ค่ายมรณะซอบีบูร์

ค่ายมรณะซอบีบูร์ (อังกฤษ: Sobibór extermination camp) เป็นค่ายมรณะของนาซีเยอรมันที่ถูกก่อตั้งขึ้นและปฏิบัติการโดยหน่วยเอ็สเอ็สในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองใกล้กับสถานีรถไฟซอบีบูร์ใกล้กับเมืองววอดาวา (Włodawa) ภายในดินแดนกึ่งอาณานิคมของเขตปกครองสามัญในเขตการยึดครองโปแลนด์

พีระมิดที่มีทรายผสมกับขี้เถ้าของมนุษย์ อนุสรณ์สถานของค่าย

ค่ายแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการไรน์ฮาร์ทที่ถูกปกปิดเป็นความลับ ซึ่งเป็นช่วงความร้ายกาจของฮอโลคอสต์ในโปแลนด์ ชาวยิวจากโปแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เชโกสโลวาเกีย และสหภาพโซเวียต (รวมถึงเชลยศึกชาวยิว-โซเวียต)[1][2][3] ได้ถูกโยกย้ายจากทางรถไฟ คนส่วนใหญ่สำลักควันในห้องรมแก๊สที่ถูกพ่นจากท่อไอเสียของเครื่องยนต์เบนซินขนาดใหญ่[4]

มีผู้คนจำนวนอย่างน้อย 200,000 คนถูกสังหารในซอบีบูร์[5] ที่การพิจารณาคดีซอบีบูร์ ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีกับอดีตบุคลากรหน่วยเอ็สเอ็สของค่ายและจัดขึ้นในฮาเกินหลังจากเข้าสู่ยุคสงครามเย็นได้ประมาณสองทศวรรษ ศาสตราจารย์ว็อล์ฟกัง เช็ฟเฟลอร์ ได้ประมาณจำนวนชาวยิวที่ถูกสังหารว่ามีอย่างน้อย 250,000 คน ในขณะที่ กาสไมส์เทอร์ (หัวหน้าแก๊ส) เอริช เบาเออร์ ได้ประมาณว่ามี 350,000 คน[6][7] จำนวนตัวเลขนี้จะทำให้ซอบีบูร์กลายเป็นค่ายมรณะที่ร้ายแรงที่สุดในลำดับที่สี่ รองลงมาจากแบวแชตส์ แตรบลิงกา และเอาช์วิทซ์

นักโทษประมาณ 600 คนพยายามหนีออกจากค่ายระหว่างการก่อจลาจลในวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1943 ประมาณครึ่งหนึ่งสามารถข้ามรั้วกั้นออกไปได้สำเร็จ ในจำนวนนี้มีราว 50 คนที่รอดพ้นจากการถูกจับกลับไปอีก รวมทั้งแซ็ลมา ไวน์แบร์ค และไคม์ เอ็งเงิล สามีของเธอในอนาคต พวกเขาแต่งงานกันในเวลาต่อมาและมีชีวิตอยู่เป็นพยานต่อการก่ออาชญากรรมของนาซี ไม่นานหลังจากการก่อจลาจล เยอรมนีก็ปิดค่าย เกลี่ยพื้นดินให้เรียบ และปลูกต้นสนหลายต้นเพื่อปกปิดพื้นที่ตั้งของค่ายแห่งนี้ ทุกวันนี้สถานที่แห่งนั้นกลายเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ซอบีบูร์ซึ่งจัดแสดงพีระมิดที่เก็บขี้เถ้าและกระดูกที่ถูกบดขยี้ของเหยื่อซึ่งถูกเก็บรวบรวมจากเตาเผาศพ

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2014 ทีมนักโบราณคดีได้ขุดพบซากที่เหลือจากห้องรมแก๊สที่ถูกฝังอยู่ใต้ถนนยางมะตอย นอกจากนี้ในปีเดียวกันยังพบจี้ที่จารึกวลี "ดินแดนอิสราเอล" เป็นภาษาฮีบรู อังกฤษ และอาหรับ มีอายุย้อนไปได้ถึง ค.ศ. 1927; ต่างหู; แหวนแต่งงานที่มีคำจารึกภาษาฮีบรู และขวดน้ำหอมซึ่งเป็นของเหยื่อชาวยิว[8][9]

อ้างอิง แก้

  1. Philip "Fiszel" Bialowitz, Joseph Bialowitz, A Promise at Sobibór: A Jewish Boy’s Story of Revolt and Survival in Nazi-Occupied Poland, University of Wisconsin Press, 2010 .105
  2. Thomas Toivi Blatt, From the Ashes of Sobibor: A Story of Survival, Northwestern University Press, 1997 p.131.
  3. Alan J. Levine,Captivity, Flight, and Survival in World War II, Greenwood Publishing Group, 2000 p.205.
  4. Schelvis 2007, p. 100: Testimony of SS-Scharführer Erich Fuchs about his own installation of the (at least) 200 HP, V-shaped, 8 cylinder, water-cooled petrol engine at Sobibor.
  5. Raul Hilberg. The Destruction of the European Jews. Yale University Press, 1985, p. 1219. ISBN 978-0-300-09557-9
  6. Schelvis 2014, p. 252.
  7. Peter Hayes, Dagmar Herzog (2006). Lessons and Legacies VII: The Holocaust in International Perspective. Northwestern University Press. p. 272. สืบค้นเมื่อ 11 October 2014. Between May 1942 and October 1943 some 200,000 to 250,000 Jews were killed at Sobibor according to the recently published Holocaust Encyclopedia edited by Judith Tydor Baumel.
  8. Ofer Aderet (19 September 2014). "Archaeologists make more historic finds at site of Sobibor gas chambers". Haaretz.com.
  9. Pempel, Kacper (18 September 2014). "Archaeologists uncover buried gas chambers at Sobibor death camp". U.S. สืบค้นเมื่อ 4 April 2018.