กิตติศักดิ์ ปรกติ

รองศาสตราจารย์ ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ (เกิด 7 ธันวาคม 2499) เป็นข้าราชการชาวไทย และเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การศึกษา แก้

กิตติศักดิ์ ปรกติ สำร็จการศึกษา นิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาได้รับอนุปริญญาในสาขากฎหมายเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยสทราซบูร์ (University of Strasbourg) ประเทศฝรั่งเศส กับทั้งเป็นนิติศาสตร์มหาบัณฑิตและนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยบอนน์ (University of Bonn) ประเทศเยอรมนี[1][2]

นอกจากสอนกฎหมายแล้ว กิตติศักดิ์เคยเป็นรองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบัน เขายังเป็นประธานสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย[3]

การสนับสนุนความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ แก้

กิตติศักดิ์สนับสนุนการดำรงอยู่ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเห็นควรให้มาตรานี้เป็นส่วนหนึ่งของความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐดังที่เป็นอยู่ ตราบที่ประเทศไทยยังใช้การปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ก็เห็นด้วยว่า ปัจจุบัน โทษจำคุกสิบห้าปีนั้นเกินพอดี และการบังคับใช้มาตรานี้มีปัญหา[4]

การต่อต้านรัฐบาล แก้

กิตติศักดิ์สนับสนุน กปปส. ในการล้มล้างรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เขาขึ้นปราศรัยโจมตีพรรคเพื่อไทยบนเวทีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลหลายครั้ง ทั้งยังสนับสนุนแนวคิดและปฏิบัติการหลายอย่างของ กปปส. เช่น การจัดตั้งสภาประชาชนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งให้มาปฏิรูปประเทศไทย และการยึดสถานที่ราชการซึ่งเขาเห็นว่า เป็นวิถีทางอันสันติ[5][6][7]

วันที่ 20 ธันวาคม 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษอายัดทรัพย์สินของเขาฐานสนับสนุนการเงิน กปปส. และออกหมายเรียกให้เขาไปรายงานตัว[8] ครั้นวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 ศาลอาญาออกหมายจับเขาฐานเป็นกบฏ[9]

กรณีเป็นที่น่าสงสัย แก้

วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 มีการเผยแพร่ในเฟซบุ๊กซึ่งข้อความเปิดเผยว่า กิตติศักดิ์ลอกเลียนผลงานทางวิชาการเรื่อง "กฎหมายเอกรูปเรื่องการซื้อขาย – ประสบการณ์ด้านกฎหมายเอกรูปเรื่องการซื้อขายในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี" (Uniform Sales Law – The Experience with Uniform Sales Laws in the Federal Republic of Germany) ของศาสตราจารย์เพเทอร์ ชเลชลีม (Peter Schlechliem) มาเป็นผลงานของตนเองชื่อ "อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ ค.ศ. 1980" (The United Nations Convention on Contracts for the International Sale of Goods of 1980) จนกลายเป็นกระแสในโลกอินเทอร์เน็ต ครั้นวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 กิตติศักดิ์จึงยอมรับว่าลอกเลียนจริง โดยกล่าวว่าเป็นความผิดของตนเองที่ไม่ได้ระบุชื่อศาสตราจารย์ชเลชลีม และศาสตราจารย์ชเลชลีมเป็นอาจารย์ของตน เขายังกล่าวว่าผลงานที่เขาทำขึ้นนั้นเป็นเพียงเอกสารประกอบการบรรยาย (lecture note) ซึ่งแจกในการบรรยายเท่านั้น ไม่ได้เผยแพร่ทั่วไป[10]

