จัวนาแห่งโปรตุเกส

จัวนาแห่งโปรตุเกส (โปรตุเกส: Joana de Portugal; 31 มีนาคม ค.ศ. 1439[1] – 13 มิถุนายน ค.ศ. 1475[1][2]) เป็นพระราชินีคู่สมรสแห่งกัสติยาจากการเป็นพระมเหสีคนที่สองของพระเจ้าเอนริเกที่ 4 แห่งกัสติยา และเป็นอิงฟังตาแห่งโปรตุเกสจากการเป็นพระธิดาที่เสด็จพระราชสมภพหลังจากพระเจ้าดูวาร์ตึที่ 1 แห่งโปรตุเกสได้สิ้นพระชนม์เมื่อหกเดือนก่อนหน้า

จัวนาแห่งโปรตุเกส
อิงฟังตาจัวนาในพงศาวลีกษัตริย์แห่งโปรตุเกส (อังตอนียู ดึ อูลังดา ค.ศ. 1530–1534)
พระราชินีคู่สมรสแห่งกัสติยา
ครองราชย์21 พฤษภาคม ค.ศ. 1455 – 11 ธันวาคม ค.ศ. 1474
ประสูติ31 มีนาคม ค.ศ. 1439
อัลมาดา ราชอาณาจักรโปรตุเกส
สิ้นพระชนม์13 มิถุนายน ค.ศ. 1475 (36 พรรษา)
ฝังพระศพมหาวิหารซานฟรันซิสโกเอลกรันเด มาดริด
พระสวามีพระเจ้าเอนริเกที่ 4 แห่งกัสติยา
พระบุตรฆัวนาลาเบลตราเนฆา
ราชวงศ์อาวิช (โดยกำเนิด)
ตรัสตามารา (โดยสมรส)
พระบิดาพระเจ้าดูวาร์ตึแห่งโปรตุเกส
พระมารดาเลโอนอร์แห่งอารากอน สมเด็จพระราชินีแห่งโปรตุเกส

พระราชินีแห่งกัสติยา แก้

จัวนาแห่งโปรตุเกสเสด็จพระราชสมภพในปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 1439 ที่เมืองอัลมาดาในโปรตุเกส พระองค์เป็นพระธิดาของพระเจ้าดูวาร์ตึแห่งโปรตุเกสกับเลโอนอร์แห่งอารากอน และเป็นพระขนิษฐาของพระเจ้าอาฟงซูที่ 5 แห่งโปรตุเกส พระองค์ไม่เคยเห็นหน้าพระบิดาเนื่องจากพระเจ้าดูวาร์ตึสิ้นพระชนม์ก่อนพระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1438 โดยมีผู้สืบทอดตำแหน่งคืออาฟงซู พระเชษฐาของจัวนา

เมื่อมีพระชนมายุ 15 พรรษา พระองค์ถูกจับหมั้นหมายกับพระเจ้าเอนริเกที่ 4 แห่งกัสติยาที่ตกพุ่มม่ายหลังการสมรสของพระองค์กับบลังกาแห่งนาวาร์ถูกประกาศให้เป็นโมฆะเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้าด้วยเหตุผลว่าตลอด 13 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 1424–1462) การสมรสไม่เคยสมบูรณ์ มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้พระเจ้าเอนริเกต้องการอภิเษกสมรสกับจัวนา ประการแรกพระนางเป็นเจ้าหญิงของโปรตุเกส ราชอาณาจักรที่จะเป็นพันธมิตรช่วยพระองค์ต่อกรกับการขยายอำนาจของพระเจ้าชวนที่ 2 แห่งอารากอน ประการที่สองพระองค์ยังไม่มีพระโอรสธิดากับบลังกา มีข่าวลือว่ากษัตริย์มีอาการกามตายด้านจึงทำให้การสมรสไม่เคยสมบูรณ์ พระองค์จึงต้องการพิสูจน์ความเป็นชายของตนและต้องการผลิตทายาท ความงามอันเป็นที่โจษจันของจัวนาอาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้พระเจ้าเอนริเกเลือกพระนาง แม้ว่าพระมารดาของทั้งคู่จะเป็นพี่น้องกัน (ทั้งเลโอนอร์แห่งอารากอนและมาริอาแห่งอารากอนต่างเป็นพระธิดาของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 1 แห่งอารากอนกับเลโอนอร์แห่งอัลบูร์เกร์เก)

