ขุนนางญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า คาโซกุ (ญี่ปุ่น: 華族) เป็นชนชั้นขุนนางของจักรวรรดิญี่ปุ่น ปรากฏอยู่ระหว่าง 1869 ถึง 1947 ซึ่งหลังปี 1884 ได้พัฒนาเป็นระบบขุนนางสืบตระกูลเหมือนในยุโรป ระบบนี้เริ่มขึ้นจากกลุ่มคนที่เรียกว่า คุเงะ (公家) ซึ่งเป็นเหล่าข้าราชสำนักที่สูญเสียอิทธิพลไปหลังญี่ปุ่นถูกปกครองโดยโชกุน คุเงะเหล่านี้ได้ร่วมล้มล้างระบอบโชกุนและฟื้นฟูระบอบจักรพรรดิได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1868[1] หลังจากได้รัฐบาลใหม่ที่มีองค์จักรพรรดิเป็นศูนย์กลาง รัฐบาลใหม่ก็แต่งตั้งคุเงะเหล่านี้เข้าไปกำกับดูแลกรมทั้งเจ็ดซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่

สโมสรขุนนาง กรุงโตเกียว ค.ศ. 1912
คาโซกุ, ภาพหมู่

25 กรกฎาคม ค.ศ. 1869 รัฐบาลใหม่ซึ่งนิยมตะวันตกทำการจัดตั้งระบบชนชั้นและจำแนกพลเมืองออกเป็นสามชนชั้นได้แก่ คาโซกุ (ขุนนาง), ชิโซะกุ (อดีตซามูไร) และ เฮมิน (สามัญชน) โดยคนในชนชั้นขุนนางประกอบด้วยบรรดาคุเงะและอดีตไดเมียว ซึ่งในขณะนั้นมีตระกูลคุเงะและอดีตไดเมียวอยู่ทั้งสิ้น 427 ตระกูล และมีมากที่สุดถึง 1,016 ตระกูลในปี 1944[2]

จักรพรรดิเมจิทรงเปิดสมัยประชุมสภาขุนนาง ค.ศ. 1890

ในช่วงแรก ขุนนางทุกคนที่ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องพำนักอยู่ภายในโตเกียวเท่านั้น จนเมื่อมีการตั้งระบบเบี้ยหวัดรายเดือนขึ้นมาในปลายปี 1869 ทำให้คาโซกุจำนวนมากยอมทิ้งตำแหน่งทางการเมือง ต่อมาหลังอิโต ฮิโรบูมิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกลับจากการเยือนยุโรป ก็มีการผลักดันและตราพระราชบัญญัติขุนนาง ค.ศ. 1884 ซึ่งจะมอบบรรดาศักดิ์ขุนนางให้แก่บุคคลผู้มีความโดดเด่นในการทำคุณให้แก่ประเทศ รัฐบาลกำหนดยศขุนนางเป็นห้าขั้น เหมือนบรรดาศักดิ์อังกฤษ คือ:

  1. เจ้าชาย (公爵 โคชะกุ)
  2. มาร์ควิส (侯爵 โคชะกุ)
  3. เคานต์ (伯爵 ฮักชะกุ)
  4. ไวเคานต์ (子爵 ชิชะกุ)
  5. บารอน (男爵 ดันชะกุ)

พระบรมวงศ์ชั้นชินโนและไนชินโนส่วนมากจะได้รับการเฉลิมพระยศเป็น เจ้าราชสกุล (宮 มิยะ) ซึ่งเทียบเท่ากับดยุกในราชวงศ์อังกฤษ หรือเจ้านายทรงกรมของไทย ในขณะที่ประมุขของห้าราชสกุลในเครือฟุจิวะระ (ราชสกุลโคโนเอะ, ทากาสึกาซะ, คุโจ, อิชิโจ และ นิโจ) มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าชายเช่นกัน ส่วนประมุขของตระกูลคุเงะอื่นๆจะได้เป็นมาร์ควิส นอกจากนี้ยังมีการพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นกรณีพิเศษด้วย เช่นประมุขของตระกูลโทกูงาวะก็มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าสืบตระกูล

ระบบขุนนางญี่ปุ่นมีความแตกต่างจากระบบขุนนางในยุโรปจุดหนึ่งตรงที่ว่า การสืบตระกูลในยุโรปจะยึดถือตามสิทธิของบุตรหัวปีเป็นหลักและต้องเป็นทายาทตามกฎหมาย แต่ในญี่ปุ่นนั้นไม่จำเป็นเสมอไป บุตรนอกกฎหมายสามารถสืบตระกูลและทรัพย์สิน เพื่อป้องกันการล่มสลายของสายตระกูล นอกจากนี้ ประมุขตระกูลอาจรับเอาทายาทบุญธรรมมาจากตระกูลอื่นก็ได้ (ซึ่งนิยมทำกันบ่อย) โดยไม่จำเป็นว่าตระกูลทั้งสองต้องมีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด ทายาทบุญธรรมมีสิทธิเหมือนกับทายาททางสายเลือดทุกประการ

หลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นบังคับใช้ในปี ค.ศ. 1946 รัฐธรรรมนูญฉบับใหม่นี้ได้ยกเลิกบรรดาศักดิ์ทั้งหมดของบุคคลที่ไม่ใช่พระราชวงศ์ชั้นสูง

อ้างอิง แก้

  1. Peter Francis Kornicki, The emergence of the Meiji state (1998), p. 115
  2. Kodansha Encyclopedia of Japan, p. 1194.
  • Jansen, Marius B. (2000). The Making of Modern Japan. Cambridge: Harvard University Press. ISBN 978-0-674-00334-7. OCLC 44090600.
  • Lebra, Sugiyama Takie (1993). Above the Clouds: Status Culture of the Modern Japanese Nobility. Berkeley, California: University of California Press. ISBN 978-0-520-07602-0.
  • Wakabayashi, Bob Tadashi (1991). "In Name Only: Imperial Sovereignty in Early Modern Japan". The Journal of Japanese Studies. 17 (1): 25–57.