คฤหาสน์ภูมิฐาน (อังกฤษ: Stately home) ตามความหมายที่จำกัดแล้วหมายถึงคฤหาสน์ขนาดใหญ่ประมาณ 500 แห่งที่สร้างในหมู่เกาะอังกฤษระหว่างกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 มาจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่รวมทั้งสำนักสงฆ์และคริสต์ศาสนสถานอื่น ๆ ที่เปลี่ยนมือมาเป็นของฆราวาสหลังการยึดอารามโดยสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 16

คฤหาสน์วิลท์ตัน” ที่รู้จักกันจากฉากเต้นรำในภาพยนตร์เรื่อง “Sense and Sensibility”

การเรียกว่า “คฤหาสน์ภูมิฐาน” ก็เพื่อเป็นการแสดงความแตกต่างจากสิ่งก่อสร้างที่เรียกกันว่า “ปราสาท” (แม้ว่าคฤหาสน์ภูมิฐานบางแห่งจะยังเรียกตัวเองว่า “ปราสาท”) ตามความหมายทางสถาปัตยกรรมหรือการก่อสร้าง เพื่อเป็นการแสดงว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยมิใช่เพื่อประโยชน์ทางการทหาร “คฤหาสน์ภูมิฐาน” มิใช่เป็นแต่เพียงที่อยู่อาศัยแต่เป็นการแสดงสัญลักษณ์แสดงฐานะ (status symbol) ของผู้เป็นเจ้าของตระกูลของผู้เป็นเจ้าของด้วย ซึ่งต่างก็แข่งกันสร้างเพื่อใช้ในการรับรองพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ หรือในการรับรองบุคคลสำคัญ ๆ อื่นที่มีความสำคัญในทางสังคมหรือการเมือง

สถาปนิกและสถาปนิกสวนภูมิทัศน์เช่นโรเบิร์ต อาดัม, เซอร์ชาร์ลส์ แบร์รี, เซอร์เอ็ดวิน ลูเต็นส (Edwin Lutyens), เซอร์จอห์น แวนบรูห์[1], ลานเซลอต บราวน์ และฮัมฟรีย์ เร็พตัน (Humphry Repton) และอื่น ๆ ต่างก็มีบทบาทในการก่อสร้างดังที่ว่านี้ นอกจากนั้นการแสดงความสง่างามภายนอกแล้ว ภายในก็จะตกแต่งด้วยศิลปะและเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นงานสะสมหรือไปสรรหากันมาโดยเฉพาะ

การสร้าง “คฤหาสน์ภูมิฐาน” มาสิ้นสุดลงหลังจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีผลกระทบกระเทือนต่อฐานะทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปที่รวมทั้งการมยุบตัวของอุตสาหรรรมและของเกษตรกรรมในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19, สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และต่อมาสงครามโลกครั้งที่สอง ในปัจจุบัน “คฤหาสน์ภูมิฐาน” จึงมักจะเป็นการผสมระหว่างการเป็นสถานที่ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม, พิพิธภัณฑ์ที่อยู่อาศัย, พิพิธภัณฑ์เฉพาะทางเช่นพิพิธภัณฑ์ราชรถ หรือบ้านหรือปราสาทที่เป็นที่พำนักอาศัยของตระกูลที่บางส่วนก็ทรุดโทรมลงไปบ้างแล้ว

“คฤหาสน์ภูมิฐาน” อาจจะบริหารโดยองค์การต่างๆ ดังนี้:

:* องค์การอนุรักษ์แห่งอังกฤษ (English Heritage)
:* องค์การเพื่อการอนุรักษ์สิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญและความสวยงามแห่งชาติ (National Trust for Places of Historic Interest or Natural Beauty)
:* คฤหาสน์คุณค่าแห่งอังกฤษ (Treasure Houses of England)
:* องค์การพิทักษ์ที่หมายตา (The Landmark Trust)
:* องค์การประวัติศาสตร์แห่งสกอตแลนด์ (Historic Scotland)
:* องค์การพิทักษ์แห่งชาติสกอตแลนด์ (The National Trust for Scotland )

