งักฮุย (สำเนียงแต้จิ๋ว) หรือ เยว่ เฟย์ (สำเนียงจีนกลาง) (จีนตัวย่อ: 岳飞; จีนตัวเต็ม: 岳飛; พินอิน: Yuè Fēi; 24 มีนาคม ค.ศ. 1103 - 27 มกราคม ค.ศ. 1142) เป็นนักรบกู้ชาติคนสำคัญซึ่งมีชื่อเสียงมากผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์ประเทศจีน มีชีวิตอยู่ในยุคราชวงศ์ซ่งใต้ เป็นแม่ทัพผู้ต่อต้านการรุกรานของชนเผ่าจิน[1] ถูกใส่ความโดยศัตรูทางการเมืองจนต้องโทษประหารชีวิต หลังจากนั้นจึงได้รับยกย่องเป็นแบบอย่างแห่งความซื่อสัตย์ในวัฒนธรรมจีน ในปี ค.ศ. 1134 จักรพรรดิซ่งเกาจงได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น อู่ชางเสี้ยนไคกว๋อจึ (武昌縣開國子) ถัดมาเดือนกุมภาพันธ์ ปีที่2 ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น อู่ชางจวินไคกว๋อโหว (武昌郡開國侯) ในปีเดียวกันเดือนกันยายนได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น อู่ชางจวินไคกว๋อกง (武昌郡開國公) ภายหลังในปี ค.ศ.1204 จักรพรรดิซ่งหนิงจงได้ยกย่องวีรกรรมของงักฮุยและพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น งักอ๋อง (鄂王) โดยเนื้อความในราชโองการว่า งักฮุยจงรักภักดีสละชีพเพื่อชาติ เกียรติประวัติสืบมา ถึงแม้กลับมารับราชการ ยังไม่เสร็จสิ้นการยกย่องสรรเสริญ พระราชทานบรรดาศักดิ์กรณีพิเศษเป็นอ๋อง “岳飛忠義殉國,風烈如存,雖巳追復原官,未盡褒嘉之典,可特與追封王爵”

งักฮุย
เกิด24 มีนาคม ค.ศ. 1103
อำเภอทางหยิง เมืองอันหยาง มณฑลเหอหนาน
ถึงแก่กรรม27 มกราคม ค.ศ. 1142
หางโจว มณฑลเจ้อเจียง
คู่สมรสหลิวฮูหยิน
หลี่ฮูหยิน
พินอินYuè Fēi

ประวัติ แก้

งักฮุย เกิดในราชวงศ์ซ่งเหนือ บริเวณที่ปัจจุบันนี้ คือ อำภอทางยิง เมืองอันหยาง มณฑลเหอหนาน เมื่อครั้งยังเล็ก ณ บ้าน เกิดของเขาเกิดอุทกภัยใหญ่จากการแตกของเขื่อนกั้นแม่น้ำฮวงโห มารดาของงักฮุยต้องอุ้มบุตรชายไว้ในอ้อมกอด อาศัยซุกตัวอยู่ในโอ่งลอยตามน้ำไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาชีวิตให้รอด

เมื่อล่วงเข้าสู่วัยหนุ่ม ในภาวะที่ประเทศกำลังตกอยู่ในวิกฤตเนื่องจากฮ่องเต้สองพระองค์ของราชวงศ์ซ่งเหนือ คือ ซ่งฮุยจง และซ่งชินจง ถูกพวกจิน (ค.ศ. 1115-ค.ศ. 1234) จับตัวไปเป็นเชลยศึก จนในที่สุดนำมาสู่จุดจบของราชวงศ์ซ่งเหนือ งักฮุยเมื่อพบเห็นกับเหตุการณ์ เช่นนี้จึงตั้งปณิธานกับตัวเองไว้ว่าจะต้องกอบกู้ดินแดนที่สูญเสียและชาติกลับคืนมาให้ได้

