การไล่ผีให้โรแลนด์ โด

การไล่ผีให้โรแลนด์ โด (อังกฤษ: Exorcism of Roland Doe) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเชิงเหนือธรรมชาติที่เกี่ยวกับภูตผีปีศาจ อันเป็นที่มาของภาพยนตร์เรื่อง The Exorcist ในปี ค.ศ. 1973 ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อปลายปี ค.ศ. 1949 ที่รัฐแมรีแลนด์ เมื่อเด็กชายอายุ 14 ปี คนหนึ่งชื่อสมมติว่า ร็อบบี แมนน์ไฮม์ หรือโรแลนด์ โด ถูกผีเข้า ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้ได้ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ และเมื่อวิลเลียม ปีเตอร์ แบลตตี ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง The Exorcist ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเพียงนักศึกษาได้มาอ่านเจอเข้า ก็เกิดความสนใจเป็นอย่างมาก

โดยก่อนหน้านั้น โด มีความผูกพันกับผู้หญิงคนหนึ่งที่มีศักดิ์เป็นป้าชื่อ แฮร์เรียต แฮร์เรียตเป็นผู้ที่เชื่อในลัทธินับถือผีหรือจิตวิญาณ และชักชวนโดให้เล่นผีถ้วยแก้วหรือกระดานวิญญาณด้วยกัน แต่ต่อมาแฮร์เรียตได้เสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน[1] ร่างของเธอถูกฝังไว้ในสุสานใกล้บ้าน หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดที่ไม่สามารถอธิบายได้หลายประการ เช่น มีเสียงเหมือนขีดข่วนบนชั้นบนบ้าน, ข้าวของเครื่องเรือนสามารถเคลื่อนที่ได้เอง หรือเตียงนอนของโดที่สั่นได้เองอย่างรุนแรง เชื่อกันว่าเป็นวิญญาณของแฮร์เรียตที่พยายามจะติดต่อกับหลานชายคนนี้ แต่ทว่าเมื่อหนักขึ้น เมื่อตามร่างกายของโดมีรอยขีดข่วนหลายแห่ง บางครั้งอาจอ่านเป็นตัวหนังสือได้ เช่น "วันเสาร์", "หลุยส์" หรือ "3 1/2 สัปดาห์" เป็นต้น ดังนั้นบาทหลวงคาทอลิก วิลเลียม บาวเดน และ เรย์มอนด์ บิชอป จากโบสถ์คาทอลิก ได้เข้ามาเพื่อสอบสวน บาทหลวงบาวเดนได้พาโดไปยังบ้านของผู้เป็นลุงที่เซนต์หลุยส์เพื่อทำพิธีไล่ผี โดยระหว่างทำพิธีที่เซนต์หลุยส์นี้ โรแลนด์ โด ได้สถบคำหยาบใส่บาทหลวงหลายครั้ง บางครั้งเป็นการพรรรณาถึงการเสพสังวาสของบาทหลวงและแม่ชี หรือถ่มน้ำลายใส่ บางครั้งก็พูดเป็นภาษาละตินออกมาได้อย่างคล่องแคล่ว รวมถึงมีตัวหนังสือปรากฏตามร่างกายอีก เช่น "อาฆาต" หรือ "นรก" เขาดิ้นรนด้วยเรี่ยวแรงที่เกินกว่าเด็กผู้ชายอายุ 14 หรือคนธรรมดาทั่วไปจะทำได้ การทำพิธีดำเนินไปอย่างต่อเนื่องทุกวัน เป็นเวลาหลายวัน เมื่ออาการของโดดีขึ้น เขาก็ถูกส่งตัวกลับมาบ้าน จากนั้นในวันอีสเตอร์ซันเดย์ อาการของโดก็กำเริบหนักอีก คราวนี้อุณหภูมิของห้องลดต่ำลงอย่างมากโดยไม่ทราบสาเหตุ และยังปรากฏตัวอักษรคำว่า "ทางออก" นูนขึ้นที่กลางหน้าอก คราวนี้โดได้ส่งเสียงร้องว่า "ซาตาน ! ซาตาน ! ข้าคือเซนต์ไมเคิล ไม่ว่าเจ้าจะเป็นซาตานหรือปีศาจตนใด ข้าขอสั่งให้เจ้าออกไปจากร่างนี้ซะ ในนามของ "โดมินุส" จงออกไป เดี๋ยวนี้ ! เดี๋ยวนี้ !" ซึ่งการไล่ผีครั้งนี้กินเวลายาวนานถึง 3 สัปดาห์ รวมถึงมีการทำพิธีศีลจุ่มให้ด้วย เนื่องจากครอบครัวของโดเป็นโปรเตสแตนท์ โดจึงไม่เคยผ่านพิธีนี้มาก่อน อีกทั้งโดยังเคยถูกจับไปอยู่ในห้องของผู้ป่วยในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ที่ประตูห้องจะสามารถเปิดได้จากภายนอกเท่านั้นและเป็นห้องเก็บเสียงที่จะไม่มีใครได้ยินเสียงร้องของเขา ซึ่งเป็นรูปแบบของห้องผู้ป่วยจิตเวชในสมัยนั้น ก่อนที่ในที่สุด อาการของโดก็สงบลง และเขาได้เงยหน้าบอกกับโบเดิร์นว่า "เขาออกไปจากร่างผมแล้ว" รวมระยะเวลาที่เริ่มต้นทำพิธีจนกระทั่งสำเร็จกว่า 3 เดือน[2][3]

