คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาโรคต่าง ๆ ในเขตร้อน เป็นคณะด้านนี้แห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นคณะที่มีผลงานวิจัยจำนวนมากตีพิมพ์ในวารสารระดับโลก[1] นอกจากนี้ คณะยังมีโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน [1] ที่เปิดให้การรักษาพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคเขตร้อน อายุรกรรมทั่วไป และอายุรกรรมเฉพาะทางหลากหลายสาขา

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน
มหาวิทยาลัยมหิดล
Faculty of Tropical Medicine, Mahidol University
สถาปนา6 เมษายน พ.ศ. 2503 (64 ปี)
คณบดีผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ
ที่อยู่
420/6 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
สี  สีแดง
เว็บไซต์www.tm.mahidol.ac.th

ประวัติ แก้

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งขึ้นโดยการริเริ่มของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์จำลอง หะริณสุต และศาสตราจารย์ แพทย์หญิงคุณหญิงตระหนักจิต หะริณสุต[2] จากแนวคิดที่ว่า หลักสูตรแพทยศาสตร์ของประเทศไทยในสมัย 50 ปีก่อน ไม่มีการเรียนการสอนเฉพาะทางโรคเขตร้อน แพทย์ผู้ที่สนใจจะศึกษาต่อเฉพาะทางโรคเขตร้อนต้องเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีสถาบันที่มีชื่อเสียงเรื่องโรคเขตร้อนตั้งอยู่ ทั้ง ๆ ที่แพทย์ไทยมีความจำเป็นต้องให้บริการตรวจและรักษาคนไข้ด้วยโรคเขตร้อนอยู่เสมอ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แนวคิดของท่านทั้งสองที่จะจัดให้มีสถาบันโรคเมืองร้อนขึ้นในประเทศไทยนั้น มีผู้เห็นด้วยและได้รับการสนับสนุนจากบุคคลสำคัญหลายท่านในขณะนั้น ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ศาสตราจารย์ บี จี มีเกรท คณบดีสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ดร.กำแหง พลางกูร เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

ในที่สุดจึงได้มีการก่อตั้งคณะอายุรศาสตร์เขตร้อน (ชื่อเดิม) ขึ้นในสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (หรือมหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2503 โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อ "สอนและอบรมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความรู้ความชำนาญในการบำบัด รักษา และป้องกันโรคเขตร้อน ทำการศึกษาวิจัยค้นคว้าเพื่อการแก้ปัญหาโรคเขตร้อน ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ พร้อมทั้งให้บริการรักษาผู้ป่วย รับปรึกษาให้คำแนะนำแก่แพทย์ และสถาบันการแพทย์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องโรคเขตร้อน"

ในช่วงแรกของการก่อตั้ง คณะอายุรศาสตร์เขตร้อนมีสำนักงานชั่วคราวอยู่ที่โรงเรียนเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปีต่อมาเมื่อการก่อสร้างตึกเวชกรรมเมืองร้อนที่ถนนราชวิถีแล้วเสร็จ จึงได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ ณ สถานที่ปัจจุบัน โดยให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยควบคู่ไปกับการเรียนการสอนและการค้นคว้าวิจัย เริ่มแรกจัดตั้งมีเพียง 5 แผนกวิชา และแผนกธุรการ ได้แก่ แผนกอายุรศาสตร์เขตร้อน แผนกพยาธิโปรโตซัว แผนกปรสิตหนอนพยาธิ แผนกกีฏวิทยาการแพทย์ แผนกสุขวิทยาเขตร้อน และแผนกธุรการ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 ได้เปิดอาคารโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนเพื่อให้บริการผู้ป่วย โดยเริ่มจากโรงพยาบาลขนาด 20 เตียง ต่อมาขยายเป็น 100 เตียง จนเป็น 250 เตียงในปัจจุบัน

