ชวลิต วิชยสุทธิ์

ชวลิต วิชยสุทธิ์ เป็นนักการเมืองชาวไทย อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม 5 สมัย ได้รับเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 สังกัดพรรคความหวังใหม่

ชวลิต วิชยสุทธิ์
ชวลิต ใน พ.ศ. 2562
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด17 มีนาคม พ.ศ. 2495 (72 ปี)
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองความหวังใหม่
ไทยรักไทย
พลังประชาชน
เพื่อไทย
ไทยสร้างไทย
คู่สมรสวชิราพร วิชยสุทธิ์

ประวัติ แก้

ชวลิต วิชยสุทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2495 สมรสกับนางวชิราพร วิชยสุทธิ์ มีบุตร 2 คน

ชวลิต วิชยสุทธิ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และระดับปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผ่านการศึกษาอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรโรงเรียนนายอำเภอ และหลักสูตรนักปกครองระดับสูง จากวิทยาลัยการปกครอง นอกจากนั้นได้รับปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

การทำงาน แก้

ชวลิต วิชยสุทธิ์ เคยรับราชการในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอท่าอุเทน อำเภอเมืองนครพนม อำเภอเมืองยโสธร[1] ต่อมาหันมาลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 พื้นที่จังหวัดนครพนม สังกัดพรรคความหวังใหม่ เคยเป็นคณะทำงานของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 จึงย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย

กระทั่งในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 นายชวลิต ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบสัดส่วน สังกัดพรรคพลังประชาชน และในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 เขาลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 67 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[2] แทนนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ซึ่งลาออกหลังจากได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายหลายปีติดต่อกัน และเคยเป็นประธานอนุกรรมาธิการพิจารณางบจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 2 ปีติดต่อกันด้วย (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2557)

ในปี 2562 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม เขตเลือกตั้งที่ 4 และได้รับเลือกตั้งอีกสมัย ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญถึง 2 คณะในสภาผู้แทนราษฎร คือ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....[3]

งานสังคม แก้

นายชวลิต เคยเป็นกรรมการอำนวยการในโครงการเสนอองค์พระธาตุพนมเป็นมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโก เคยเป็นกรรมการในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยนครพนม เป็นสมาชิกในกลุ่มริเริ่มโครงการแลนด์มาร์ค "พญาศรีสัตตนาคราช" ณ บริเวณเขื่อนริมแม่น้ำโขง ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม

นายชวลิต เป็นผู้ริเริ่มโครงการหมู่บ้านมิตรภาพไทย-เวียดนาม และพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ ณ บ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม จนนำไปสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-เวียดนาม ที่จังหวัดนครพนม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นผลงานสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ และนำไปสู่การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ ที่ชาวเวียดนามและนักท่องเที่ยวทั่วไปมาเยี่ยมชมสถานที่ที่ครั้งหนึ่งประธานโฮจิมินห์ได้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารประเทศไทย เพื่อกอบกู้ชาติจากนักล่าอาณานิคมในยุคนั้น

นายชวลิต เป็นผู้ริเริ่มโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ปลาน้ำจืดลุ่มน้ำโขง(Aquarium) เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ปลาน้ำจืดในแม่น้ำโขง จัดแสดงอยู่ ณ ริมอ่างเก็บน้ำหนองญาติ บริเวณใกล้เคียงกับหอเฉลิมพระเกียรติพระราชวงศ์จักรี ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดนครพนม

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ‘ชวลิต’ อดีต ส.ส.ดาวสภา ยัน จาก ‘ปาร์ตี้ลิสต์’ ลง ‘เขต’ ไม่ใช่เรื่องแปลก มั่นใจ พื้นที่ เขต 4 เพื่อไทยยังแน่น
  2. ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง ราชกิจจานุเบกษา
  3. ‘ชวลิต’ ลั่นไม่ขายตัวย้ายซบฝั่งตรงข้าม ยันอยู่ 'เพื่อไทย' จนสภาฯ ครบวาระ
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2012-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๒, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
  5. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2009-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๙, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๑๙๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑๓, ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๑

แหล่งข้อมูลอื่น แก้