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ได้ถูกบันทึกอย่างละเอียดโดยหนึ่งในบาทหลวงผู้เข้าร่วมพิธีและเป็นสักขีพยาน วอลเตอร์ ฮัลโลเรน ซึ่งแบลตตีเมื่อได้อ่านข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์และเกิดความสนใจ และอยากรู้ว่าเป็นความจริงแค่ไหน จึงได้มีการติดต่อไปยังฮัลโลเรน ซึ่งได้รับคำตอบว่า "เป็นเรื่องจริงทุกประการ" และยังได้ให้แบลตตีได้อ่านบันทึกเหล่านั้นด้วย[4] แต่ทว่านักเขียนและนักประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งที่สนใจที่จะสอบสวนเรื่องนี้ โทมัส บี. อัลเลน ได้สัมภาษณ์ฮัลโลเรนก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตในต้นปี ค.ศ. 2005 ท่านกลับตอบว่า "ไม่ อาตมาไม่ได้บันทึกไว้ อาตมาไม่เคยทำอะไรอย่างนั้นแน่นอน เพราะอาตมารู้สึกว่าตัวอาตมาเป็นคนมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม"[3] อีกทั้งมีนักเขียนอีกผู้หนึ่งที่สนใจสอบสวนเรื่องนี้ คือ มาร์ก ออปเซสนิก ได้ทำการสืบค้นและพบความจริงหลายประการที่ต่างไปจากความเชื่อทั่วไปว่า

  • การไล่ผีไม่ได้เกิดขึ้นที่บ้านเลขที่ 3210 ถนนบังเกอร์ฮิลล์ ในเมาต์เรนเนียร์, แมรีแลนด์
  • เด็กชายคนนี้ไม่เคยอาศัยอยู่ในเมาต์เรนเนียร์
  • บ้านของเด็กอยู่ในคอตเตจซิตี, แมรีแลนด์
  • ข้อมูลที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคำบอกเล่าซึ่งไม่มีการการบันทึกไว้และไม่เคยมีการตรวจสอบความเป็นจริง
  • เล่ากันว่ามีบาทหลวงผู้หนึ่งคือ อี. อัลเบิร์ต ฮิวจส์ ได้ไปเยี่ยมเด็กที่บ้านและเข้าโรงพยาบาลเพื่อขอให้ยับยั้งเด็กจากการรักษาของโรงพยาบาล หรือประกอบพิธีไล่ผีที่โรงพยาลหรือได้รับบาดเจ็บจากเด็กขณะประกอบพิธีด้วย
  • มีหลักฐานมากมายที่กล่าวอ้างว่าบาทหลวงฮิวจ์สประสบปัญหาทางอารมณ์และหายตัวไปจากชุมชนคอตเตจซิตี[3]

กล่าวกันว่าเด็กชายผู้ที่ได้ชื่อสมมติว่า ร็อบบี แมนน์ไฮม์ หรือโรแลนด์ โด ผู้นี้มีพื้นฐานมาจากเด็กที่มีความประพฤติเรียบร้อย เป็นเด็กที่ตั้งใจเรียน และมาจากครอบครัวที่เคร่งครัดศาสนาด้วยซ้ำ ถึงแม้ว่าจะเป็นโปรเตสแตนท์ก็ตาม (เป็นครอบครัวเชื้อสายเยอรมันที่นับถือนิกายลูเทอแรน)[3] และต่อมาเขาได้เข้าทำงานที่องค์การนาซาด้วย[4]

ในทางวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เป็นผลมาจากภาวะจิตใจที่ว้าวุ่นของเด็กชายผู้นี้ที่กำลังเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น กอรปกับการสูญเสียญาติผู้ใหญ่ที่ผูกพัน จึงทำให้สมองมีปฏิกิริยากับร่างกายอย่างรุนแรงเช่นนี้ อีกทั้งเรี่ยวแรงที่ดูเหมือนว่าจะมีมากกว่าธรรมชาติก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เหนือเกินกว่าร่างกายจะสามารถทำได้[4]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Thomas B. Allen (11 November 2013), Possessed: The True Story of an Exorcism, BookCountry, ISBN 978-1-4630-0367-8
  2. Satan's Artistic the Exorcist, โดย อลงกรณ์ คล้ายสีแก้ว. นิตยสาร PULP ฉบับที่ 8: กุมภาพันธ์ 2004
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Opasnick, Mark. "The Cold Hard Facts Behind the Story that Inspired "The Exorcist"". Strange Magazine #20. สืบค้นเมื่อ 7 November 2015.
  4. 4.0 4.1 4.2 Exorcists: The True Story ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส  

แหล่งข้อมูลอื่น แก้