จัวนาอภิเษกสมรสเป็นพระมเหสีคนที่สองของพระเจ้าเอนริเกที่ 4 แห่งกัสติยาที่มีพระชนมายุมากกว่าพระองค์ 14 ปีเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1455 มีการจัดพิธีเฉลิมฉลองใหญ่ในสเปน แต่ในช่วงแรกของการสมรสกษัตริย์ยังคงทำให้การสมรสสมบูรณ์ไม่ได้ พระองค์ได้รับกิโอมาร์ เด กัสโตร หนึ่งในผู้ติดตามของจัวนาเป็นสนมลับ อาจจะเพื่อเยียวยาความล้มเหลวของพระองค์ จัวนาที่โกรธเกรี้ยวทุบตีนางกำนัลของตนต่อหน้าสาธารณชน หลายปีผ่านไปจัวนายังคงไร้วี่แววจะตั้งครรภ์ จนกระทั่งในปีที่ 7 ของการสมรสพระนางได้ให้กำเนิดพระธิดาชื่อว่าฆัวนาในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1462 สร้างความปีติยินดีให้แก่ทั้งสองพระองค์ พระมหากษัตริย์และผู้อยู่ใต้ปกครองของพระองค์มีความสุขอย่างมากกับการถือกำเนิดของพระธิดา ไม่นานพระนางก็ตั้งครรภ์อีกครั้ง แต่พระโอรสสิ้นพระชนม์ในครรภ์

เรื่องอื้อฉาวและบุตรนอกสมรส แก้

ชีวิตของพระราชินีกับพระธิดาเริ่มลำบากเมื่อขุนนางฝ่ายคัดค้านไม่พอใจที่พระเจ้าเอนริเกไว้เนื้อเชื่อใจฆวน ปาเชโก มาร์ควิสแห่งบิเยนาผู้โลภมากและตลบแตลง พระเจ้าเอนริเกเล็งเห็นว่าพระองค์ไม่สามารถกำราบชนชั้นสูงกัสติยาที่เป็นกบฏได้ ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับการคุกคามจากอารากอนและกรานาดา เพื่อลดทอนอำนาจของพระองค์ กลุ่มขุนนางฝ่ายคัดค้านได้เคลื่อนไหวเพื่อปลดพระเจ้าเอนริเกออกจากตำแหน่งและยกอัลฟอนโซ พระอนุชาต่างมารดาของพระองค์ขึ้นครองบัลลังก์ พระเจ้าเอนริเกกับจัวนาจึงจำต้องแยกจากกัน เพื่อเอาใจกลุ่มกบฏพระเจ้าเอนริเกยอมให้อาลอนโซ เด ฟอนเซกา อัครมุขนายกแห่งเซบิยาจับพระนางเป็นตัวประกัน เพื่อเป็นหลักประกันว่าพระเจ้าเอนริเกจะยอมรับอัลฟอนโซเป็นทายาทของพระองค์ จัวนารอเวลาอยู่ในปราสาทของฟอนเซกาที่อาลาเอโฆสด้วยความผิดหวังและเบื่อหน่าย ในปี ค.ศ. 1468 พระองค์ตั้งครรภ์บุตรชายนอกสมรส (ฝาแฝด) อันเป็นผลมากจากการคบชู้กับเปโดร เด กัสติยา อี ฟอนเซกา หลานชาย (ลูกของพี่น้อง) ของอัครมุขนายก เมื่อพระองค์พยายามหนี สาธารณชนจึงได้รู้ถึงพฤติกรรมอันฉาวโฉ่ของพระองค์

