กำแพงแก้ว คือกำแพงเตี้ย ๆ เครื่องก่ออิฐถือปูน สำหรับกั้นเขตแดนออกเป็นสัดส่วน ล้อมเขตที่ตั้งอุโบสถ วิหาร สถูป เจดีย์ หรือ มหาธาตุเจดีย์ พระราชวัง พระที่นั่ง และ พระตำหนัก จากเอกสารโบราณยังพบคำอื่น เช่น ปราการรัตน์ ปราการแก้ว กระแพงรัตน์ ปราการกำแพงรัตน ฯลฯ กำแพงแก้วมีลักษณะเป็นกำแพงเตี้ย อย่างพนักก่ออิฐสูงราว 0.80–1.20 เมตร

กำแพงแก้ววัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
กำแพงแก้วรอบอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร

ส่วนกำแพงแก้วปราสาทขอมในประเทศไทย เป็นกำแพงล้อมปราสาทประธานและบริเวณโดยรอบ หากเป็นศาสนสถานขนาดเล็ก ใช้แนวกำแพงแก้วแทนระเบียงคด แต่หากเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่อาจมีกำแพงแก้วล้อมระเบียงคดอีกที[1]

กำแพงแก้วที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบ เป็นสถาปัตยกรรมยุคสุโขทัย ดังที่พบที่ วัดมังกร เขตอรัญญิกเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย กำแพงแก้วมีความสูง 0.60 เมตร[2]

ความหมายและวัตถุประสงค์ แก้

วัตถุประสงค์ของกำแพงแก้ว มิได้มีไว้เพื่อปิดล้อมหรือป้องกันอันตรายเช่นกำแพงทั่วไป แต่เพื่อความสวยงาม ดังเห็นได้จากการตกแต่งกำแพง มีปูนปั้นให้มีลวดบัว เหมือนอย่างฐานปัทม์ คือ ทำเป็นแบบบัวคว่ำบัวหงาย ส่วนบนนิยมทำทับหลังเป็นบัวเจียด ที่ส่วนท้องพนักมีการตกแต่งด้วยงานประณีตศิลป์ สันนิษฐานว่า คำว่าแก้ว หมายถึงดีว่างาม

กำแพงแก้วเป็นเครื่องหมายบอกเขตเช่นเดียวกับใบเสมา แต่ต่างตรงที่สีมานั้นเป็นพื้นที่สมมติตามธรรมวินัย ซึ่งเป็นเขตแดนต้องห้ามเฉพาะสำหรับการทำสังฆกรรม ขณะที่กำแพงแก้วมีคติความเชื่อเพื่อสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์ ว่า สิ่งที่ล้อมอยู่นั้นมีความสำคัญ การที่กำแพงแก้วล้อมอุโบสถ ก่อนถึงเขตสีมา จึงเป็นการเน้นความศักดิ์สิทธิ์[3]

กำแพงแก้วในวัด เป็นแนวเขตพุทธาวาส แสดงสัญลักษณ์เป็นดั่งกำแพงจักรวาล ขณะที่พระอุโบสถหรือวิหารแสดงเป็นดั่งศูนย์กลางจักรวาลหรือเขาพระสุเมรุ กำแพงจักรวาลอาจจะบันทึกเรื่องราวที่เรียกว่า ธรรม ศาสตร์ หรือกฎเกณฑ์ทางสังคม ตัวอย่างเช่น กำแพงแก้ววัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ในเสาหรือผนัง มีจารึกตำรายา ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคม[4] ขณะที่คติพุทธศาสนานิกายมหายาน แนวคิดกำแพงแก้วมีนัยยะ จำลองภพภูมิสุขาวดี

อ้างอิง แก้

  1. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ปราสาทขอมในดินแดนไทย :ความเป็นมาและข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ. p. 41–42.
  2. สมคิด จิระทัศนกุล. วัด: พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย. p. 102.
  3. ชนาธิป พันทวี. "ลักษณะไทยในพุทธสถาน การศึกษา คำ" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
  4. ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์ (28 ตุลาคม 2559). "ซุ้มประตู ซุ้มโขง กำแพงแก้ว". ข่าวสด.