การเสริมแรง (อังกฤษ: Reinforcement) คือการทำให้ความถี่ของพฤติกรรมเพิ่มขึ้น อันเป็นผลเนื่องมาจากผลกรรมที่ตามหลังพฤติกรรมนั้น

ประเภทของการเสริมแรง แก้

  1. การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) หมายถึง สิ่งของ คำพูด หรือสภาพการณ์ที่จะช่วยให้พฤติกรรมเกิดขึ้นอีก หรือสิ่งทำให้เพิ่มความน่าจะเป็นไปได้ของการเกิดพฤติกรรม
  2. การเสริมแรงทางลบ (Negative Reinforcement) หมายถึง การเปลี่ยนสภาพการณ์หรือเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็อาจจะทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมได้ การเสริมแรงทางลบเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมใน 2 ลักษณะคือ
    1. พฤติกรรมหลีกหนี (Escape Behavior)
    2. พฤติกรรมหลีกเลี่ยง (Avoidance Beh.)

หลักการและแนวคิดที่สำคัญของการเสริมแรง แก้

  1. การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการเสริมแรง การเสริมแรงทางบวกจะดีกว่าทางลบ
  2. การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความใกล้ชิดระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง
  3. การเสริมแรงมีหลายวิธี อาจใช้วัตถุสิ่งของ หรือถ้อยคำที่แสดงความรู้สึกก็ได้ ที่สามารถสร้างบรรยากาศกระตุ้นให้ความพึงพอใจให้เกิดความสำเร็จหรือเครื่องบอกผลการกระทำว่าถูกผิด และอาจเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเสริมแรงต่อๆ ไป
  4. การเสริมแรงควรจะต้องให้สม่ำเสมอ นอกจากนั้นหลักการเสริมแรงยังทำให้สามารถปรับพฤติกรรมได้
  5. ควรจะให้การเสริมแรงทันที ที่มีการตอบสนองได้อย่างถูกต้อง ซึ่งควรจะเกิดขึ้นภายใน ประมาณ 10 วินาที ถ้าหากมีการตอบสนองที่ต้องการซ้ำหลายครั้งๆ ก็ควรเลือกให้มีการเสริมแรงเป็นบางคราว แทนที่จะเสริมแรงทุกครั้งไป
  6. ควรจะจัดกิจกรรมการเรียนให้เป็นไปตามลำดับจากง่ายไปยาก และเป็นตอนสั้นๆ ที่สอดคล้องกับความสามารถของผู้เรียน

จากการวิจัยเกี่ยวกับการเสริมแรง สกินเนอร์ได้แบ่งการให้แรงเสริมเป็น 2 ชนิดคือ

  1. การเสริมแรงทุกครั้ง คือการให้แรงเสริมแก่บุคคลเป้าหมายที่แสดงพฤติกรรมที่กำหนดไว้ทุกครั้ง
  2. การเสริมแรงเป็นครั้งคราว คือไม่ต้องให้แรงเสริมทุกครั้งที่บุคคลเป้าหมายแสดงพฤติกรรม

สรุปแนวคิดที่สำคัญ แก้

สรุปแนวคิดที่สำคัญของนักจิตวิทยาการศึกษา ดังนี้

  1. ธอร์นไดค์ (Thorndike) ให้ข้อสรุปว่า การเสริมแรง จะช่วยให้เกิดความกระหายใคร่รู้เกิดความพอใจ และนำไปสู่ความสำเร็จ
  2. สกินเนอร์ (Skinner) กล่าวว่า "การเสริมแรง จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมซ้ำ และพฤติกรรมของบุคคลส่วนใหญ่ จะเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้แบบปฏิบัติ (Operant Learning) และพยายามเน้นว่า การตอบสนองต่อสิ่งเร้าใดๆ ของบุคคล สิ่งเร้านั้นจะต้องมีสิ่งเสริมแรงอยู่ในตัว หากลดสิ่งเสริมแรงลงเมื่อใด การตอบสนองจะลดลงเมื่อนั้น"
  3. กัทธรี (Grthrie) เชื่อว่าการเรียนรู้ จะเป็นผลมาจากสิ่งเร้าและการตอบสนองซึ่งเมื่อเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน สิ่งเร้าทุกอย่างย่อมจะมีลักษณะที่เร้า และก่อให้เกิดพฤติกรรมได้ทั้งหมด ดังนั้นการเสริมแรงไม่จำเป็นต้องนำมาใช้สำหรับการตอบสนอง
  4. ฮัล (Hull) เชื่อว่า การเสริมแรงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง ม่มีการเรียนใดๆ ที่มีความสมบูรณ์ การเรียนรู้เป็นลักษณะของการกระทำที่ต่อเนื่องกัน จะค่อยๆ สะสมขึ้นเรื่อยๆ การเสริมแรงทุกครั้งจะทำให้การเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ตารางการเสริมแรง แก้

  1. การเสริมแรงตามอัตราส่วนที่แน่นอน (Fixed-Ratio (FR))
  2. การเสริมแรงตามอัตราส่วนที่ไม่แน่นอน (Variable-Ratio (VR))
  3. การเสริมแรงตามช่วงเวลาที่แน่นอน (Fixed-Interval (FI))
  4. การเสริมแรงตามช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน (Variable-Interval (VI))

วิธีการเสริมแรง แก้

  1. การเสริมแรงแบบทุกครั้ง เช่น การเสริมแรงเกิดขึ้นทุกครั้งที่เด็ก ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร
  2. การเสริมแรงตามช่วงเวลาที่แน่นอน เช่น การเสริมแรงทุกๆ 1 ชั่วโมงหลังจากทำพฤติกรรมไปแล้ว
  3. การเสริมแรงตามช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน เช่น บางทีก็ให้เสริมแรง 1 ชั่วโมง บางทีก็ให้เสริมแรง 2 ชั่วโมง
  4. ครั้งที่แน่นอน เช่น แสดงพฤติกรรมออกกำลังกาย 3 ครั้ง ให้การเสริมแรง 1 ครั้ง
  5. การเสริมแรงตามจำนวนครั้งที่ไม่แน่นอนหรือแบบสุ่ม (Random) คือ บางครั้งก็ให้การเสริมแรง บางครั้งก็ไม่ให้การเสริมแรง