แต่ก็ยังมี “คฤหาสน์ภูมิฐาน” อีกเป็นอันมากที่ยังเป็นการบริหารส่วนบุคคลหรือโดยองค์กรผู้พิทักษ์ (trust) ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและอนุรักษ์คฤหาสน์ขนาดใหญ่เหล่านี้เป็นที่ร่ำลือกันว่าเป็นจำนวนอันมหาศาลและเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด เจ้าของหลายคนจึงจำต้องหาวิธีต่างที่นำมาซึ่งรายได้พิเศษในการจุนเจือ เช่น โดยการให้เช่า หรือให้จ้างใช้เป็นฉากสำหรับการสร้างภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์ ฉะนั้น “คฤหาสน์ภูมิฐาน” บางแห่งจึงดูคุ้นตาแม้แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยมาชมด้วยตนเอง นอกจากตัวคฤหาสน์แล้ว บริเวณรอบ ๆ ก็อาจมักจะมีสิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ สำหรับนักท่องเที่ยวเช่น สวนภูมิทัศน์, สิ่งก่อสร้างตกแต่ง, ฟาร์มสัตว์, ซาฟารีพาร์ค หรือพิพิธภัณฑ์เป็นต้น

ที่มาของคำ แก้

ที่มาของวลีว่า “stately home” ในการเรียกคฤหาสน์ภูมิฐานของภาษาอังกฤษมาจากที่ใช้ในโคลง “คฤหาสน์ของอังกฤษ” (The Homes of England) ที่เดิมพิมพ์ในวรสาร “Blackwood's Magazine” โดยเฟลิเชีย เฮแมนสในปี ค.ศ. 1827 ที่กล่าวชมความงามอันเลอเลิศของคฤหาสน์ภูมิฐานท่ามกลางหมู่ไม้อันเก่าแก่ของบรรพบุรุษอันเหนือสิ่งใดในแผ่นดินว่า:

The stately Homes of England,
How beautiful they stand,
Amidst their tall ancestral trees,
O’er all the pleasant land!

โนเอล โคเวิร์ด (Noel Coward) เขียนล้อโคลงเดียวกันนี้ว่าเป็นคฤหาสน์ที่งดงามที่แสดงความมีอำนาจของชนชั้นสูงที่ยังมีเหนือกว่าผู้ใดว่า:

The stately homes of England,
How beautiful they stand,
To prove the upper classes
Have still the upper hand.

ต่อมาโคเวิร์ดเปลี่ยนเนื้อใหม่ที่ประชดว่าเป็นคฤหาสน์ที่อังกฤษยังคงรักษาไว้เพื่อให้ชาวอเมริกันเช่า:

The stately homes of England we proudly represent,
We only keep them up for Americans to rent....

เจ้าของคฤหาสน์เองมักจะไม่ใช้คำว่า “คฤหาสน์ภูมิฐาน” ในการกล่าวถึงที่พักอาศัยที่ว่านี้ แต่มักจะใช้คำว่า “คฤหาสน์ชนบท” (country house) “คฤหาสน์ภูมิฐาน” จึงมักจะใช้ในทางธุรกิจหรือโดยบุคคลภายนอกเท่านั้น

คฤหาสน์ที่เกี่ยวข้องกับคฤหาสน์ภูมิฐาน แก้

:* คฤหาสน์ประวัติศาสตร์ (Historic house)
:* คฤหาสน์คุณค่าแห่งอังกฤษ (Treasure Houses of England)
:* คฤหาสน์มาเนอร์ (Manor House)
:* คฤหาสน์ชนบท (Country house)
:* คฤหาสน์สำคัญ (Great house)

อ้างอิง แก้

  1. Britannica online encyclopedia: Sir John Vanbrugh (British dramatist and architect)[1]

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ คฤหาสน์และบ้านในอังกฤษ   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ คฤหาสน์ประวัติศาสตร์ในอังกฤษ