จังหวัดพิบูลสงคราม

จังหวัดพิบูลสงคราม เป็น 1 ใน 4 จังหวัดที่ประเทศไทยได้ดินแดนคืนจากฝรั่งเศสในช่วง พ.ศ. 2484 โดยยกท้องที่การปกครองเสียมราฐขึ้นเป็นจังหวัด ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยต้องส่งดินแดนจังหวัดพิบูลสงครามคืนให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งปกครองประเทศกัมพูชาอยู่ในขณะนั้น ปัจจุบันคือจังหวัดเสียมราฐ จังหวัดอุดรมีชัย และจังหวัดบันทายมีชัยในประเทศกัมพูชา

จังหวัดพิบูลสงคราม
จังหวัด
พ.ศ. 2484 – 2489
Flag of จังหวัดพิบูลสงคราม
ธง

จังหวัดพิบูลสงคราม (สีน้ำเงิน)
ยุคทางประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2
9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484
• ความตกลงวอชิงตัน
17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489
ก่อนหน้า
ถัดไป
กัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส
กัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของธงของประเทศกัมพูชา กัมพูชา

ประวัติ แก้

 
แม่น้ำกลันท ใน พ.ศ. 2486

พื้นที่ของจังหวัดนี้เดิมอยู่ในมณฑลบูรพาในสมัยรัชกาลที่ 5 และตกอยู่ภายใต้ความปกครองของฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2450 ก่อนได้ดินแดนคืนจากฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. 2484 โดยชื่อ จังหวัดพิบูลสงคราม นี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น ทั้งนี้ ยังปรากฏว่ามีการสร้างอนุสาวรีย์ไก่ขาวกางปีกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจอมพลแปลกไว้เป็นอนุสรณ์ของจังหวัดนี้ เมื่อมีการกำหนดให้มีตราประจำจังหวัดทั่วประเทศ กรมศิลปากรก็ได้นำอนุสาวรีย์ดังกล่าวมาผูกเป็นรูปตราประจำจังหวัดไว้ด้วย ส่วนชื่ออำเภอต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นในทั้ง 4 จังหวัด ที่ได้คืนมาจากฝรั่งเศสนั้น ส่วนหนึ่งตั้งชื่อตามบุคคลที่มีบทบาทอย่างสูงในการรบสงครามอินโดจีน

อย่างไรก็ตาม ในการได้ดินแดนเสียมราฐคืนมาเป็นจังหวัดพิบูลสงครามนั้น นครวัดยังคงอยู่ในเขตของฝรั่งเศส และปราสาทบันทายศรีแม้ตามเส้นแบ่งแดนจะอยู่ในเขตจังหวัดพิบูลสงคราม แต่ฝรั่งเศสได้ขอให้ขีดวงล้อมให้ดินแดนที่ตั้งของปราสาทบันทายศรีเป็นของฝรั่งเศสตามเดิม โดยมีฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ไกล่เกลี่ยได้เห็นชอบตามคำขอของฝรั่งเศส ปราสาททั้งสองจึงไม่อยู่ในเขตอธิปไตยของไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2[1]

ในระหว่างที่จังหวัดนี้อยู่ในการปกครองของประเทศไทย ได้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 นายประยูร อภัยวงศ์​ได้เป็นส.ส. ของจังหวัดพิบูลสงครามและเมื่อเลือกตั้งเพิ่มเติมเมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ได้นายญาติ ไหวดี​ เป็น ส.ส.จังหวัดพิบูลสงครามเพิ่มเติม ก่อนจะคืนดินแดนดังกล่าวให้ฝรั่งเศส [2]

การแบ่งเขตการปกครอง แก้

เมื่อแรกตั้งจังหวัดนั้น ได้แบ่งการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ ตามประกาศเรื่องตั้งอำเภอ ลงวันที่ 23 กรกฎาคม พุทธศักราช 2484 ดังนี้

  1. อำเภอไพรีระย่อเดช (ตามเขตอำเภอบ้านพวกเดิม) ตั้งชื่อตาม พันเอกหลวงไพรีระย่อเดช (ชมะบูรณ์ ไพรีระย่อเดช ยศสุดท้ายเป็นที่พลโท) ผู้บัญชาการกองพลบูรพา และรองแม่ทัพด้านบูรพา (คนที่ 2) ในขณะนั้น
  2. อำเภอกลันทบุรี (ตามเขตอำเภอกลันทบุรีเดิม)
  3. อำเภอพรหมขันธ์ (ตามเขตอำเภอพรหมขันธ์เดิม)
  4. อำเภอเกรียงศักดิ์พิชิต (ตามเขตอำเภอสำโรงเดิม)ตั้งชื่อตาม พันเอกหลวงเกรียงศักดิ์พิชิต (พิชิต เกรียงศักดิ์พิชิต ยศสุดท้ายเป็นที่พลโท) ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 1 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก แม่ทัพด้านอีสาน และผู้ช่วยแม่ทัพบกในขณะนั้น [3]
  5. อำเภอวารีแสน (ตามเขตอำเภอวารีแสนเดิม)
  6. อำเภอจอมกระสานติ์ (ตามเขตอำเภอจอมกระสานติ์เดิม)

หลังจากนั้นวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2484 สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาจัดตั้งศาลจังหวัด โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2484 [4] ต่อมาทางการได้ปรับปรุงเขตการปกครองจังหวัดพิบูลสงครามใหม่ โดยโอนท้องที่อำเภอจอมกระสานต์ จังหวัดพิบูลสงครามไปขึ้นจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ และโอนท้องที่อำเภอศรีโสภณ และอำเภอสินธุสงครามชัย จังหวัดพระตะบอง มาขึ้นจังหวัดพิบูลสงครามแทนในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน [5]

จังหวัดพิบูลสงครามจึงมีเขตการปกครองจนถึง พ.ศ. 2489 รวมทั้งสิ้น 7 อำเภอ คือ อำเภอไพรีระย่อเดช อำเภอกลันทบุรี อำเภอพรหมขันธ์ อำเภอเกรียงศักดิ์พิชิต อำเภอวารีแสน อำเภอศรีโสภณ และอำเภอสินธุสงครามชัย

อ้างอิง แก้

  1. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชาและกรณีศึกษาปราสาทพระวิหาร. กทม. โครงการตำราสังคมศาสตร์ฯ.2552
  2. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชาและกรณีศึกษาปราสาทพระวิหาร. กทม. โครงการตำราสังคมศาสตร์ฯ.2552
  3. ดูประวัติหลวงเกรียงศักดิ์พิชิตได้ที่นี่ เก็บถาวร 2007-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศาลจังหวัดลานช้าง ศาลจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ ศาลจังหวัดพิบูลสงคราม และศาลจังหวัดพระตะบอง พุทธศักราช ๒๔๘๔ เล่มที่ ๕๘ ตอนที่ ๐ ก ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ หน้าที่ ๑๐๓๐
  5. พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ จังหวัดพิบูลสงครามและจังหวัดพระตะบอง พุทธศักราช ๒๔๘๔ เก็บถาวร 2011-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๘ ตอนที่ ๐ ก ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ หน้าที่ ๑๙๒๐

แหล่งข้อมูลอื่น แก้