ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน

ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Chiroptera
วงศ์: Pteropodidae
สกุล: Pteropus
สปีชีส์: P.  vampyrus
ชื่อทวินาม
Pteropus vampyrus
(Linnaeus, 1758)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง[1]
  • Pteropus caninus Blumenbach, 1797
  • Pteropus celaeno Hermann, 1804
  • Pteropus edulis É. Geoffroy, 1810
  • Pteropus funereus Temminck, 1837
  • Pteropus javanicus Desmarest, 1820
  • Pteropus kalou É. Geoffroy, 1810
  • Pteropus kelaarti Gray, 1870 [skull, not skin]
  • Pteropus kopangi Kuroda, 1933
  • Pteropus lanensis Mearns, 1905
  • Pteropus malaccensis K. Andersen, 1908
  • Pteropus natunae K. Andersen, 1908
  • Pteropus nudus Hermann, 1804
  • Pteropus phaiops Gray, 1870 [not Temminck, 1825]
  • Pteropus pluton Temminck, 1853
  • Pteropus pteronotus Dobson, 1878
  • Pteropus sumatrensis Ludeking, 1862

ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน (อังกฤษ: Large flying fox, Greater flying fox, Malayan flying fox, Malaysian flying fox, Large fruit bat) เป็นค้างคาวชนิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก [2]มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pteropus vampyrus อยู่ในวงศ์ Pteropodidae หรือค้างคาวผลไม้

เป็นค้างคาวขนาดใหญ่ มีหัวคล้ายหมาจิ้งจอก มีดวงตาโต จมูกและใบหูเล็ก ขนสีน้ำตาลแกมแดง และมีเล็บที่แหลมคมสามารถเกาะกิ่งไม้ได้ โดยจะใช้เล็บของนิ้วที่ 2 ที่เหมือนตะขอเป็นหลักในการป่ายปีนและเคลื่อนไหว มีฟันทั้งหมด 36 ซี่ ที่เขียนเป็นสูตรได้ว่า [2] มีปีกสีดำสนิท บินได้เร็วและไกลเหมือนนก เมื่อกางปีกแล้วจะกว้างประมาณ 3 ฟุต หรืออาจยาวได้ถึง 2 เมตร น้ำหนักเต็มที่ 1 กิโลกรัม

เป็นค้างคาวกินผลไม้เป็นหลัก จึงจัดเป็นศัตรูของชาวสวนผลไม้อย่างหนึ่ง บางครั้งจะกินผลไม้แล้วจะปัสสาวะรดใส่ด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ จะกินอาหารคิดเป็นน้ำหนักเกือบ 2 เท่าของน้ำหนักตัว นอกจากแล้วยังกินน้ำหวานหรือน้ำต้อยรวมถึงเกสรของดอกไม้ด้วย จึงมีประโยชน์ในการช่วยผสมเกสรของพืช จะออกหากินตั้งแต่เวลาพลบค่ำจนถึงรุ่งสาง ค้นหาอาหารด้วยการใช้จมูกสูดกลิ่นและดวงตาที่กลมโตสอดส่อง อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง นอนหลับพักผ่อนในเวลากลางวัน โดยห้อยหัวทิ้งลำตัวลงมา โดยใช้ขาหลังเกาะเกี่ยวกับกิ่งไม้ และใช้ปีกห่อหุ้มตัวเอง ทั้งนี้ความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลางของต้นไม้ก็เป็นตัวกำหนดความปลอดภัยของค้าวคาวด้วย โดยปกติแล้วแต่ละตัวจะมีอาณาเขตเป็นของตัวเอง โดยจะมีระยะเว้นห่างกันประมาณ 1 ฟุต และหลบแสงแดด ค้างคาวตัวเมียออกลูกครั้งละ 1 ตัว ฤดูกาลผสมพันธุ์เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน อาจผสมพันธุ์ได้ทั้งปีและครั้งหรือปีละ 2 ครั้ง ตัวผู้จะเริ่มเข้ามาใกล้ตัวเมียและขับไล่ตัวผู้ตัวอื่น ๆ ออกไป อาจมีการต่อสู้กันบ้างเล็กน้อย การผสมพันธุ์จะทำกันวันละหลายครั้งและอาจติดต่อกันหลายวัน โดยตัวผู้ใช้ลิ้นเลียอวัยวะสืบพันธุ์และตามลำตัวของตัวเมียเพื่อกระตุ้น ซึ่งตัวเมียอาจมีการขัดขืน ต่อสู้ หรือบินหนีบ้าง เมื่อออกหากินจะบินเรียงตัวกันเป็นแถว ความยาวอาจยาวได้นับกิโลเมตร ขณะบินจะไม่มีเสียง[3] มีอาณาเขตในการบินหากินตั้งแต่ 15–50 กิโลเมตร เป็นค้างคาวที่บินได้ช้าแต่มีความมั่นคง มีเสียงร้องที่มีความถี่ประมาณ 4–6 กิโลเฮิรตซ์ ใช้ในการสื่อสาร การหาอาหาร การประกาศอาณาเขต รวมถึงการปฏิสัมพันธ์กับค้างคาวตัวอื่นรวมถึงลูกตัวเองด้วย ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝนมีระยะเวลาตั้งท้องราว 4–5 เดือน ลูกค้างคาวจะเกิดราว ๆ ช่วงต้นปี ลูกเล็กจะเกาะตัวแม่ค้างคาวตลอดแม้ขณะบินออกหากิน เมื่อยังเล็กหัวจะยังตั้งตรง แต่เมื่อเติบใหญ่ขึ้นด้วยสรีระทำให้ต้องห้อยหัวลงมากินนมแม่จากหน้าอก หย่านมเมื่ออายุได้ราว 2 เดือน ซึ่งตัวจะมีขนาดใหญ่จนแม่ค้างคาวไม่สามารถรับน้ำหนักไหว แม่ค้างคาวจะให้ลูกของตัวเองเกาะกับกิ่งไม้เองรวมกับลูกค้างคาวตัวอื่น ๆ และป้อนนมให้ก่อนจะบินออกไปหากิน[4]

พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงตองงาและวานูอาตู มักพบในป่าดิบชื้นโดยเฉพาะพื้นที่ ๆ ใกล้ชายฝั่งทะเล หรือพื้น ๆ ที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ซึ่งบางครั้งยังพบในพื้นที่ ๆ ใกล้กับชุมชนของมนุษย์ด้วย[5]

ถือเป็นค้างคาวแม่ไก่ 1 ใน 3 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย[6] และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2546[7] โดยในประเทศไทย สถานที่ ๆ เป็นแหล่งท่องเที่ยวและสามารถพบเห็นค้างคาวแม่ไก่ป่าฝนได้มาก คือ วัดโพธิ์บางคล้า โบราณสถานทางศาสนาในเขตอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยค้างคาวที่นี่มีอาณาเขตหากินไกลไปจนถึงชายแดนประเทศกัมพูชา [8] โดยค้างคาวฝูงนี้เชื่อว่าอาศัยอยู่ที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่ก่อสร้างเมื่อกว่า 200 ปีก่อนแล้ว โดยชาวบ้านที่นี่ในสมัยอดีตนิยมที่จะตีและจับค้างคาวแม่ไก่ป่าฝนมารับประทานกัน แต่ทว่าได้รับการบิณฑบาตจากอดีตเจ้าอาวาส ปัจจุบันจึงเป็นสัตว์ที่ชาวบ้านให้ความเมตตา และรับเลี้ยงดูในตัวที่อ่อนแอหรือแก่ชราที่ตกลงมาจากต้นไม้[4]

ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน มีรายงานเป็นพาหะนำโรคร้ายสู่มนุษย์ คือ ไข้สมองอักเสบ จากเชื้อไวรัสนิปาห์ด้วยการกินผลไม้หรือปัสสาวะรด จากนั้นอาจติดไปสู่มนุษย์โดยตรงหรือผ่านสัตว์อย่างอื่น เช่น หมู ซึ่งในประเทศบังกลาเทศและมาเลเซียมีรายงานผู้เสียชีวิตมาแล้ว แม้ในส่วนของประเทศไทยจะยังไม่มีรายงานของผู้เสียชีวิต แต่ก็อยู่ในส่วนของการเฝ้าระวัง [4]

รูปภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 จาก IUCN
  2. 2.0 2.1 Lekagul B., J. A. McNeely. 1977. Mammals of Thailand. Association for the Conservation of Wildlife, Bangkok, Thailand.
  3. "ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน". มายเฟิร์สเบรน.[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 4.2 ค้างคาวแม่ไก่ ฝูงบินแห่งรัตติกาลของคนบางคล้า, "สัตว์ คน เมือง". สารคดีทางช่องนาว: วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560
  5. ค้างคาวแม่ไก่ฝ่าฝน
  6. "ประชากรและลักษณะทางประชากรของค้างคาวแม่ไก่ในประเทศไทย" (PDF). กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
  7. "สัตว์ป่าคุ้มครอง". มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร.
  8. "อัศจรรย์ฝูงค้างคาวแม่ไก่วัดโพธิ์บางคล้า". คมชัดลึก. 7 January 2016. สืบค้นเมื่อ 5 January 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Pteropus vampyrus ที่วิกิสปีชีส์