จิน เป็ง หรือจีนเป็ง[1][2](Chin Peng; 陳平) มีชื่อจริงว่าอองบุนหัว (Ong Boon Hua; 王文華)เกิดเมื่อ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2467 เป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์มลายาซึ่งต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม ด้วยการสู้รบแบบกองโจรระหว่างเหตุฉุกเฉินของมลายา ต่อสู้กับกองทัพอังกฤษเพื่อก่อตั้งรัฐคอมมิวนิสต์ที่เป็นเอกราช และหลัง พ.ศ. 2509 เป็นการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนมาเลเซียให้เป็นรัฐคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลมาเลเซียใน พ.ศ. 2532 จิน เปงเสียชีวิตที่กรุงเทพฯ เมื่ออายุ 88 ปี ก่อนเสียชีวิต เขาลี้ภัยในประเทศไทยโดยได้รับอนุญาตให้กลับเข้ามาเลเซียได้เพื่อลงนามในข้อตกลงเมื่อ พ.ศ. 2532

จีนเป็ง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
21 ตุลาคม ค.ศ. 1924(1924-10-21)
ซีเตียวัน, เประ, สหพันธรัฐมลายู, บริติชมาลายา
เสียชีวิต16 กันยายน ค.ศ. 2013(2013-09-16) (88 ปี)
กรุงเทพ, ประเทศไทย
เชื้อชาติมาลายา
พรรคการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์มลายา
คู่สมรสLee Khoon Wah (สมรส 1942; เสียชีวิต 2008)
บุตร
  • Ong Boo Kok (ลูกชาย)
  • ลูกสาวคนเดียว
ความสัมพันธ์Lee Chong (หลานชาย)
ที่อยู่อาศัยกรุงเทพ, ประเทศไทย
อาชีพนักการเมือง, หัวหน้ากองโจร
ประกาศจับ "จีนเป็ง" ซึ่งรัฐบาลสหพันธรัฐมาลายาตั้งค่าหัวไว้ที่ 250,000 เหรียญสหรัฐฯ ในกรณีที่จับเป็นได้ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Straits Times ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495)

ชีวิตช่วงแรก แก้

จิน เปงเกิดเมื่อ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2467 ในครอบครัวชนชั้นกลางในชื่อ ออง บุนหัวในหมู่บ้านริมทะเลเมืองซิเตียวัน รัฐเประ พ่อของเขามาที่เมืองนี้ใน พ.ศ. 2463 และทำธุรกิจซ่อมจักรยาน โดยได้รับความช่วยเหลือจากหุ้นส่วนในสิงคโปร์[3] เขาเข้าเรียนในโรงเรียนภาษาจีนในซิเตียวัน ต่อมา ใน พ.ศ. 2480 เขาเข้าร่วมในสมาคมสนับสนุนการต่อต้านศัตรูของชาวจีนซึ่งก่อตั้งเพื่อช่วยเหลือจีนต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น ในเวลานั้น เขายังไม่ได้นิยมคอมมิวนิสต์ เขาเข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านญี่ปุ่นในโรงเรียน เป็นผู้สนับสนุนซุน ยัตเซ็น จนราว พ.ศ. 2482 จึงหันมานิยมคอมมิวนิสต์

ใน พ.ศ. 2482 โรงเรียนที่เขาเรียนอยู่ปิดตัวเพราะขาดแคลนเงิน เขาจึงเข้าศึกษาในโรงเรียนของนิกายเมโทดิสต์ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อออกจากโรงเรียน เขาสนใจกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้นและกลายเป็นนักปฏิวัติในที่สุด ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2482 เขาเข้าร่วมในองค์กรต่อต้านญี่ปุ่น และเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2483 พรรคได้ส่งเขาไปยังอีโปะฮ์ในฐานะคณะกรรมการแห่งเประ และเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ในเดือนธันวาคม ต่อมาในต้นปี พ.ศ. 2484 สมาคมสนับสนุนการต่อต้านศัตรูของชาวจีนได้สลายตัว จิน เปงกลายเป็นคณะกรรมการระดับตำบลของพรรคในเประ ต่อมาในเดือนมิถุนายน เขาได้เป็นคณะกรรมการรัฐเประ

ขึ้นมามีบทบาท แก้

จินเปงมีบทบาทมากในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งชาวจีนในมลายาจำนวนมากต่อสู้แบบกองโจรต่อต้านญี่ปุ่นโดยได้แบบอย่างมาจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อกองทัพประชาชนมลายาต่อต้านญี่ปุ่น จิน เปงเป็นผู้ประสานระหว่างกองทัพประชาชนและกองทัพอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การรุกรานมลายาของญี่ปุ่นเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยใน พ.ศ. 2485 จิน เปง เป็นหนึ่งในสามของเลขาธิการรัฐเประ ต่อมาต้นปี พ.ศ. 2486 คนที่อาวุโสกว่าเขาสองคนถูกญี่ปุ่นจับตัว การติดต่อกับศูนย์กลางของพรรคขาดหายไป เขาพยายามเดินทางไปกัวลาลัมเปอร์เพื่อเข้าพบไช เกอ หมิง ต่อมา ไลเตก ผู้นำพรรคได้ส่งคณะกรรมการคนอื่นไปแทนจิน เปง คือ ลี เซียวเปงให้ไปเป็นเลขาธิการของรัฐ แต่ลีถูกจับกุมระหว่างเดินทางไปสิงคโปร์ ดังนั้น หน้าที่ในการติดต่อกับกองทัพ 136 จึงตกเป็นของจิน เปง และจากการติดต่อระหว่างสงคราม ทำให้เขาได้รับเหรียญจากอังกฤษ เขาได้เป็นเลขาธิการทั่วไปของพรรค หลังจากนั้น ไล เตก ผู้นำพรรคทรยศ เขากลายเป็นผู้อาวุโสที่สุดที่รอดมาได้

