ช็องปาญ (ฝรั่งเศส: Champagne) เป็นอดีตจังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศสปัจจุบันที่ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันดีในการทำไวน์ที่เรียกว่าเหล้าแชมเปญ

ที่ตั้งของอดีตจังหวัดช็องปาญในประเทศฝรั่งเศส

เดิมเป็นอาณาจักรที่ปกครองโดยเคานต์แห่งช็องปาญที่ตั้งอยู่ราว 160 กิโลเมตรทางตะวันออกของกรุงปารีส เมืองที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าของช็องปาญคือทรัว, แร็งส์ และเอแปร์แน ในปัจจุบันดินแดนส่วนใหญ่ของช็องปาญอยู่ภายใต้การปกครองของแคว้นช็องปาญาร์แดน ที่ประกอบด้วย 4 จังหวัดคือ อาร์แดน, โอบ, โอต-มาร์น และมาร์น

"Champagne" มาจากภาษาละตินว่า "campania" ที่เป็นนัยยะถึงความคล้ายคลึงของภูมิประเทศที่เป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ ของช็องปาญกับชนบทของอิตาลีในบริเวณคัมปาเนีย ทางตอนใต้ของกรุงโรม

ประวัติศาสตร์ แก้

 
พื้นที่ปลูกองุ่นในแคว้นช็องปาญของฝรั่งเศส

ชื่อ "ช็องปาญ" อาจเพี้ยนมาจาก "กัมปานิอา" ในภาษาละติน ซึ่งแปลว่าดินแดนแห่งที่ราบ การกล่าวถึงกัมปานิอาปรากฏขึ้นตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6 พื้นที่ของจังหวัดช็องปาญก่อตัวเป็นหน่วยย่อยทางการเมืองครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 10 จากการรวมเคาน์ตีทรัวเข้ากับเคาน์ตีโมโดยตระกูลแวร์ม็องดัวส์ เคานต์แห่งบลัวและชาทร์ได้ช็องปาญมาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 ตลอดระยะเวลา 100 ปีต่อมาช็องปาญผูกติดกับบลัวและถูกหั่นแบ่งกันในหมู่สมาชิกของตระกูลบลัว ในปี ค.ศ. 1125 ตีโบที่ 4 กลายเป็นตีโบที่ 2 มหาราชแห่งช็องปาญ ซึ่งได้รวมเคาน์ตีเข้าด้วยกันอีกครั้ง การขยายการครอบครองออกไปอย่างกว้างไกลทำให้ตีโบและผู้สืบทอดตำแหน่งกลายเป็นผู้ครองที่ดินคนสำคัญในระบอบศักดินา และช็องปาญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงคริสตวรรษที่ 12 ถึง 13 เคานต์แห่งช็องปาญคือภัยที่แท้จริงของกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส เนื่องจากดินแดนของพวกเขาตีกรอบล้อมรอบดินแดนของกษัตริย์ และพวกเขาพยายามอย่างหนักเพื่อจะครองอำนาจเหนือกษัตริย์หรือปลดปล่อยตนเองจากการควบคุมของกษัตริย์ตีโบที่ 2 มักบาดหมางกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 6 และพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ความขัดแย้งยุติลงในปี ค.ศ. 1284 เมื่อฆัวนาแห่งนาวาร์และช็องปาญ ทายาทแห่งเคาน์ตี แต่งงานกับอนาคตกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส พระเจ้าฟิลิปที่ 4 เมื่อพระโอรสของฆัวนาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 10 ในปี ค.ศ. 1314 ช็องปาญก็ถูกรวมเข้ากับราชบัลลังก์ฝรั่งเศส

ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถึง 13 ช็องปาญหลายเป็นพื้นที่การค้าที่อยู่ในเส้นทางที่พาดผ่านจากฟลานเดอส์, เยอรมนี, อิตาลี จนถึงโพรว็องส์ มีตลาดพ่อค้าเร่ขนาดใหญ่หกแห่งในช็องปาญ แต่ละแห่งเปิดนานถึง 49 วัน ได้แก่ ที่เมืองลาญีหนึ่งแห่ง, บาร์ซูว์โรบหนึ่งแห่ง, โพรแว็งส์สองแห่ง และทรัวสองแห่ง ตลาดพ่อค้าเร่เหล่านี้เป็นที่แลกเปลี่ยนเสื้อผ้าจากทางเหนือกับเครื่องเทศ, ของแห้ง และสิ่งของมีค่าที่มาจากดินแดนเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้ช็องปาญเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเงินของยุโรปในเวลานั้น การติดต่อค้าขายของกลุ่มพ่อค้าในตลาดพ่อค้าเร่มักติดต่อกันทางจดหมายโดยตกลงกันว่าจะทำการชำระเงินในตลาดพ่อค้าเร่ครั้งต่อไปและสามารถเปลี่ยนมือกันได้ การติดต่อค้าขายดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้เครดิต และในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ตลาดพ่อค้าเร่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการธนาคารของยุโรป ทว่าในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 ตลาดพ่อค้าเร่ก็เสื่อมสำคัญลง การค้าถูกเบี่ยงเบนไปจากแคว้นด้วยการเจริญเติบโตของเส้นทางการค้าสายใหม่ และความแตกแยกทางการเมืองในช็องปาญที่เกิดจากสงครามร้อยปี

ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 16 อาณาเขตของอดีตเคาน์ตีถูกรวมเข้ากับอดีตดินแดนของบิชอปแห่งแร็งส์, บิชอปแห่งชาล็อง และบิชอปแห่งล็องร์ ก่อตัวเป็นรัฐบาลทหารแห่งช็องปาญ ในด้านเศรษฐกิจ ช็องปาญเจริญก้าวหน้าจากอุตสาหกรรมสิ่งทอในแร็งส์และทรัว, โลหวิทยาของแซ็งดีซีเย และพื้นที่ปลูกองุ่นขนาดใหญ่ของแคว้น การแยกตัวออกมาของช็องปาญถูกยกเลิกพร้อมกับจังหวัดเก่าแก่ของฝรั่งเศสแห่งอื่น ๆ ในปี ค.ศ. 1790

ในฐานะแคว้นหน้าด่าน ช็องปาญถูกรุกรานเมื่อฝรั่งเศสถูกโจมตีจากทางตะวันออก ในสงครามที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทำกับชาวฮาพส์บวร์คในสมรภูมิวาลมี (ค.ศ. 1792) และในสงครามโลกครั้งที่ 1

อ้างอิง แก้

ดูเพิ่ม แก้