาจากคุกก่อนจะหลบหนีไปไกลแสนไกล

ก่อนจากไป เจสซีขอร้องให้วินนีย์ดื่มน้ำพุเมื่อเธออายุได้สิบเจ็ดปี แล้วพวกเขาทั้งสองจะได้หนีไปอยู่ร่วมกันชั่วนิรันดร์ อย่างไรก็ดี วินนีย์มิได้ปฏิบัติตาม หลังจากที่เธอได้คิดทบทวนโอวาทของแองกัส ทัค ที่ว่า ทุกชีวิตต้องมีความเปลี่ยนแปลง แต่พวกทัคเป็นสิ่งที่ออกนอกวัฏจักรไปแล้ว เป็นเหมือนก้อนหินก้อนหนึ่ง คงอยู่อย่างนั้นไปชั่วนิรันดร์ แองกัสกล่าวว่า "อย่ากลัวความตาย แต่จงกลัวชีวิตที่มิได้ใช้ให้เป็นประโยชน์"

ในบทส่งท้ายของหนังสือนั้นเป็นภาพของแองกัส ทัค และเม ทัค นั่งเกวียนกลับมายังป่าทรีแก๊ปในห้าสิบเจ็ดปีถัดมาซึ่งมีวิทยาการสมัยใหม่และมีความเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมากมาย พวกเขาพบว่าหลายปีก่อนเกิดเพลิงไหม้ป่าและตาน้ำพุก็สูญเสียไปจากเหตุการณ์ครานั้นแล้ว และพวกเขายังได้ไปยังสุสานในเมือง พบกับป้ายชื่อ "วินนีเฟรด ฟอสเตอร์" อันหมายความว่า วินนีย์เลือกจะเป็นเช่นปุถุชนธรรมดา มิใช่อมตชน


รางวัลที่ได้รับ แก้

หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลและประกาศยกย่องจากสถาบันและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมเยาวชนมากกว่า 10 สถาบัน หนึ่งในจำนวนนั้น คือ การได้รับเลือกเป็นหนังสือทรงค่าของสมาคมห้องสมุดอเมริกัน (อังกฤษ: American Library Association) และในนิตยสารฮอร์นบุค (อังกฤษ: Horn Book Magazine) หนังสือเล่มนี้ได้รับการลงคะแนนเสียงจากผู้อ่านทั่วสหรัฐอเมริกาให้เป็นหนังสือควรค่าแก่การอ่าน นอกจากนี้ หนังสือดังกล่าวยังได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติจานุสกอร์สซัก (อังกฤษ: Janusz Korczak Medal) และรางวัลคริสตอเฟอร์เพื่อหนังสือดีเด่นสำหรับเยาวชนประจำ พ.ศ. 2519 (อังกฤษ: 1976 Christopher Award for Best Book for Young People) กับทั้งนักวิชาการแอนิทา ซิลวีย์ (อังกฤษ: Anita Silvey) ยังคัดเลือกหนังสือนี้ให้เป็นหนึ่งในหนังสือดีเด่นร้อยเล่มเพื่อเยาวชน ด้วย

ภาคดัดแปลง แก้

วรรณกรรม "ชั่วนิรันดร์" ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์สองครั้ง ครั้งแรกใน พ.ศ. 2524 โดยบริษัทวันแพสมีเดีย (อังกฤษ: One Pass Media) และครั้งที่สองใน พ.ศ. 2545 โดยวอลต์ดิสนีย์ ชื่อไทยว่า "มหัศจรรย์รักกลางป่าใหญ่"

อ้างอิง แก้

ดูเพิ่ม แก้