ในระยะ 7 ปี แรกของการเรียนการสอน คณะอายุรศาสตร์เขตร้อนเปิดรับสมัครแพทย์ชาวไทยเข้าเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรอายุรศาสตร์เขตร้อนและสุขวิทยา (Graduate Diploma in Tropical Medicine and Hygiene หรือ D.T.M.&H.) ในปี พ.ศ. 2508 มีการก่อตั้งองค์การรัฐมนตรีศึกษาธิการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization หรือ SEAMEO เรียกชื่อย่อเป็นภาษาไทยว่า องค์การซีมีโอ) ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาหลังปริญญาในสาขาอายุรศาสตร์เขตร้อน ดังนั้นในปี พ.ศ. 2510 รัฐบาลไทยจึงตั้งให้คณะอายุรศาสตร์เขตร้อนเป็นศูนย์อายุรศาสตร์เขตร้อนและสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (The National Center for Tropical Medicine and Public Health) เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนและฝึกอบรมด้านโรคเขตร้อนให้แก่ประเทศสมาชิกขององค์การซีมีโอ ขณะเดียวกันคณะเวชศาสตร์เขตร้อนเป็นที่ตั้งของศูนย์ประสานงานโครงการภูมิภาคเวชศาสตร์เขตร้อนและสาธารณสุขของซีมีโอ (SEAMEO-TROPMED Network) การจัดการเรียนการสอนจึงได้เปลี่ยนไปเป็นระดับนานาชาติ โดยเฉพาะหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตอายุรศาสตร์เขตร้อนและสุขวิทยา (Graduate Diploma in Tropical Medicine and Hygiene หรือ D.T.M.&H.) ได้มีการแก้ไขและปรับปรุงโดยผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์จากสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งสหราชอาณาจักร (Liverpool School of Tropical Medicine) ทำให้คณะอายุรศาสตร์เขตร้อนเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นโรงเรียนแพทย์เวชศาสตร์เขตร้อนในระดับนานาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คณะอายุรศาสตร์เขตร้อนได้เปลี่ยนชื่อเป็น "คณะเวชศาสตร์เขตร้อน" ในปี พ.ศ. 2518 และต่อมาในปี พ.ศ. 2536 คณะฯ ได้รับการยกฐานะเป็นศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตตร์เขตร้อนของซีมีโอ (SEAMEO Regional Center for Tropical Medicine) โดยมีหน้าที่รับผิดชอบสำคัญด้านการสอนในระดับหลังปริญญา ให้แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศสมาชิกของซีมีโอ รวม 10 ประเทศ

คณะเวชศาสตร์เขตร้อนมีการพัฒนาการมาเป็นลำดับ จากเดิมที่มีเพียง 5 แผนกวิชา ปัจจุบันประกอบด้วย 11 ภาควิชา 5 สำนักงาน 4 ศูนย์ความเป็นเลิศ รวมทั้งโรงพยาบาล 1 แห่ง นอกจากนี้ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ได้รับมอบหมายจากองค์การระหว่างประเทศให้เป็นที่ตั้งของศูนย์ร่วมมือทางวิชาการ ดังนี้

  1. SEAMEO-TROPMED Network [2]
  2. Mahidol-Oxford Tropical Medicine Research Unit (MORU) [3]
  3. WorldWide Antimalarial Resistance Network (WWARN) - Asia Regional Centre [4]
  4. Mahidol-Osaka Center for Infectious Disease (MOCID) [5] เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. BIKEN Endowed Department of Dengue Vaccine Development [6]
  6. Malaria Consortium - Regional Office for Asia [7]
  7. Silom Community Clinic at Trop Med (SCC@TropMed) [8]

ปณิธาน

คณะเวชศาสตร์เขตร้อนเป็นสถาบันวิชาชีพชั้นสูงในมหาวิทยาลัย ให้การศึกษาวิชาเวชศาสตร์เขตร้อนแก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อสนองความต้องการของสังคมด้านสาธารณสุขของประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มุ่งเสาะแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์การแพทย์ประยุกต์ รวบรวม เผยแพร่ และถ่ายทอดความรู้เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการในสาขานี้ ในด้านการบริการชุมชน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ทำการตรวจวินิจฉัยรักษาป้องกันโรคเขตร้อนและส่งเสริมสุขอนามัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อนมีจุดมุ่งหมายที่จะปลูกฝัง ให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาเวชศาสตร์เขตร้อน สามารถนำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาสาธารณสุขของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมชนบท มีความรอบรู้ ความคิดริเริ่ม ใฝ่รู้อยู่เสมอ รอบคอบ รู้จักตนและหน้าที่รับผิดชอบ มีศีลธรรมและเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม

