ฉากกางเขน (อังกฤษ: Rood screen หรือ Choir screen หรือ Chancel screen) คือฉากที่แยกระหว่างบริเวณสำหรับผู้เข้าร่วมในคริสต์ศาสนพิธีหรือทางเดินกลางและบริเวณสำหรับสงฆ์หรือบริเวณที่พระใช้ทำพิธีที่แกะตกแต่งอย่างสวยงามที่นิยมสร้างกันในสมัยกลาง วัสดุที่สร้างอาจจะเป็นไม้หรือหินแกะสลักหรือฉลุทาสีหรือเหล็กดัด ฉากกางเขน ปรากฏทั่วไปในโบสถ์คริสต์ในยุโรป ภาษาเยอรมันใช้คำว่า “Lettner”, ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า “jubé”, ภาษาดัทช์ใช้คำว่า “doksaal” ฉากกางเขนทางตะวันออกจะตกแต่งหรูหรากว่าทางตะวันตก

กางเขนบนฉากกางเขนจากคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่วัดซังเอเทืยงดูมองท์ ที่ปารีส

ที่มาของคำว่าฉากกางเขน แก้

คำว่า “ฉากกางเขน” มาจากภาษาแองโกล-แซ็กซอนว่า “rode” ซึ่งแปลว่า “กางเขน” ที่เรียกว่าฉากกางเขนเพราะแต่เดิมบนฉากจะเป็นที่ตั้งพระเยซูบนกางเขน สองข้างมักจะเป็นนักบุญ เช่น พระนางมารีย์พรหมจารีและยอห์นอัครทูต บนฉากบางครั้งก็จะมีทางเดินแคบ ๆ หรือบางครั้งก็กว้างพอที่จะเป็นที่ยืนร้องเพลงสวดได้ ทางขึ้นมักจะแอบอยู่ด้านข้าง

การสร้างฉากมักจะเป็นลายฉลุที่สามารถมองทะลุจากทางเดินกลางเข้าไปภายในบริเวณบาทหลวง หรือ “chancel” ได้ คำว่า “chancel” มาจากภาษาละติน “cancelli” ซึ่งแปลว่า “ฉลุ”

ตัวอย่างงานฉากกางเขนในอังกฤษ แก้

งานฉากกางเขนในอังกฤษพบในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ที่สแตนตันฮาร์คอร์ท ที่อ็อกฟอร์ดเชอร์ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ทำในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เช่นที่ทรัลในแคว้นซอมเมอร์เซ็ท และอาลท์เทิลเบรอที่นอร์โฟล์ค งานฉากกางเขนไม้ที่พบในบริเวณอีสต์อังเกลียทางตะวันออกของอังกฤษยังรักษาการตกแต่งตั้งแต่เมื่อแรกสร้างซึ่งทาสีและปิดทองอย่างงานฝีมือ เช่นที่พบของตระกูลการทำของช่างแรนเวิร์ธที่ เซาธ์โวลด์และไบลท์เบิร์ก และที่แรนเวิร์ธเอง งานที่บาร์ตันเทิร์ฟ เป็นงานที่แสดงให้เห็นฐานันดรของระบบสวรรค์โดยแสดงลำดับทูตสวรรค์เก้าชั้น นิโคลัส เพฟเนอร์นักวิจารณ์สถาปัตยกรรมศาสนาคริสต์คนสำคัญของอังกฤษ กล่าวถึงฉากสำคัญจากคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่ บริดฟอร์ดที่แคว้นเดวอน

ความสำคัญของสัญลักษณ์ที่ใช้ แก้

ฉากกางเขนเป็นสิ่งขวางทั้งทางวัตถุและทางสัญลักษณ์ที่แยกระหว่างบริเวณที่ถือว่าเป็นบริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระกับบริเวณของฆราวาสที่เข้ามาร่วมในพิธี นอกจากนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่สามารถมองทะลุเข้าไปได้แต่ไม่ทั้งหมด ส่วนล่างระดับเอวจะทึบเหนือส่วนนั้นจึงฉลุ และตกแต่งด้วยนักบุญ ทูตสวรรค์และลวดลายต่างๆ การอนุญาตให้เห็นได้บ้างบางส่วนไม่ทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญของพิธีมิสซาและของการใช้สัญลักษณ์ในยุคกลาง เมื่อผู้เข้าร่วมพิธีคุกเข่าก็จะสามารถเห็นส่วนบนของพระจากลายฉลุส่วนบนเมื่อ พระยกเหล้าและไวน์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีศีลมหาสนิทขึ้น วัดบางวัดจะสร้างช่องคล้ายหน้าต่างสองข้างฉากที่เรียกว่า “squint hole” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมพิธีเห็นพิธีการแปรขนมปังเป็นพระวรกายของพระเยซู (Transubstantiation) ได้ชัดขึ้น

ฉากกางเขนเป็นส่วนสำคัญของการทำพิธีทางศาสนาโดยเฉพาะช่วง “สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์” (Holy Week) ระหว่าง อีสเตอร์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่มีการทำพิธีสำคัญ ๆ หลายพิธี ระหว่างเทศกาลมหาพรตฉากก็จะถูกคลุมด้วยผ้าและมาเปิดอีกครั้งในวัน “วันอาทิตย์ใบปาล์ม” ต่อหน้าขบวนผู้ถือใบปาล์มที่เข้ามาร่วมในพิธี และจะมีการอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับพระทรมานของพระเยซู (Passion) จากระเบียงฉากกางเขนภายใต้กางเขนโดยพระสามองค์

การทำลายและการปฏิสังขรณ์ แก้

ระหว่างการการปฏิรูปศาสนา ฉากกางเขนเป็นส่วนหนึ่งของสึ่งที่ถือว่เป็นการใช้รูปเคารพในทางที่ผิด จึงเป็นเป้าหมายที่ถูกรี้อทิ่งไปมากตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกเมื่อปี ค.ศ. 1547 โดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 แห่งอังกฤษ และมาปฏิสังขรในรัชสมัยของพระราชินีนาถแมรีที่ 1 และถูกทำลายอึกครั้งในรัชสมัยของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ฉะนั้นงานฉากกางเขนของอังกฤษจึงเป็นสิ่งที่หาดูได้ยาก

สมุดภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  • Duffy, Eamon, The Stripping of the Altars (Yale 1992)

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ฉากกางเขน