ความตั้งใจนี้เมื่อประกอบกับการสนับสนุนมารดา เขาจึงสมัครเข้าเป็นทหารรับใช้ให้กับราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ. 1127 — ค.ศ. 1279) ที่ขณะนั้นฮ่องเต้คือ ซ่งเกาจง ได้ย้ายเมืองหลวงหนีมาทางใต้ จากเปี้ยนเหลียง (ปัจจุบันคือเมืองไคเฟิง) มาอยู่ที่หลินอัน (ปัจจุบันคือเมืองหางโจว)

โดยก่อนที่งักฮุยจะออกจากบ้านไปรับใช้ชาติ มารดาได้สลักอักษรจีน 4 ตัวไว้ที่กลางแผ่นหลังของบุตรชาย ความว่า 精忠報國 จิงจงเป้ากว๋อ (ซื่อตรง ภักดี ตอบแทน ชาติ)

รับราชการ แก้

เมื่อเข้ารับราชการทหาร งักฮุยที่พกความมุ่งมั่นไว้เต็มเปี่ยมก็แสดงความกล้าหาญและสามารถรบชนะสังหารข้าศึกไปเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งผลงานไปเข้าตาแม่ทัพนาม จงเจ๋อ ต่อมาแม่ทัพจงเจ๋อก็ถ่ายทอดวิชาความรู้ในการทำศึกสงครามนานาประการให้กับงักฮุยโดยหมดสิ้น โดยหวังว่างักฮุยจะเป็นกำลังสำคัญในการกู้ชาติต่อไป

หลังจากที่แม่ทัพจงเจ๋อเสียชีวิต งักฮุยก็ได้เป็นผู้สืบทอดในตำแหน่งแม่ทัพต่อ และสร้างผลงานจนได้ดำรงแม่ทัพใหญ่ในตำแหน่ง เจี๋ยตู้สื่อ เมื่ออายุเพียง 32 ปี เท่านั้น แต่ทั้งนี้งักฮุยก็มิได้แสดงอาการยโสโอหังต่อตำแหน่งใหญ่ของตัวเองแต่อย่างใด ครั้งหนึ่งฮ่องเต้เคยออกปากว่าจะสร้างจวนหลังใหม่ให้ งักฮุยกลับตอบปฏิเสธโดยกล่าวตอบฮ่องเต้ไปว่า บ้านเมืองยังไม่สงบ จะให้นึกถึงบ้านตัวเองได้อย่างไร

เมื่อก้าวขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่ ชื่อเสียงของงักฮุยก็ยิ่งขจรขจาย โดยเฉพาะในแง่ของความเข้มงวดและระเบียบวินัยของกองทัพ มีอยู่ครั้งหนึ่งขณะที่ฝึกซ้อมการรบอยู่นั้น เมื่อบุตรชาย (เย่ว์หยุน) ของงักฮุยบังคับม้าศึกควบขึ้นเนินลาดแล้วเกิดบังคับม้าไม่อยู่จนทั้งคนทั้งม้าเสียหลักล้มลง ด้านงักฮุยเมื่อทราบดังนั้นก็มิได้แสดงความอาทรต่อบุตรของตัวเองเหนือกว่าพลทหารนายอื่นแต่อย่างใด ออกคำสั่งให้ดำเนินการลงโทษบุตรชายของตนไปตามกฎระเบียบ

มากกว่านั้น สิ่งที่ทำให้กองทัพของงักฮุยครองใจชาวบ้านมากไปกว่านั้นก็คือ ความซื่อสัตย์ และ ซื่อตรง

เมื่อพบว่าพลทหารขอเชือกปอจากชาวบ้านหนึ่งเส้นเพื่อนำมามัดไม้ฟืน งักฮุยก็สั่งให้ลงโทษพลทหารผู้นั้น ขณะที่เมื่อกองทัพของงักฮุยผ่านไปยังหมู่บ้านใดก็จะตั้งค่ายนอนกันริมทาง แม้ชาวบ้านเชิญให้เหล่าทหารเข้าไปพักผ่อนในบ้านอย่างไรก็ไม่ยินยอม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่เลื่องลือกันไปทั่วว่าในกองทัพของงักฮุยมีคำขวัญที่ได้รับการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดประการหนึ่ง คือ

