จวนซุนซือ แซ่จวนซุน นามว่าซือ (จีน: 颛孙师; Pinyin: Zhuānsūn Shī) หรือ จื่อจัง (จีน: 子张; Pinyin: Zīzhāng) คนรัฐเฉิน (陈国人) สมัยยุคปลายชุนชิว (春秋末年) จวนซุนซือ เป็น 1 ใน 72 ลูกศิษย์เอกของขงจื่อ มีอายุอ่อนกว่าขงจื่อ 48 ปี เป็นคนมีความสามารถสูง ตรงไปตรงมา ขงจื่อจึงวิจารณ์ว่า “จื่อจังนั้นมากเกิน ส่วนจื่อเซี่ยนั้นก็หย่อนเกิน” [1]

นอกจากจะรักการเรียนแล้ว จื่อจังยังมักจะตั้งคำถามไต่ถามขงจื่อเสมอ และทุกครั้งที่ขงจื่อตอบคำถามของจื่อจัง จื่อจังก็จะจดบันทึกอย่างตั้งใจ [2] ซึ่งในคัมภีร์หลุนอีว์ (论语) ปรากฏคำถามของจื่อจัง คำตอบของขงจื่อ และบทสนทนาระหว่างขงจื่อ กับจื่อจัง ดังนี้ [3]

  • เล่มที่ 2 บทที่ 12 จื่อจังเรียนด้วยมุ่งหวังรับราชการ อาจารย์กล่าวว่า “ฟังให้มากสงวนการพูดเมื่อสงสัย พูดส่วนที่เหลืออย่างระมัดระวัง โอกาสกังวลในการพูดจะมีน้อย ดูให้มากสงวนการกระทำเมื่ออันตราย ทำส่วนที่เหลืออย่างระมัดระวัง โอกาสเสียใจในการกระทำจะมีน้อย เมื่อโอกาสกังวลในการพูดมีน้อยโอกาสเสียใจในการกระทำก็มีน้อย ตำแหน่งราชการย่อมอยู่ในนั้น”
  • เล่มที่ 2 บทที่ 23 จื่อจังถามว่า”จะรู้เรื่องหลี่ในอีกสิบชั่วคนจากนี้ได้หรือไม่” อาจารย์ตอบว่า “ราชวงศ์ซังใช้หลี่แห่งราชวงศ์เซี่ย อาจรู้ได้ว่า มีอะไรที่ยกเลิกไป หรือมีอะไรที่เพิ่มเติมขึ้น ราชวงศ์โจวทำตามหลี่แห่งราชวงศ์ซัง อาจรู้ได้ว่ามีอะไรยกเลิกไป หรือมีอะไรเพิ่มเติมขึ้น อาจมีผู้อื่นที่ทำตามหลี่แห่งราชวงศ์โจว ถึงแม้ยุคสมัยจะห่างกันเป็นร้อยชั่วคน ก็รู้ได้”
  • เล่มที่ 5 บทที่ 18 จื่อจังถามว่า ”เจ้าเมืองจื่อเหวินได้ดำรงตำแหน่งถึงสามครั้งก็มิได้แสดงอาการยินดี เมื่อออกจากตำแหน่งสามครั้งก็ไม่แสดงอาการไม่พอใจ คอยชี้แนะให้เจ้าเมืองคนใหม่ได้รู้แนวการปกครองของเก่า อาจารย์เห็นอย่างไร” อาจารย์ตอบว่า “สัตย์ซื่อ ภักดี” จื่อจังถามต่อไปว่า “เขามีมนุษยธรรมหรือไม่” อาจารย์ตอบว่า “เราไม่รู้ว่าเขามีมนุษยธรรมหรือไม่” “เมื่ออำมาย์ชุยจื่อสังหารเจ้าแห่งแคว้นฉี เฉินเหวินจื่อมีรถม้าศึก 10 คัน แต่เขาก็ละจากเมืองไป เมื่อมาถึงอีกแคว้นหนึ่งกล่าวว่า’ก็ยังเหมือนชุยจื่อผู้เป็นนายของเรา’จึงจากแคว้นนั้นไปอีก เมื่อมาถึงอีกแคว้นหนึ่งก็กล่าวว่า ‘ก็ยังเหมือนชุยจื่อผู้เป็นนายของเรา’ จึงจากแคว้นนั้นไปอีก อาจารย์เห็นอย่างไร” อาจารย์ตอบว่า “เขาบริสุทธิ์” จื่อจังถามต่อไปว่า “เขามีมนุษยธรรมหรือไม่” อาจารย์ตอบว่า “ไม่รู้ เขาได้มนุษยธรรมได้อย่างไรหรือ”
  • เล่มที่ 12 บทที่ 6 จื่อจังถามว่า”อะไรคือการเห็นแจ้ง” อาจารย์กล่าวว่า “ผู้ซึ่งคำกล่าวร้ายป้ายสีไม่อาจครอบงำจิตใจได้ คำตำหนิไม่อาจเสียดแทงบาดใจได้ ผู้นั้นอาจเรียกได้ว่ามีปัญญา ใช่แล้ว ผู้ซึ่งคำกล่าวร้ายไม่อาจครอบงำ คำตำหนิไม่อาจบาดใจได้ คือผู้เห็นการณ์ไกล”
  • เล่มที่ 12 บทที่ 10 จื่อจังถามว่า”ทำอย่างไรจึงจะเชิดชูคุณธรรม ทำอย่างไรจึงจะแยกแยะความหลงให้ชัดเจนขึ้นได้” อาจารย์กล่าวว่า “ให้สัตย์ซื่อถือสัจจะเป็นหลัก แล้วปฏิบัติตามหลักแห่งความถูกต้อง นี่คือการเชิดชูคุณธรรม”
  • เล่มที่ 17 บทที่ 6 จื่อจังถามขงจื่อเกี่ยวกับมนุษยธรรม ขงจื่อตอบว่า”สามารถปฏิบัติห้าสิ่งอย่างครบถ้วนทั่ว คือมนุษยธรรม” จื่อจังขอให้อธิบาย อาจารย์ตอบว่า “ให้เกียรติ ใจกว้าง จริงใจ มุ่งมั่น เมตตา เมื่อให้เกียรติ ผู้คนจะไม่ดูแคลน เมื่อใจกว้าง จะได้มวลชน เมื่อจริงใจ ผู้คนจะเชื่อถือ เมื่อมุ่งมั่น จะมีผลงาน เมื่อเมตตา จะใช้คนได้”

อ้างอิง แก้

  1. อมร ทองสุก. 2549. คัมภีร์ หลุน-อฺวี่ The Analects of Confucius. พิมพ์ครั้งที่1. บริษัท ชุณหวัตร จำกัด. หน้า 67.
  2. สุวรรณา สถาอานันท์. 2554. คัมภีร์หลุนวี่ : ขงจื่อสนทนา. พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ : โอเพ่นบุ๊กส์.
  3. "Baike". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-16. สืบค้นเมื่อ 2015-03-31.