กาเตรีนา กอร์นาโร

กาเตรีนา กอร์นาโร (อิตาลี: Caterina Cornaro, กรีก: Αικατερίνη Κορνάρο; 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1454 – 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1510) หรือ กาตารีนา กอร์แนร์ (เวนิส: Catarina Corner) เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรไซปรัส พระองค์เป็นพระอัครมเหสีในพระเจ้าฌักที่ 2 แห่งไซปรัส และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลพระเจ้าฌักที่ 3 แห่งไซปรัส ช่วง ค.ศ. 1473–1474 ก่อนเสวยราชสมบัติขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งไซปรัส ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1474 ถึง 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1489

กาเตรีนา กอร์นาโร
ซิญญอราแห่งอาโซโล
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งไซปรัส
ครองราชย์26 สิงหาคม ค.ศ. 1474 – 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1489
ก่อนหน้าพระเจ้าฌักที่ 3 แห่งไซปรัส
สมเด็จพระราชินีแห่งไซปรัส
ดำรงพระยศพฤศจิกายน ค.ศ. 1472 – 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1473
ก่อนหน้าเอเลนี ปาเลียวโลยีนา
พระราชสมภพ25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1454(1454-11-25)
เวนิส สาธารณรัฐเวนิส
สวรรคต10 กรกฎาคม ค.ศ. 1510(1510-07-10) (55 ปี)
เวนิส สาธารณรัฐเวนิส
ฝังพระศพโบสถ์ซันซัลวาดอร์ เวนิส
พระราชสวามีพระเจ้าฌักที่ 2 แห่งไซปรัส (ค.ศ. 1468–1473)
พระราชบุตรพระเจ้าฌักที่ 3 แห่งไซปรัส
ราชวงศ์ปัวตีแยร์-ลูซีญ็อง (อภิเษกสมรส)
พระราชบิดามาร์โก กอร์นาโร
พระราชมารดาฟีโอเรนซา กริสโป
ศาสนาโรมันคาทอลิก

พระองค์ถูกประกาศเป็น "ธิดาของนักบุญมาระโก" จากการที่สาธารณรัฐเวนิสเข้ายึดครอบครองราชอาณาจักรไซปรัสหลังการสวรรคตของพระเจ้าฌักที่ 2 พระราชสวามี[1]

พระราชประวัติ แก้

พื้นเพเดิม แก้

กาเตรีนาเป็นธิดาของมาร์โก กอร์นาโร (Marco Cornaro; ธันวาคม 1406 – 1 สิงหาคม 1479) เป็นอัศวินแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และอภิชนชาวเวนิส กับฟีโอเรนซา กริสโป (Fiorenza Crispo) พระองค์มีพระเชษฐาคนหนึ่งชื่อจอร์โจ กอร์นาโร (Giorgio Cornaro; 1452 – 31 กรกฎาคม 1527) ซึ่งเป็นอัศวินและอภิชนเช่นบิดา[2]

มาร์โกพระราชชนกเป็นเหลนของมาร์โก กอร์นาโร (Marco Cornaro; 1286 – 13 มกราคม 1368) ดอเจแห่งเวนิสช่วงปี ค.ศ. 1365 ถึง 1368[3] มีบุคคลจากตระกูลกอร์นาโรเป็นดอเจถึงสี่คน พวกเขามีความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์กับไซปรัสมายาวนาน รวมทั้งมีกิจการโรงงานน้ำตาลในแถบเมืองเอพิสโคพีของเขตลีมาซอล และส่งออกผลิตภัณฑ์จากไซปรัสส่งขายยังเมืองเวนิส[4][5][6]