ขณะเดียวกันอัลฟอนโซได้สิ้นพระชนม์ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1468 ฝ่ายตรงข้ามจึงต่อสู้เพื่อให้สิทธิ์ของพระองค์ตกเป็นของอิซาเบล พระขนิษฐาที่ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา นอกจากการใช้กำลังทางทหารเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน ฝ่ายคัดค้านยังวางกลยุทธ์ลดทอนความน่าเชื่อถือในตัวฆัวนา พระธิดาของพระเจ้าเอนริเกและจัวนา เดือนกันยายน ค.ศ. 1468 กลุ่มขุนนางกบฏบีบบังคับให้พระเจ้าเอนริเกยอมรับข้อตกลงโตโรสเดกิซันโดที่ให้พระเจ้าเอนริเกประกาศสละสิทธิ์ในการสืบทอดบัลลังก์ของพระธิดา และยินยอมให้อิซาเบลเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์แทน กลุ่มขุนนางแย้งว่าที่ควรเป็นเช่นนี้เพราะพระเจ้าเอนริเกกับจัวนาไม่ได้รับการผ่อนผันจากพระสันตะปาปาที่ทั้งคู่จำเป็นต้องได้รับจึงจะสมรสกันได้ เนื่องจากเป็นลูกพี่ลูกน้องชั้นที่หนึ่งกัน การสมรสของทั้งคู่จึงไม่ชอบในทางกฎหมาย ทำให้ฆัวนาเป็นบุตรสาวนอกสมรสและไม่มีสิทธิ์ในบัลลังก์ บางแหล่งข้อมูลกล่าวว่าที่พระเจ้าเอนริเกทำเช่นนี้เพราะต้องการแก้แค้นการคบชู้ของจัวนา

 
ฆัวนา พระธิดา ในพงศาวลีกษัตริย์แห่งโปรตุเกส (อังตอนียู ดึ อูลังดา ค.ศ. 1530–1534)

ทว่าในปี ค.ศ. 470 พระเจ้าเอนริเกเพิกถอนข้อตกลงดังกล่าวและประกาศให้ฆัวนา พระธิดา เป็นทายาทของพระองค์อีกครั้ง ทำให้มีการปล่อยข่าวลือว่าพระเจ้าเอนริเกไม่ใช่บิดาตัวจริงของเด็กหญิง พระราชินีจัวนาเคยสนิทสนมกับข้าราชสำนักชื่อเบลตรัน เด ลา กูเอบา ดยุคที่ 1 แห่งอัลบูร์เกร์เกซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นบิดาของฆัวนา พฤติกรรมอันฉาวโฉ่ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานของจัวนาทำให้ข้อกล่าวหายิ่งมีน้ำหนัก แม้ว่าทั้งพระเจ้าเอนริเกและจัวนาจะสาบานต่อหน้าสาธารณชนว่าทั้งคู่เป็นบิดามารดาของเด็กหญิง แต่เด็กหญิงได้ถูกตั้งฉายาว่า ลา เบลตราเนฆา

ต่อมาจัวนาได้บวชเข้าคอนแวนต์ซานฟรันซิสโกในเซโกเบีย เมื่อพระเจ้าเอนริเกสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1474 พระนางพยายามแย่งชิงสิทธิ์ในการสืบทอดตำแหน่งมาให้ฆัวนา ทว่าพระนางเองกลับสิ้นพระชนม์ในอีกไม่กี่เดือนต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1475 ร่างของจัวนาถูกฝังในคอนแวนต์ที่พระนางสิ้นพระชนม์ แต่หลุมฝังศพของพระนางไม่เหลืออยู่แล้ว

บุตรชายนอกสมรสของพระนางได้แต่งงานทั้งคู่และมีอย่างน้อยหนึ่งคนที่มีทายาท ขณะที่ฆัวนาลาเบลตราเนฆา พระธิดาถูกขับไล่ออกจากประเทศไปอยู่ในโปรตุเกส บางแหล่งข้อมูลกล่าวว่าเรื่องราวของพระองค์ถูกใส่สีตีไข่โดยนักโฆษณาชวนเชื่อและนักประวัติศาสตร์ของอิซาเบลที่ต้องการทำลายชื่อเสียงของพระเจ้าเอนริเกและจัวนาแห่งโปรตุเกสเพื่อช่วยสร้างความชอบธรรมให้แก่พระมหากษัตริย์คนใหม่

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Historia de Portugal - with source: Joel Serrão (dir.) Pequeno Dicionário de História de Portugal, Lisboa, Iniciativas Editoriais, 1976 - AND - Joaquim Veríssimo Serrão, História de Portugal, Volume II: Formação do Estado Moderno (1415-1495), 2.ª ed., Lisboa, Verbo, 1979
  2. Charles Cawley, Medieval Lands, Portugal