"แม้ต้องหนาวตายก็ไม่ขอเบียดเบียนบ้านชาวประชา แม้ต้องอดตายก็จะไม่ปฏิบัติตัวเยี่ยงโจร - ขโมย"

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างงักฮุยกับเหล่าทหารในกองทัพก็เป็นไปด้วยความแนบแน่นยิ่ง โดยเมื่อมีพลทหารคนใดป่วยงักฮุยก็จะไปเยี่ยมด้วยตัวเอง พร้อมส่งคนไปให้การดูแลครอบครัวของพลทหารผู้นั้น ขณะที่หากเบื้องบนตบรางวัลอะไรให้มา งักฮุยก็จะจัดสรรแบ่งปันให้พลทหารของตนอย่างเท่าเทียมโดยที่ไม่คำนึงว่าจะเหลือตกถึงตนเองหรือไม่

ด้วยเหตุฉะนี้ กองทัพของงักฮุยจึงมีความแข็งแกร่งอย่างยิ่ง และเมื่อประกอบกับความรู้ความสามารถในด้านสงครามของงักฮุยแล้วก็ทำให้ในการรบทุกครั้งกับชนเผ่าจินนั้น กองทัพงักฮุยได้รับชัยชนะอยู่เสมอๆ จนพวกจินนั้นเกิดความเกรงกลัวอย่างมาก จนกระทั่งมีคำกล่าวกันว่า "โยกภูเขานั้นง่าย คลอนทัพงักฮุยนั้นยากยิ่ง"

ทัพงักฮุยประสบชัยชนะกรีฑาทัพขึ้นภาคเหนือเพื่อยึดดินแดนคืนได้มากมาย บุกจนกระทั่งตั้งทัพอยู่ห่างจากเมืองหลวงเดิมเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น

ถูกใส่ความ แก้

เมื่อเห็นสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ฉินฮุ่ยขุนนางกังฉิน ผู้ซึ่งประจบสอพลอฮ่องเต้ซ่งเกาจงจนได้ดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี จึงกราบทูลต่อองค์ฮ่องเต้ว่าทัพของงักฮุยนั้นเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสงบศึกกับเผ่าจิน

ด้านฮ่องเต้ซ่งเกาจง ก็เชื่อในคำของฉินฮุ่ย และออกโองการบัญชาให้งักฮุยถอนทัพกลับมายังเมืองหลวง ทางฝั่งงักฮุยแม้จะทักท้วงและออกอาการดื้อดึงเช่นไรก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งพระบัญชาของฮ่องเต้ส่งมาเป็นฉบับที่ 12 งักฮุยจึงถอดใจ พร้อมกับทอดถอนใจรำพึงกับตัวเองด้วยความช้ำใจอย่างสุดแสนว่า ความพากเพียร 10 ปีของตนกลับต้องกลายเป็นเพียงเถ้าธุลีในพริบตา

เมื่องักฮุยปฏิบัติตามพระบัญชาถอนทัพกลับมายังเมืองหลวง ฉินฮุ่ยก็ใส่ร้ายว่างักฮุยนั้นมักใหญ่ใฝ่สูง คิดการณ์ใหญ่จะก่อกบฏล้มล้างราชสำนัก งักฮุยได้ฟังดังนั้นก็ไม่โต้ตอบอะไรด้วยคำกล่าวอะไร เพียงแต่คลายชุดท่อนบนของตนออก เผยให้ฉินฮุ่ยเห็นถึงคำว่า "จิงจงเป้ากว๋อ" อักษรสี่ตัวที่มารดาสลักไว้ด้านหลัง ขุนนางกังฉินเมื่อเห็นดังนั้นก็ชะงัก เอ่ยปากอะไรไม่ออกแม้แต่คำเดียว