ส่วนฟีโอเรนซาพระราชชนนีเป็นธิดาของนีโกลัส กริสโป ลอร์ดแห่งไซรอส (Nicholas Crispo; 1392–1450) กับภรรยาคนหนึ่งซึ่งคาดว่าเป็นบุตรสาวของจาโกโป กัตตีลูซีโอ (Jacopo Gattilusio) เพราะสอดคล้องกับเอกสารที่ระบุตรงกันว่านิกโกเลาะ (Niccolò) เป็นลูกเขยของจาโกโปแห่งเลสบอส[7] ส่วนบันทึกของกาเตรีโน เซโนซึ่งบันทึกไว้ใน ค.ศ. 1474 บันทึกชื่อของภรรยาคนที่สองของกริสโปไว้ว่า ยูโดกีอา-วาเลนซาแห่งเทรบีซอนด์ (Eudokia-Valenza of Trebizond) พระราชธิดาในจักรพรรดิจอห์นที่ 4 แห่งเทรบีซอนด์ซึ่งประสูติแต่พระราชธิดาไม่ปรากฏพระนามของพระเจ้าอเล็กซันเดอร์ที่ 1 แห่งจอร์เจีย จากการศึกษาของมีแชล คูร์ซันสกิส (Michel Kuršanskis) พบว่า สตรีผู้นี้ไม่มีตัวตนจริง[8]

อภิเษกสมรส แก้

พระเจ้าฌักที่ 2 แห่งไซปรัส หรือเป็นที่รู้จักในพระนาม "ฌักพระราชบุตรนอกสมรส" (le bâtard) ชิงบัลลังก์จากพระราชินีนาถชาร์ล็อต พระขนิษฐาต่างพระชนนี แล้วสถาปนาตนเองเสวยราชสมบัติขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งไซปรัสแทนที่เมื่อ ค.ศ. 1468 และในปีนั้นพระองค์ทรงเลือกกาเตรีนามาเป็นพระราชินีแห่งไซปรัส อันสร้างความพอใจแก่สาธารณรัฐเวนิสอย่างยิ่ง เพราะจะส่งผลดีเชิงพาณิชยกรรมและสิทธิพิเศษต่อกิจการของเวนิสในไซปรัส ทั้งสองพระองค์อภิเษกสมรสกันเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1468 ณ เมืองเวนิส ซึ่งขณะนั้นกาเตรีนามีพระชนมายุเพียง 14 พรรษา หลังพระราชพิธีอภิเษกสมรส กาเตรีนาจึงเสด็จไปประทับ ณ ไซปรัสและจัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสอีกครั้งช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ค.ศ. 1472 ที่เมืองฟามากุสตา[9]

เสวยราชย์ แก้

 
ภาพพระราชวงศ์จากซ้าย ได้แก่ กาเตรีนา, พระเจ้าฌักที่ 3 และพระเจ้าฌักที่ 2 ตามลำดับ

หลังการอภิเษกสมรสหนที่สองได้ไม่นานนัก พระเจ้าฌักที่ 2 ก็ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตในวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1473 ในช่วงเวลานั้นพระราชินีกาเตรีนากำลังทรงพระครรภ์ ไม่ช้าจึงประสูติกาลพระราชโอรสคือพระเจ้าฌักที่ 3 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1473 ด้วยเหตุนี้พระราชินีกาเตรีนาจึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระเจ้าฌักที่ 3 ทว่าวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1474 พระเจ้าฌักที่ 3 เสด็จสวรรคตหลังการประชวร พระราชินีกาเตรีนาจึงเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อมา มีข่าวลือว่าพระราชาพระองค์น้อยนี้น่าจะถูกพวกเวนิสหรือพรรคพวกของอดีตพระราชินีนาถชาร์ล็อตลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษ[10]

อาณาจักรเสื่อมโทรมมายาวนานเพราะตกเป็นรัฐบรรณาการของมัมลูกตั้งแต่ ค.ศ. 1426 เป็นต้นมา ในรัชกาลของพระราชินีนาถกาเตรีนา เกาะไซปรัสถูกควบคุมโดยพ่อค้าชาวเวนิส และในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1489 พระองค์ทรงถูกบีบบังคับให้สละราชสมบัติและขายระบบบริหารประเทศทั้งหมดแก่สาธารณรัฐเวนิส[11]