สถานการณ์ฉุกเฉิน แก้

ต่อมา ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2491 เขาได้ประกาศโครงการต่อสู้เพื่อต่อต้านจักรววรดินิยมอังกฤษ ฝ่ายบริหารอาณานิคมมลายาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2491เพื่อรับมือกับการก่อกบฏของพรรคคอมมิวนิสต์ หลังจากสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฆ่าผู้จัดการชาวยุโรป 3 คนที่ซูไงซีปุต พรรคถูกคว่ำบาตรในเดือนกรกฎาคม นักประวัติศาสตร์สิงคโปร์และผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่กล่าวว่าจิน เปงเป็นผู้สั่งฆ่า แต่จิน เปงปฏิเสธ จากนั้นจึงเกิดสงครามกลางเมืองที่เรียกว่าเหตุฉุกเฉินมลายา ใน พ.ศ. 2498 ทางพรรคถูกปราบปรามจนพ่ายแพ้ กองกำลังที่เหลือหนีมารวมกันที่ชายแดนไทย ในเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น จีนเป็งเข้าร่วมในการเจรจาบาลิงกับมุขมนตรีมลายาและสิงคโปร์รวมทั้งตัวแทนจากไทย แต่การเจรจาล้มเหลว ข้อเสนอของจีนเป็งที่ต้องการให้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคถูกกฎหมายถูกปฏิเสธ จน พ.ศ. 2503 จิน เปงถอนตัวมายังภาคใต้ของไทยและใช้เป็นฐานที่มั่นในการต่อสู้ต่อมา เขายังออกวิทยุกระจายเสียงในรายการเสียงแห่งการปฏิวัติมลายา ที่เป็นสถานีวิทยุใต้ดิน กระจายเสียงมาจากภาคใต้ของจีน ใน พ.ศ. 2513 หน่วยสู้รบแบบกองโจรของพรรคที่มีฐานในประเทศไทยแตกแยกกันเอง จิน เปงเดินทางไปยังจีนและประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย

ใน พ.ศ. 2532 พรรคคอมมิวนิสต์ได้ลงนามสงบศึกที่หาดใหญ่เมื่อ 2 ธันวาคม โดยตัวแทนพรรคมี จิน เปง ราชิด ไมดิน และ อับดุลลอห์ ซีดี สมาชิกพรรคที่เป็นคนมาเลเซียจะได้รับอนุญาตให้กลับคืนสู่มาเลเซียได้

การกลับคืนสู่มาเลเซีย แก้

จินเปงลี้ภัยในภาคใต้ของประเทศไทยและเคยไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ต้นปี พ.ศ. 2543 เขาขออนุญาตกลับสู่มาเลเซียแต่ศาลสูงปฏิเสธในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ต่อมา ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 จิน เปงเสียโอกาสในการกลับคืนสู่มาเลเซีย เนื่องจากศาลต้องการให้เขาแสดงเอกสารยืนยันความเป็นพลเมือง จิน เปงกล่าวว่าสูติบัตรของเขาถูกตำรวจยึดไประหว่างการจับกุมเมื่อ พ.ศ. 2491 เขาได้พยายามเรียกร้องสิทธิในการกลับไปใช้ชีวิตในมาเลเซียตามสนธิสัญญา

เสียชีวิต แก้

จิน เปงเสียชีวิตเมื่ออายุ 88 ปี ในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯเมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2556 ร่างของเขาถูกเผาในกรุงเทพฯ แม้เขาต้องการให้ฝังในซิเตียวัน รัฐบาลมาเลเซียปฏิเสธไม่ให้นำร่างของเขาเข้าประเทศ โดยกล่าวว่าสิทธิตามสนธิสัญญาสิ้นสุดลงแล้วและเขาไม่มีสิทธิ์กลับมา[4] ใน พ.ศ. 2549 ภาพยนตร์เชิงสารคดีเกี่ยวกับจิน เปง ในชื่อเรื่องคอมมิวนิสต์คนสุดท้าย ถูกคว่ำบาตรในมาเลเซีย[5]

อ้างอิง แก้

  1. มาเลย์เช็คข่าววุ่น”จีนเป็ง”อดีตผู้นำโจรจีนดอดเข้าประเทศ
  2. ไทยรัฐ. จีนเป็งอดีตจคม.ขอกลับมาเลเซีย
  3. C.C. Chin and Karl Hack, Dialogues with Chin Peng, pp. 3, 38.
  4. Lim, Ida (20 September 2013). "Open door to Chin Peng's ashes since Malay terrorists also buried here, says MCA". The Malay Mail. สืบค้นเมื่อ 20 March 2015.
  5. "I Love Malaya".
  • ไมเคิล ลีเฟอร์. พจนานุกรมการเมืองสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กทม. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2548. หน้า 213 – 214
  • 劉鑒銓等人,青山不老-馬共的歷程,(2004)香港:明報出版社 ISBN 962-8871-28-5
  • Chin, C. C., and Karl Hack. eds., Dialogues with Chin Peng: New Light on the Malayan Communist Party. (2004) Singapore: Singapore University Press, 2004 ISBN 9971-69-287-2
  • Chin Peng, My Side of History (2003) ISBN 981-04-8693-6
  • Ruslan of Malaysia: The Man Behind the Domino That Didn't Fall (2007) ISBN 978-0-9780562-0-9

แหล่งข้อมูลอื่น แก้