วันที่ 10 พฤษภาคม 2557 ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นกรรมการประเมินความดีความชอบเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนของคณะ เปิดเผยว่ากิตติศักดิ์ได้ยื่นผลงานดังกล่าวเพื่อใช้ประเมินความดีความชอบของตน และเสนอผลงานนี้ในการประชุมระหว่างประเทศด้วย เมื่อคณะกรรมการประเมินความดีความชอบสังเกตเห็นความผิดปรกติ กิตติศักดิ์ชี้แจงว่าเป็นความผิดพลาดของผู้ช่วย เป็นความรีบร้อนไม่ทันระวัง และเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค แต่ประสิทธิ์เห็นว่าฟังไม่ขึ้น เพราะมีการแก้ข้อความเดิมหลายส่วนชนิดที่ถ้ารีบร้อนคงทำไม่ได้และผู้ช่วยคงไม่กล้าทำ นอกจากนี้กิตติศักดิ์ยังชี้แจงว่าที่ทำไปนั้นเพราะต้องการเผยแพร่ผลงานของศาสตราจารย์ชเลชลีม แต่ประสิทธิ์ตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เหตุใดจึงแก้ชื่อศาสตราจารย์ชเลชลีมมาเป็นชื่อตน อย่างไรก็ดีคณะไม่ได้ดำเนินการอย่างไรกับกรณีนี้[11]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "ข้อมูลนักวิชาการ (กิตติศักดิ์ ปรกติ, ผศ.ดร.)". Topscholar. ม.ป.ป. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-07. สืบค้นเมื่อ 2014-05-11. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  2. "เกี่ยวกับคณะ: คณาจารย์". คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ม.ป.ป. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-12. สืบค้นเมื่อ 2014-05-11. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  3. "ประวัติกรรมการสภามหาวิทยาลัย (กิตติศักดิ์ ปรกติ". มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ม.ป.ป. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-05-11. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  4. "กิตติศักดิ์ ปรกติ: ต้องยกย่องสถาบันให้ดำรงอยู่อย่างมีเหตุผลสอดคล้องกับหลัก ปชต". สำนักข่าวอิศรา. 2012-02-06. สืบค้นเมื่อ 2014-05-11.
  5. "กิตติศักดิ์ย้ำสภาประชาชนมีได้ตามรัฐธรรมนูญ รัฐละเมิดประชาชนมีสิทธิปกป้อง". ผู้จัดการ. 2013-11-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-12. สืบค้นเมื่อ 2014-05-11.
  6. "กิตติศักดิ์ ปรกติ ขึ้นเวทีต้านระบอบทักษิณ ชี้เป็นรัฐบาลนอกกฎหมายหลังปฏิเสธศาล รธน". ประชาไท. 2013-11-28. สืบค้นเมื่อ 2014-05-11.
  7. "กิตติศักดิ์อ้างชัยวัฒน์ยึดสถานที่ราชการเป็นสันติวิธีเชิงรุก". ประชาไท. 2013-11-29. สืบค้นเมื่อ 2014-05-11.
  8. "อายัดเพิ่ม 20 แนวร่วม กปปส. กบฏ!". คมชัดลึก. 2013-12-20. สืบค้นเมื่อ 2014-05-11.
  9. "ศาลออกหมายจับ 30 แกนนำ กปปส. รอด 13". ผู้จัดการ. 2014-05-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-14. สืบค้นเมื่อ 2014-05-14.
  10. "ประมวลวิวาทะ เมื่องานวิชาการของกิตติศักดิ์ ปรกติ เหมือนกับผลงานของโปรเฟสเซอร์เยอรมัน?". มติชน. 2014-05-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-12. สืบค้นเมื่อ 2014-05-11.
  11. ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช (2014-05-10). "ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช: ตอบอาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติกรณี Lecture Notes เรื่อง อนุสัญญาว่าด้วยเรื่องซื้อขายระหว่างประเทศ (CISG)". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 2014-05-11.
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-07-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒ ข หน้า ๙๔, ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-07-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๒ ข หน้า ๙๙, ๑๘ มกราคม ๒๕๔๑
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน เก็บถาวร 2022-06-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๑๘ ข หน้า ๒๐๐, ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๕
  15. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2022-07-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๑๕๑, ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๙

แหล่งข้อมูลอื่น แก้