ในเอกสารของจอร์จ บูสโตรนีโอส (George Boustronios) บันทึกไว้ว่า "วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1489 สมเด็จพระราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคออกจากนิโคเซียไปเมืองฟามากุสตาเพื่อเสด็จออก [จากไซปรัส] และเมื่อพระองค์ขึ้นประทับบนหลังม้า ทรงฉลองพระองค์ผ้าไหมสีดำ รายล้อมไปด้วยเหล่านางในและอัศวินของพระองค์ [...] ในขบวนเสด็จ พระราชินีกันแสง ดวงพระเนตรปริ่มไปด้วยชลนาตลอดระยะเวลาเสด็จ ผู้คนที่เฝ้าแหนรับเสด็จล้วนเทวษร่ำไห้เช่นกัน"[12]

เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1489 รัฐบาลเวนิสโน้มน้าวให้พระราชินีกาเตรีนายกสิทธิเหนือบัลลังก์ไซปรัสแก่ดอเจแห่งเวนิสเพื่อขยายอำนาจ[13]

ปลายพระชนม์ แก้

ราชอาณาจักรไซปรัสซึ่งเป็นรัฐนักรบครูเสดแห่งสุดท้ายได้ตกเป็นอาณานิคมของสาธารณรัฐเวนิส และเพื่อเป็นการชดเชย พระองค์ได้รับการสงวนพระอิสริยยศเป็นพระราชินีดังเดิม และได้รับการแต่งตั้งเป็น ซิญญอราแห่งอาโซโล (อิตาลี: Signora di Asolo, เวนิส: Siora de Àxoło) ในแถบแตร์ราแฟร์มาของสาธารณรัฐเวนิสเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1489[14] ณ เมืองอาโซโล เป็นเมืองอันมีชื่อเสียงด้านวรรณกรรมและศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะ โดยปีเอโตร เบมโบได้แต่ง กลีอาโซลานี (Gli Asolani) อันเป็นบทสนทนาเกี่ยวกับความรักที่เกิดขึ้นใกล้กับพระราชสำนักของพระราชินีนาถกาเตรีนา[15]

กาเตรีนา กอร์นาโรสวรรคตเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1510 ณ เมืองเวนิส[16]

พระราชานุสรณ์ แก้

 
ปราสาทของกาเตรีนา กอร์นาโรที่อาโซโล ประเทศอิตาลี

พระราชประวัติของพระองค์ถูกดัดแปลงเป็นบทละครอุปรากรโดยฌูลส์-อ็องรี แวร์นัว เดอ แซ็ง-ฌอร์ฌ ได้แก่เรื่อง คาทารีนา กอร์นาโร (Catharina Cornaro; 1841) กำกับโดยฟรันทซ์ ลัคเนอร์,[17] ลาเรนเดอชิปร์ (La reine de Chypre; 1841) กำกับโดยฟรอม็องตาล อาเลวี[18] และ กาเตรีนา กอร์นาโร (Caterina Cornaro; 1844) กำกับโดยกาเอตาโน โดนิซเซตตี[19]

มีพระสาทิสลักษณ์ของพระองค์หลายภาพถูกวาดโดยจิตรกรผู้มีชื่อเสียง ได้แก่ อัลเบร็ชท์ ดือเรอร์, ทิเชียน, เจนตีเล เบลลีนี และจอร์โจเน[20]

ในประเทศไซปรัสมีการก่อตั้งสถาบันกอร์นาโร (Cornaro Institute) ซึ่งเป็นสถาบันการกุศลที่เมืองลาร์นากา ก่อตั้งโดยศิลปินชื่อสตาส พาลัสโกส (Stass Paraskos) เพื่อส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม[21] แต่สถาบันดังกล่าวถูกปิดโดยเทศบาลลาร์นากาเมื่อ ค.ศ. 2017

เดือนตุลาคม ค.ศ. 2011 กรมโบราณวัตถุของไซปรัส ประกาศว่าจะมีการบูรณะพระราชวังฤดูร้อนของกาเตรีนา กอร์นาโรในโปตาเมียซึ่งถูกทำลายบางส่วน คาดว่าต้องใช้งบฟื้นฟูราวหนึ่งล้านยูโร เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์วัฒนธรรม[22][23]