อย่างไรก็ตาม ฉินฮุ่ยก็ยังไม่ยอมลดละความพยายามในการป้ายสีงักฮุยต่าง ๆ นานา แม้จะตรวจไม่พบความผิดใด ๆ ก็ตาม แต่ในที่สุดฉินฮุ่ยก็ปั้นเรื่องจนทำให้งักฮุยต้องถูกโทษประหารในที่สุด โดยเมื่อมีขุนนางฝ่ายงักฮุยคนอื่น ๆ ทักท้วง และตั้งคำถามฉินฮุ่ยว่ามีหลักฐานในการกล่าวโทษงักฮุยหรือไม่ ฉินฮุ่ยก็ตอบว่า "อาจจะมีก็ได้" คำตอบของฉินฮุ่ยที่ว่า "อาจจะมีก็ได้" นี้ ภายหลังกลายเป็นศัพท์ที่ถูกจารึกไว้ต่อ ๆ มาว่ามีความหมาย คือการให้ร้ายผู้อื่นโดยปราศจากหลักฐาน

ด้านครอบครัว แก้

  • สมรส

งักฮุยแต่งงานสองครั้ง โดยครั้งแรกตอนอายุ 18 กับภรรยาแซ่หลิว หลังจากนั้น 1 ปีให้กำเนิดงักฮุง (岳雲) ถัดมาอีก 7 ปีให้กำเนิดงักลุย (岳雷) ภายหลังงักฮุยรับราชการทหารออกชายแดนตลอดประกอบบ้านเกิดถูกกิมก๊กยึดครองขาดการติดต่อ งักฮุยอายุประมาณ 26-27 ได้แต่งานใหม่อีกครั้งกับภรรยาแซ่หลี่ให้กำเนิดบุตรอีก 3 คนคือ งักเส็ง (岳霖), งักซึง (岳震), งักซัง (岳霆)

  • บุตร
    • งักฮุง (岳雲)
    • งักลุย (岳雷)
    • งักเส็ง (岳霖)
    • งักซึง (岳震)
    • งักเท็ง (岳霆)
  • บุตรี
    • งักอางเนี้ย (岳安娘)
    • งักเซียวเออ (岳孝娥)
  • หลาน
    • งักโพว (岳甫) บุตรของงักฮุง
    • งักซิง (岳申) บุตรของงักฮุง
    • งักกอ (岳珂) บุตรของงักเส็ง

ได้รับการยกย่อง แก้

ทั้งนี้ในวันที่งักฮุยถูกประหารชีวิต ก็มีพลเมืองดีที่รู้เรื่องราวและเคารพรักในตัวงักฮุยนำศพของเขามาทำพิธีฝังศพ โดยเวลาต่อมาได้มีการเคลื่อนย้ายหลุมฝังศพของงักฮุยมาตั้งไว้ริมทะเลสาบซีหู ณ เมืองหางโจว

ณ ปัจจุบัน ศาลเจ้างักฮุยที่ริมทะเลสาบซีหู เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของจีน พร้อมกับได้มีการสร้างรูปปั้นทองแดงฉินฮุ่ยและภรรยาเพื่อให้ผู้คนถุยน้ำลายใส่เพื่อเป็นการประณามด้วย[2]

งักฮุย ได้รับยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ มาอย่างช้านาน จนกระทั่งในยุคราชวงศ์ชิงจึงมีการเปลี่ยนเป็นกวนอู ด้วยเหตุผลทางการเมือง เนื่องจากชาวแมนจู ซึ่งเป็นผู้ปกครองในยุคราชวงศ์ชิง ต้องการให้ชาวฮั่น ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่เลิกอุดมการณ์ในการต่อต้านตน เนื่องจากงักฮุยนั้นมีศัตรูคู่แค้นคือ ชนเผ่านอกด่าน แต่ขณะที่กวนอูและจ๊กก๊กไม่มีพฤติกรรมเช่นนี้ ซ้ำบางครั้งยังใช้ชนต่างเผ่าเป็นประโยชน์เสียด้วยซ้ำ[3]

อ้างอิง แก้