ทำเนียบคณบดี แก้

ตั้งแต่เปิดทำการสอน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล มีคณบดีดำรงตำแหน่งในสังกัดต่างๆของคณะ ตามลำดับต่อไปนี้ [3]

คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์นายแพทย์จำลอง หะริณสุต 15 เมษายน พ.ศ. 2503 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2504
2. ศาสตราจารย์แพทย์หญิงตระหนักจิต หะริณสุต (รักษาการ) 15 สิงหาคม พ.ศ. 2504 - 16 มีนาคมพ.ศ. 2505
3. ศาสตราจารย์นายแพทย์จำลอง หะริณสุต 16 มีนาคม พ.ศ. 2505 - 30 กันยายน พ.ศ. 2525
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
4. ศาสตราจารย์นายแพทย์สันต์ศิริ ศรมณี 1 ตุลาคม พ.ศ. 2525 - 30 กันยายน พ.ศ. 2529

1 ตุลาคม พ.ศ. 2529 - 30 กันยายน พ.ศ. 2533

5. ศาสตราจารย์นายแพทย์แทน จงศุภชัยสิทธิ์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2533 - 30 กันยายน พ.ศ. 2537

1 ตุลาคม พ.ศ. 2537 - 30 กันยายน พ.ศ. 2539

6. ศาสตราจารย์นายแพทย์ศรชัย หลูอารีย์สุวรรณ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2539 - 30 กันยายน พ.ศ. 2543

1 ตุลาคม พ.ศ. 2543 - 30 กันยายน พ.ศ. 2547

7. รองศาสตราจารย์นายแพทย์ประตาป สิงหศิวานนท์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2547 - 30 กันยายน พ.ศ. 2551

1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 - 30 กันยายน พ.ศ. 2555

8. ศาสตราจารย์แพทย์หญิงเยาวลักษณ์ สุขธนะ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 - 30 กันยายน พ.ศ. 2559 [4]
9. รองศาสตราจารย์นายแพทย์ประตาป สิงหศิวานนท์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 - 30 กันยายน พ.ศ. 2562 [5]
10. รองศาสตราจารย์นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน

หลักสูตร[6] แก้

ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต 2 หลักสูตร แก้

  • หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาอายุรศาสตร์เขตร้อนและสุขวิทยา (Graduate Diploma in Tropical Medicine and Hygiene; D.T.M.&H.)
  • หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาสารสนเทศศาสตร์ชีวเวชและสุขภาพ (Graduate Diploma in Biomedical and Health Informatics; D.B.H.I.)
  • หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล 1 ปี

(Practical Nurse P.N.)

ระดับปริญญาโท 5 หลักสูตร แก้

  • หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน [Master of Science in Tropical Medicine; M.Sc.(Trop.Med.)]
  • หลักสูตรอายุรศาสตร์เขตร้อนคลินิกมหาบัณฑิต (Master of Clinical Tropical Medicine; M.C.T.M.)
  • หลักสูตรอายุรศาสตร์เขตร้อนคลินิกมหาบัณฑิต สาขากุมารเวชศาสตร์เขตร้อน [Master of Clinical Tropical Medicine in Tropical Pediatrics; M.C.T.M.(Trop.Ped.)]
  • หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสารสนเทศศาสตร์ชีวเวชและสุขภาพ {Master of Science in Biomedical and Heath Informatics; [M.Sc.(B.H.I.]}
  • หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาอนามัยโรงเรียน [Master of Science (School Health)]

ระดับปริญญาเอก 2 หลักสูตร แก้

  • หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน [Doctor of Philosophy in Tropical Medicine; Ph.D.(Trop.Med.)]
  • หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอายุรศาสตร์เขตร้อนคลินิก [Doctor of Philosophy in Clinical Tropical Medicine; Ph.D.(Clin.Trop.Med.)]


อ้างอิง แก้

  1. http://www.tm.mahidol.ac.th/eng/news-excellence.php
  2. http://www.tm.mahidol.ac.th/eng/news-about.php
  3. http://www.tm.mahidol.ac.th/th/admin/admin-dean-all.php
  4. http://www.uc.mahidol.ac.th/pdf-file/council-statement2555/32-2555.pdf[ลิงก์เสีย]
  5. http://www.uc.mahidol.ac.th/pdf-file/council-statement2559/35-2559.pdf[ลิงก์เสีย]
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-26. สืบค้นเมื่อ 2014-08-25.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้