อ้างอิง แก้

  1. Wills, Garry. Venice, Lion City (New York, Simon and Schuster, 2001), 136.
  2. Geneagraphie - Families all over the world
  3. แม่แบบ:MLCC
  4. McNeill, William H. (15 November 2009). "Venice: The Hinge of Europe, 1081-1797". University of Chicago Press – โดยทาง Google Books.
  5. Braudel, Fernand (14 March 1982). "Civilization and Capitalism, 15th-18th Century, Vol. II: The Wheels of Commerce". University of California Press – โดยทาง Google Books.
  6. Krondl, Michael (1 October 2011). "Sweet Invention: A History of Dessert". Chicago Review Press – โดยทาง Google Books.
  7. แม่แบบ:MLCC
  8. Kuršanskis, "La descendance d'Alexis IV, empereur de Trébizonde. Contribution à la prosopographie des Grands Comnènes", Revue des études byzantines, 37 (1979), pp. 239-247
  9. Sir Harry Luke, The Kingdom of Cyprus, 1369—1489 in K. M. Setton, H. W. Hazard (ed.) A History of the Crusades, The fourteenth and fifteenth centuries (1975), p.388
  10. Sir Harry Luke, The Kingdom of Cyprus, 1369—1489 in K. M. Setton, H. W. Hazard (ed.) A History of the Crusades, The fourteenth and fifteenth centuries (1975), p.389
  11. H. E. L. Mellersh; Neville Williams (May 1999). Chronology of world history. ABC-CLIO. p. 569. ISBN 978-1-57607-155-7. สืบค้นเมื่อ 13 March 2011.
  12. Philippe Trélat, "Urbanization and urban identity in Nicosia 13th-16th. Centuries", in "Proceedings of the 10th Annual Meeting of Young Researchers in Cypriot Archaeology", Venice, 2010, p.152
  13. "CORNARO, CATERINA", "Women in the Middle Ages" Greendwoods Press 2004, p. 221
  14. The mainland territories of the Republic of Venice were referred to as the Terraferma in the Veneto dialect. Source:Logan, Oliver Culture and Society in Venice, 1470-1790; the Renaissance and its heritage, Batsford 1972
  15. Carol Kidwell (2004). Pietro Bembo: Lover, Linguist, Cardinal. McGill-Queen's University Press, p. 99
  16. Churchill, Lady Randolph Spencer; Davenport, Cyril James Humphries (1900). The Anglo-Saxon Review. John Lane. pp. 215–22. สืบค้นเมื่อ 13 March 2013.
  17. Lachner, Franz. Catarina Cornaro. Libretto. German (ภาษาอังกฤษ).
  18. Halévy, F.; Saint-Georges, Henri. La reine de Chypre; opéra en cinq actes. Paroles De Saint Georges. Paris Tallandier.
  19. Ashbrook, William. "Caterina Cornaro". Grove Music Online (ภาษาอังกฤษ). Oxford Music Online. doi:10.1093/gmo/9781561592630.article.o007589. สืบค้นเมื่อ 12 March 2018.
  20. "Giorgione: Portrait of Caterina Cornaro, Queen of Cyprus". www.boglewood.com.
  21. "cornaroinstitute.org". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 มิถุนายน 2011. สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2018.
  22. Demetra Molyva, 'Palace of Cyprus’s last queen to be restored' in The Cyprus Weekly (Cyprus newspaper), 7 October 2011
  23. Di Cesnola, L. P. Cyprus: Its Ancient Cities, Tombs, and Temples, 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

ก่อนหน้า กาเตรีนา กอร์นาโร ถัดไป
เอเลนี ปาเลียวโลยีนา   สมเด็จพระราชินีแห่งไซปรัส
(1472–1473)
  สิ้นสุด
พระเจ้าฌักที่ 3   สมเด็จพระราชินีนาถแห่งไซปรัส
(1474–1489)
  สิ้นสุด