คางคกโพรงเม็กซิโก

คางคกโพรงเม็กซิโก
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Amphibia
อันดับ: Anura
วงศ์: Rhinophrynidae
Günther, 1859
สกุล: Rhinophrynus
Duméril & Bibron, 1841
สปีชีส์: R.  dorsalis
ชื่อทวินาม
Rhinophrynus dorsalis
Duméril & Bibron, 1841
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ (สีดำ)
ชื่อพ้อง
  • Rhinophrynus dorsalis Duméril & Bibron, 1841
  • Rhinophrynus rostratus Brocchi, 1877
  • Rhinophryne rostratus O'Shaughnessy, 1879

คางคกโพรงเม็กซิโก (อังกฤษ: Mexican burrowing toad, Burrowing toad; ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhinophrynus dorsalis) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดหนึ่ง ในอันดับกบ (Anura)

จัดเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Rhinophrynus และวงศ์ Rhinophrynidae [2]

มีลำตัวกลมและแบนราบ ส่วนหัวหลิมและมีแผ่นหนังที่ปลายของส่วนหัว ตามีขนาดเล็ก ไม่มีแผ่นเยื่อแก้วหู สามารถอ้าปากเพื่อให้ส่วนปลายของลิ้นพลิกกลับและยืดออกมาได้อย่างสะดวกมาก สำหรับกินมดหรือปลวกเป็นอาหาร มีกระดูกสันหลังหน้ากระดูกก้นกบ 8 ปล้อง กระดูกสันหลังมีเซนทรัลเป็นแบบอย่างของโอพิสโธซีลัส กระดูกหัวไหล่เป็นแบบอย่างของอาร์กซิเฟอรัล ไม่มีกระดูกหน้าอก กระดูกแอสทรากาลัสและกระดูกแคลคาเนียมเชื่อมรวมกันเฉพาะตัวและส่วนปลาย ไม่มีกระดูกแทรกระหว่างกระดูกนิ้ว 2 ชิ้นสุดท้าย ลูกอ๊อดมีช่องปากยาวและแคบ ไม่มีจะงอยปากและไม่มีตุ่มฟันบริเวณปาก ช่องเปิดห้องเหงือกมี 2 ช่องอยู่ทางด้านข้างของลำตัว กินอาหารด้วยการกรองเข้าปาก

มีความยาวประมาณ 7.5–8.5 เซนติเมตร อาศัยโดยการขุดโพรงอยู่ในดิน โดยกินแมลงและแมงที่อยู่บนดินเป็นอาหาร ผสมพันธุ์ในแหล่งน้ำขังชั่วคราว โดยจะเป็นการผสมพันธุ์แบบหมู่เป็นกลุ่มก้อนจำนวนมาก โดยตัวผู้ส่งเสียงร้องเรียกตัวเมียขณะลอยตัวอยู่ในน้ำและกอดรัดตัวเมียบริเวณเอว ตัวเมียวางไข่เป็นจำนวนหลายพันฟอง ไข่ไม่ลอยเป็นแพที่ผิวน้ำแต่จะจมลงก้นบ่อ ลูกอ๊อดจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มตั้งแต่ 5-หลายร้อยตัว

พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ใต้สุดของรัฐเท็กซัสในสหรัฐอเมริกา จนถึงคอสตาริกา[3]

อ้างอิง แก้

  1. จาก IUCN
  2. จาก itis.gov (อังกฤษ)
  3. หน้า 322-323, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก โดย วีรยุทธ์ เลาหะจินดา (พ.ศ. 2522) ISBN 978-616-556-016-0

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ คางคกโพรงเม็กซิโก ที่วิกิสปีชีส์