สำหรับ Draco ที่หมายถึงกลุ่มดาว ดูที่: กลุ่มดาวมังกร

กิ้งก่าบิน
ภาพวาดการร่อนของกิ้งก่าบินสีฟ้า (D. volans)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Squamata
อันดับย่อย: Sauria
วงศ์: Agamidae
วงศ์ย่อย: Agaminae
สกุล: Draco
Linnaeus, 1758
ชนิด
31 ชนิด

กิ้งก่าบิน (อังกฤษ: Flying dragon, Flying lizard) หรือ กะปอมปีก ในภาษาอีสานและลาว เป็นสกุลของกิ้งก่าในวงศ์ Agaminae ในวงศ์ใหญ่ Agamidae ใช้ชื่อสกุลว่า Draco

กิ้งก่าบินจัดได้ว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีประสิทธิภาพในการร่อนมากที่สุด ด้วยมีแผ่นหนังขนาดใหญ่อยู่ทางด้านข้างลำตัวและได้รับการค้ำจุนด้วยกระดูกซี่โครง 5-7 ซี่ โดยมีกล้ามเนื้ออิลิโอคอสทาลิสทำหน้าที่ดึงกระดูกซี่โครง 2 ซี่แรกไปทางด้านหน้า แต่กระดูกซี่โครงชิ้นอื่นได้เชื่อมต่อกับกระดูกซี่โครงสองซี่แรกด้วยเส้นเอ็น สามารถทำให้แผ่นหนังทั้งหมดกางออกได้ เมื่อเริ่มร่อน ตัวของกิ้งก่าในระยะแรกจะทำมุม 80° ช่วงนี้กิ้งก่าจะยกหางขึ้น ต่อมาจึงลดหางลงและแผ่กางแผ่นหนังด้านข้างลำตัวและทำมุมที่ลงสู่พื้นเหลือ 15° เมื่อลงสู่พื้นหรือเกาะบนต้นไม้ จะยกหางขึ้นอีกครั้งและหมุนตัว

กิ้งก่าบินที่ทิ้งตัวจากต้นไม้สูง 10 เมตร สามารถร่อนได้เป็นระยะทางไกลกว่า 60 เมตร และลงเกาะบนต้นไม้หรือพื้นที่ที่อยู่ต่ำลงได้จากเดิมได้ 2 เมตร

กิ้งก่าบินจัดได้ว่าเป็นกิ้งก่าขนาดเล็ก มีความยาวลำตัวส่วนมากไม่เกิน 20 เซนติเมตร แต่หางจะมีความยาวมากกว่าลำตัว พบกระจายพันธุ์ในป่าของเอเชียใต้ และเอเชียอาคเนย์ เช่น ภาคอีสานในประเทศไทย และพบได้ชุกชุมในป่าดิบของแหลมมลายู มีทั้งหมด 31 ชนิด พบได้ในประเทศไทยหลายชนิด อาทิ กิ้งก่าบินปีกส้ม (D. maculatus), กิ้งก่าบินคอแดง (D. blanfordii), กิ้งก่าบินสีฟ้า (D. volans)[1]

โดยคำว่า Draco นั้น มาจากคำว่า "มังกร" ในภาษาละติน[2] ผู้ที่อนุกรมวิธาน คือ คาโรลัส ลินเนียส[3]

อ้างอิง แก้

  1. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หน้า 118-119 (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0
  2. จาก Google แปลภาษา
  3. จาก ITIS.gov (อังกฤษ)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Draco ที่วิกิสปีชีส์