การรับรู้ หรือ สัญชาน[1] (อังกฤษ: Perception จาก ละติน: perceptio) เป็นการจัดระเบียบ ระบุ และแปลผลข้อมูลจากประสาทสัมผัสเพื่อใช้เป็นแบบจำลองและเข้าใจข้อมูลหรือโลกรอบ ๆ ตัว[2]

ลูกบาศก์เนกเกอร์และแจกันรูบินสามารถมองเห็น/รับรู้ได้มากกว่า 1 แบบ

การรับรู้ทุกอย่างจะต้องเกี่ยวกับสัญญาณประสาทที่ส่งไปยังระบบประสาท โดยสัญญาณก็จะเป็นผลของการเร้าระบบรับความรู้สึกทางกายภาพหรือทางเคมี[3] ยกตัวอย่างเช่น การเห็นจะเกี่ยวกับแสงที่มากระทบจอตา การได้กลิ่นจะอำนวยโดยโมเลกุลที่มีกลิ่น และการได้ยินจะเกี่ยวกับคลื่นเสียง การรับรู้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การรับสัญญาณทางประสาทสัมผัสเฉย ๆ แต่จะได้รับอิทธิพลจากการเรียนรู้ ความทรงจำ ความคาดหวัง และการใส่ใจของบุคคลนั้น ๆ[4][5] การรับรู้สามารถแบ่งเป็นสองส่วน คือ[5]

  1. การแปลผลข้อมูลทางประสาทสัมผัส ซึ่งแปลข้อมูลดิบเป็นข้อมูลระดับสูงขึ้น (เช่น การดึงรูปร่างจากสิ่งที่เห็นเพื่อรู้จำวัตถุ)
  2. การแปลผลที่เชื่อมกับทัศนคติ ความคาดหวัง และความรู้ของบุคคล โดยได้อิทธิพลจากกลไกการเลือกเฟ้น (คือการใส่ใจ) สิ่งที่รับรู้

การรับรู้จะอาศัยการทำงานที่ซับซ้อนในระบบประสาท แต่โดยอัตวิสัยจะรู้สึกว่าไม่ได้ทำอะไร เพราะการแปลผลเช่นนี้เกิดขึ้นใต้จิตสำนึก[3] ตั้งแต่การเริ่มสาขาจิตวิทยาเชิงทดลองในคริสต์ทศวรรษที่ 19 ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับรู้ได้ก้าวหน้าโดยใช้วิธีการศึกษารวมกันหลายอย่าง[4] Psychophysics ได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติทางกายภาพของข้อมูลประสาทสัมผัสต่าง ๆ กับการรับรู้ในเชิงปริมาณ[6] ประสาทวิทยาศาสตร์เชิงรับความรู้สึก (Sensory neuroscience) ได้ศึกษากลไกทางสมองที่เป็นมูลฐานของการรับรู้ ระบบการรับรู้ยังสามารถศึกษาในเชิงคอมพิวเตอร์ คือโดยอาศัยข้อมูลที่ระบบแปลผล ส่วนปรัชญาในเรื่องการรับรู้ จะศึกษาขอบเขตที่ลักษณะทางประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น เสียง กลิ่น และสี มีจริง ๆ โดยปรวิสัย ไม่ใช่มีแค่ในใจคือเป็นอัตวิสัยของคนที่รับรู้[4]

แม้นักวิชาการจะได้มองประสาทสัมผัสว่าเป็นระบบรับข้อมูลเฉย ๆ แต่งานศึกษาเกี่ยวกับการแปลสิ่งเร้าผิดและภาพที่มองเห็นได้หลายแบบ ได้แสดงว่า ระบบการรับรู้ของสมองทำการอย่างแอคทีฟและภายใต้จิตสำนึกเพื่อเข้าใจสิ่งที่รับรู้[4] ยังเป็นเรื่องไม่ยุติว่า การรับรู้เป็นกระบวนการตรวจสอบสมมติฐานแบบต่าง ๆ มากแค่ไหน หรือว่าข้อมูลทางประสาทสัมผัสตามธรรมชาติสมบูรณ์พอที่จะไม่ต้องใช้กระบวนการนี้ในการรับรู้[4]

ระบบการรับรู้ในสมองทำให้บุคคลสามารถเห็นโลกรอบ ๆ ตัวว่าเสถียร แม้ข้อมูลความรู้สึกปกติจะไม่สมบูรณ์และจะเปลี่ยนไปอยู่ตลอด สมองมนุษย์และสัตว์มีโครงสร้างโดยเฉพาะ ๆ และแต่ละส่วนจะประมวลข้อมูลความรู้สึกที่ต่างกัน โครงสร้างบางอย่างจัดเหมือนกับแผนที่รับความรู้สึก คือมีการใช้ผิวสมองเป็นผังแสดงลักษณะบางอย่างของโลก (เช่นใน Somatotopy) โครงสร้างโดยเฉพาะต่าง ๆ เหล่านี้จะเชื่อมต่อกันและมีอิทธิพลต่อกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น กลิ่นจะมีอิทธิพลอย่างสูงต่อรสชาติ[7]

ดูเพิ่ม แก้

เชิงอรรถและอ้างอิง แก้

  1. psychopathology. ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑. (CD-ROM) พ.ศ. ๒๕๔๕. "(ปรัชญา, แพทยศาสตร์, ภาษาศาสตร์) สัญชาน, ความรู้สึก, การรับรู้, การกำหนดรู้".
  2. Schacter, Daniel (10 ธันวาคม 2010). Psychology (2nd ed.). Worth Publishers. ISBN 978-1-4292-3719-2.
  3. 3.0 3.1 Goldstein 2009, pp. 5–7
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 Gregory 1987
  5. 5.0 5.1 Bernstein, Douglas A. (5 มีนาคม 2010). Essentials of Psychology. Cengage Learning. pp. 123–124. ISBN 978-0-495-90693-3. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2011.
  6. Fechner, Gustav Theodor (1907). Wundt, Wilhelm Max (บ.ก.). Elemente der Psychophysik. Leipzig: Breitkopf & Härtel. (Microfilm) OCLC 60803523.
  7. DeVere, Ronald; Calvert, Marjorie (31 สิงหาคม 2010). Navigating Smell and Taste Disorders. Demos Medical Publishing. pp. 33–37. ISBN 978-1-932603-96-5. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2011.

บรรณานุกรม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้