คลองบางเชือกหนัง

คลองบางเชือกหนัง เป็นคลองในกรุงเทพมหานคร ผ่านเขตภาษีเจริญและเขตบางแค มีจุดเริ่มต้นอยู่จากวัดเกาะ ไปสิ้นสุดที่คลองทวีวัฒนา คลองมีความยาว 12 กิโลเมตร ความกว้างเฉลี่ยประมาณ 8–15 เมตร ระดับท้องคลองความลึกเฉลี่ย 2 เมตร คลองสายนี้อยู่ในการดูแลของสำนักการระบายน้ำกรุงเทพ

คลองบางเชือกหนังบริเวณวัดทองบางเชือกหนัง
คลองบางเชือกหนังช่วงตัดกับคลองบางขุนศรี

ประวัติ แก้

คำว่าบางเชือกหนัง บ้างว่า แต่เดิมชาวบ้านนิยมใช้เชือกที่ทำจากหนังวัวหนังควาย ขณะที่สุจิตต์ วงษ์เทศ ระบุว่ามาจากภาษาเขมรว่า บางฉนัง (ឆ្នាំង) หมายถึง "บางหม้อ" หรือ "บางปั้นหม้อ"[1]

ในอดีตคลองนี้น่าจะเป็นคลองธรรมชาติที่แยกย่อยมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม (คลองบางกอกใหญ่ในปัจจุบัน) เนื่องจากคลองมีลักษณะคดเคี้ยวไปมาในช่วงต้นคลอง คลองบางเชือกหนังปรากฏชื่ออยู่ใน กำสรวลสมุทร ในชื่อชุมชนบางฉนัง[2] น่าเชื่อว่าชุมชนนี้มีอาชีพปั้นหม้อขาย[3]

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวจีนมาตั้งถิ่นฐานริมสองฝั่งคลองบางเชือกหนังตอนกลาง อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อใดไม่ทราบแน่ชัด แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏคริสตชนจีนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวน ปลูกหมาก พลู มะพร้าว ฯลฯ และค้าขาย ได้รวมกลุ่มกันและสร้างโรงสวดเล็ก ๆ ชื่อว่า วัดพระตรีเอกานุภาพ[4]

ปัจจุบันคลองบางเชือกหนังมีการเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำ โดยเฉพาะในวันหยุด จะมีเรือให้บริการและเชื่อมไปยังคลองลัดมะยมได้[5]

การใช้ที่ดินริมน้ำ แก้

การใช้ที่ดินริมน้ำในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น การใช้ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย การใช้ที่ดินเกษตรกรรม การใช้ที่ดินเพื่อการศึกษาและศาสนสถาน และการใช้ที่ดินเพื่อสันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ

จำนวนบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่อาศัยอยู่ริมคลองมีทั้งสิ้น 187 ครัวเรือน ในช่วงต้นคลองที่ต่อเนื่องจากคลองมอญมีประชาชนอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง เช่น บริเวณวัดปากน้ำฝั่งเหนือและวัดปากน้ำฝั่งใต้ไปจนถึงวัดพิกุล ถัดจากนั้นประชาชนอยู่อาศัยค่อนข้างเบาบาง ผู้ที่อยู่อาศัยริมคลองสืบเชื้อสายและการถือครองที่ดินจากบรรพบุรุษที่ประกอบอาชีพทำสวน ส่วนการประกอบอาชีพการทำสวนแม้จะน้อยลง แต่ก็ยังเห็นบ้าง ในอดีตพบว่ามีการปลูกขนุน ส้ม มะพร้าว มะม่วง หมาก พลู เป็นต้น ปัจจุบันชาวสวนส่วนใหญ่ปลูกกล้วยไม้ สวนผักและไม้ตัดดอก เช่น เตย ซ่อนกลิ่น กระดังงา ผักบุ้ง คะน้า และเป็นต้น[6]

วัดที่ตั้งอยู่ริมคลอง ได้แก่ วัดเกาะ วัดทองบางเชือกหนัง วัดกำแพง วัดพิกุล วัดตะล่อมและวัดมะพร้าวเตี้ย ในที่ธรณีสงฆ์ของแต่ละวัดมีโรงเรียน

อ้างอิง แก้

  1. "บางเชือกหนัง, บางจาก (ในคลองบางหลวง) กรุงเทพฯ เก่าสุด ก่อนเมืองบางกอก". มติชน.
  2. วราภรณ์ มนต์ไตรเวศย์. "เรือยาวคลองบางเชือกหนัง". วารสารภาษาและวัฒนธรรม.
  3. "กว่า 500 ปีก่อน ชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ อยู่ที่ไหนบ้าง ?". ศิลปวัฒนธรรม.
  4. "ยานตลิ่งชัน : ประวัติ ศาสตร์ พัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลง" (PDF).
  5. "การสำรวจคลองบางเชือกหนัง". สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-22. สืบค้นเมื่อ 2021-12-22.
  6. ธีระศักดิ์ ลอยศักดิ์. "การวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวและชุมชนคลองบางเชือกหนัง กรุงเทพมหานคร" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.