จีที200 (GT200) คือ อุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิดซึ่งสุดท้ายถูกเปิดโปงว่าเป็นกลฉ้อฉล บริษัท โกลบอลเทคนิค จำกัด ผู้ผลิตสัญชาติสหราชอาณาจักร อ้างว่าเครื่องสามารถตรวจจับวัตถุระเบิดและยาเสพติด โดยมีราคาจำหน่ายในแต่ละประเทศสูงกว่า 22,000 ปอนด์ต่อเครื่อง หากเครื่องนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ต่างจาก "ไม้ล้างป่าช้า" ปราศจากซึ่งหลักการคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ในการทำงาน[1]

อุปกรณ์นี้ได้รับการตรวจสอบความสามารถในการตรวจจับอย่างละเอียด ตามด้วยการตรวจสอบอุปกรณ์ เอดีอี651 ซึ่งเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการตรวจสอบวัตถุ จนกลายเป็นประเด็นการสอบสวนการหลอกลวงที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร[1] รัฐบาลสหราชอาณาจักรมีคำสั่งห้ามการส่งอุปกรณ์นี้ออกไปยังประเทศอิรักและประเทศอัฟกานิสถานในคำสั่งซื้อของกองทัพในเดือนมกราคม พ.ศ. 2553[2] และได้ส่งสารเตือนไปยังรัฐบาลในต่างประเทศว่าเครื่องจีที200 และ เอดีอี651 เป็นเครื่องที่ "ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง" ในการตรวจสอบวัตถุระเบิด[2]

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 ศาลอังกฤษได้พิพากษาให้จำคุกเจมส์ แมคคอร์มิค เป็นเวลา 10 ปีในข้อหาหลอกขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม หรือจีที200 ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย[3] ใน พ.ศ. 2565 ศาลยุติธรรมมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บริษัทเอวิเอ แซทคอมชำระเงินให้กับส่วนราชการต่าง ๆ ที่เสียหายแล้ว แต่ยังเป็นประเด็นต่อมาในเรื่องการตั้งงบประมาณเพื่อตรวจสอบอยู่[4]

จีที200 ในประเทศไทย แก้

การเรียกร้องให้ตรวจสอบโดยภาคประชาชน แก้

จุดเริ่มต้นของการตรวจสอบจีที200 เริ่มต้นมาจากภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเคลื่อนไหวของ เครือข่ายสังคมบนโลกอินเทอร์เน็ต โดยการจุดประกายจากล็อกอิน Geneticist แห่งห้องหว้ากอ ของเว็บไซต์ พันทิป.คอม ที่ตามติดสถานการณ์มาโดยต่อเนื่อง และได้ ผศ.ว่าที่ร้อยตรี ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการอิสระ และนายจุฬา พิทยาภินันท์ นิสิตปริญญาเอก เข้ามาร่วม และใช้สถานะทางสังคมเข้าช่วยกดดันให้เกิดการตรวจสอบ [5]

ในกรณีการเรียกร้องให้ตรวจสอบนี้ยังมี ผศ. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ และนายจุฬา พิทยาภินันท์ เป็นตัวแทนเข้ามาชี้แจงและตอบคำถามผ่านสื่อมวลชน ผศ. ดร.เจษฎาเองก็ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบจีที200 อีกด้วย

การตรวจสอบจีที200 แก้

ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตรวจสอบเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที200 [6] หลังจากนั้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที200 คณะกรรมการได้จัดการตรวจสอบประสิทธิภาพการของเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยใช้การตรวจสอบแบบตาบอดสองทาง (Double Blind Test) ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงถึงผลการตรวจสอบประสิทธิภาพของจีที200 ว่าตรวจหาวัตถุระเบิดซีโฟร์ได้ถูกต้องเพียง 4 ครั้ง จาก 20 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีตัวเลือก 4 กล่อง ซึ่งไม่มีนัยทางสถิติ รัฐบาลจึงยกเลิกการจัดซื้อเพิ่มเติม และให้หน่วยงานที่ใช้อยู่ทบทวนเรื่องการใช้งานเครื่องตรวจสอบระเบิดจีที200 ต่อ[7]

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563–2564 ถึงแม้บริษัทเอวิเอ แซทคอมจะเป็นจำเลยในคดีฉ้อโกง แต่ยังได้รับงานจากกองทัพเรือและกองทัพอากาศ[8]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "UK bans bomb detectors". Bangkok Post. 2010-01-24. สืบค้นเมื่อ 2010-01-26.
  2. 2.0 2.1 "Government statement on 'bomb detectors' export ban". BBC News. 2010-01-22. สืบค้นเมื่อ 2010-01-22.
  3. "ศาลอังกฤษจำคุกเจมส์ แมคคอร์มิคเป็นเวลา 10 ปีคดีจีที200". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-03. สืบค้นเมื่อ 2013-05-02.
  4. "ลำดับเหตุการณ์ก่อน ทบ. ประกาศคืนงบตรวจแงะ GT 200". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 10 June 2022.
  5. "8 เดือนชาวหว้ากอกับผลงาน GT200". ไทยรัฐ. 2010-02-26. สืบค้นเมื่อ 2012-12-20.
  6. "ครม.มอบ วท.เชิญผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์จีที200". ทำเนียบรัฐบาล. 2010-02-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-06. สืบค้นเมื่อ 2010-03-06.
  7. "ผลพิสูจน์เครื่องตรวจบึ้มจีที200 ทดสอบ 20 ครั้ง หาได้แค่ 4 ครั้ง". MCOT.NET. 2010-02-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-18. สืบค้นเมื่อ 2010-01-22.
  8. "ข้อมูลจริง! บ.เอวิเอฯ แพ้คดีจีที200 แต่ยังได้งาน 'ทอ.-ทร.' เพียบ 54 ล." สำนักข่าวอิศรา. 18 March 2021. สืบค้นเมื่อ 10 June 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้