กุมารี (เนปาล: कुमारी; อังกฤษ: Kumari) คือเทพธิดาผู้มีชีวิตจริงของชาวเนปาล ที่เชื่อว่าเป็นปางหนึ่งของเทวีทาเลจู ซึ่งเป็นปางหนึ่งของเทวีทุรคา ศักติ (ชายา) ของพระศิวะ ซึ่งเป็นหนึ่งในตรีมูรติ (เทพผู้ยิ่งใหญ่ 3 องค์) ที่ดุร้ายเหมือนเทวีกาลี มาจุติเกิด มาจากการสรรหาจากเด็กหญิงจากวรรณะล่าง และเป็นที่เคารพของผู้นับถือศาสนาฮินดู จนกระทั่งเทวีทุรคามาออกจากร่าง ซึ่งจะนับเมื่อเด็กหญิงผู้นั้นมีประจำเดือน หรือได้รับบาดแผลจนมีเลือดออกจากร่างกายเป็นจำนวนมาก

สชานี ศากยะ อดีตกุมารีของเมืองภัคตปุระ

โดยความเชื่อเรื่องกุมารี เป็นการผสมผสมานกันระหว่างความเชื่อในศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาแบบธิเบตหรือวัชรยานในท้องถิ่น มีความเชื่อกระจายทั่วไปในอนุทวีปอินเดีย เช่น อัสสัม, ทมิฬนาฑู, เบงกอล, แคชเมียร์ แต่ที่ได้รับความนิยมและเชื่อถือมากที่สุด คือ เนปาล[1]

ประวัติ แก้

ตามประวัติมีหลักฐานว่า ในประเทศอินเดีย ประเพณีเกี่ยวกับ กุมารีมีมานานมากกว่า 2,600 ปี และเผยแพร่เข้าสู่ประเทศเนปาลในราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 โดยหริ สิงห์ เทวะ ที่หลบหนีมาจากทางอินเดียตอนเหนือ ได้นำความเชื่อนี้ติดตัวมาด้วย แต่มีหลักฐานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรถึงพิธีการคัดเลือกกุมารี การแต่งตัวของกุมารี และความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อกุมารี ไว้เมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 13

ในเนปาล มีตำนานปรัมปราเกี่ยวกับ กุมารีมากมาย แต่ที่เลื่องลือและน่าเชื่อถือที่สุด คือ ตำนานของกษัตริย์เนปาล องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์มัลละ ขณะที่พระองค์กำลังเล่นทอยลูกเต๋า (บางแห่งก็ว่าสะบ้า) กับเทวีทาเลจู เทพผู้ปกป้องรักษาราชวงศ์ของพระองค์ วาบหนึ่งในความนึกคิด พระองค์ทรงหลงใหลในความงดงามของเทวีทาเลจู มาก และทรงคิดว่านางงามกว่ามเหสีของพระองค์เสียอีก ขณะเดียวกัน เทวีทาเลจู ก็อ่านความคิดนั้นออก จึงยุติการเล่นทอยลูกเต๋าทันที นางตำหนิพระองค์ และประกาศว่า ต่อไปนี้ถ้าพระองค์จะพูดคุยกับนางอีก ก็จะไม่อยู่ในร่างของเทวีทาเลจู ให้ทรงเห็น แต่นางจะเป็นเด็กหญิงจากวรรณะล่าง และพระองค์จะต้องออกจากพระราชวังไปสักการะนาง ซึ่งอยู่ในร่างของเด็กหญิงจากวรรณะล่างเท่านั้น

การสรรหากุมารี แก้

การสรรหากุมารี การตรวจดูว่าเด็กหญิงคนนั้นมีลักษณะของเทพ หรือไม่ จะต้องเป็นผู้ที่มีรูปร่างเหมือนต้นกล้วย ขาเหมือนขากวาง หน้าอกเหมือนสิงห์ ลำคอเหมือนหอยสังข์ น้ำเสียงสดใสและอ่อนนุ่ม เมื่อคัดเลือกได้แล้ว เด็กหญิงคนนั้นจะต้องจากครอบครัวของเธอมาอาศัยอยู่กับครอบครัวของผู้ดูแลภายในวังใหญ่ ที่เรียกว่า การ์

กุมารีจะพ้นไปเมื่อเด็กหญิงมีประจำเดือนเป็นครั้งแรก และจะมีการสรรหากุมารีองค์ใหม่ และมีความเชื่อกันว่า ชายผู้ที่เป็นสามีของผู้ที่เคยเป็นกุมารีจะพบกับความหายนะ หรือมีอันเป็นไป ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด[1]

วังของกุมารี แก้

เป็นสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยอิฐ เป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีหน้าต่างไม้เจาะรอบ ๆ สร้างขึ้นตามรูปแบบของวัด ไม้ที่แกะสลักโดยรอบนั้นจะเป็นเรื่องราวของเทพปกรฌัมฮินดู ที่มีอายุกว่า 250 ปี (วังที่เมืองกาฐมาณฑุ) ตามปกติ กุมารีจะต้องเดินบนผ้าชนิดพิเศษ ที่ปูเป็นทางในวัง เนื่องจากมีข้อห้ามไม่ให้เท้าของเธอสัมผัสพื้นดิน นอกจากนี้ กุมารียังถูกห้ามไม่ให้ออกไปเล่นข้างนอก ในช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ยกเว้นเวลาที่ต้องปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชน ในงานเทศกาลสำคัญต่าง ๆ เท่านั้น ซึ่งมีประมาณ 13 ครั้งต่อปี

ชีวิตของกุมารีมีข้อจำกัดข้อห้ามมากมาย แต่เด็กสาวชาวเนปาลส่วนใหญ่ที่เป็นชาวศากยะ ก็ต้องการที่จะเป็นกุมารีเพราะมีเกียรติสูง และครอบครัวของเธอก็จะได้รับการดูแลจากรัฐบาลเป็นอย่างดี

กุมารีของชาวเนปาล จะมีทั้งในเมืองหลวง คือ กาฐมาณฑุ และเมืองสำคัญอื่น ๆ เช่นที่ ปาฏัน หรือภักตปุระ[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 หน้า 44-57, เทพเจ้าผู้มีลมหายใจแห่งเนปาล โดย อิซาเบลลา ทรี. นิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟิก ฉบับภาษาไทย ฉบับที่ 167: มิถุนายน 2558

แหล่งข้อมูลอื่น แก้