การปรุรู (แสตมป์)

การปรุรู (อังกฤษ: perforation) คือการเจาะรูเล็ก ๆ รอบดวงแสตมป์เพื่อให้สะดวกแก่การฉีกแสตมป์ออกมาจากแผ่นเป็นดวง ๆ และเมื่อฉีกออกจากแผ่นแล้ว จะปรากฏรายหยักบนขอบแสตมป์ที่เรียกว่า ฟันแสตมป์ (perfs หรือ teeth)

แสตมป์จากตู้หยอดเหรียญของสหรัฐอเมริกาปี พ.ศ. 2460

แสตมป์ที่ฉีกมาจากแผ่นมักมีการปรุรูครบทั้งสี่ด้านของแสตมป์ ส่วนแสตมป์ที่จำหน่ายในรูปแบบอื่น ๆ อาจมีรูปแบบการปรุแตกต่างจากนี้ เช่น แสตมป์ที่มาจากตู้หยอดเหรียญ (coil stamp) มักมีการปรุรูเพียงสองด้าน ในขณะที่แสตมป์ที่มาจากสมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็ก (stamp booklet) อาจไม่ปรุรูบางด้าน

ความสมบูรณ์ของฟันแสตมป์ถือเป็นสิ่งสำคัญในการสะสมแสตมป์ แสตมป์ที่มีฟันแหว่งหรือขาดไปถือว่ามีตำหนิ และมีมูลค่าต่ำลง

วิวัฒนาการการปรุรู แก้

แสตมป์ในยุกแรกที่ยังไม่คิดค้นการปรุรู ต้องใช้กรรไกรตัดแสตมป์ออกจากแผ่น แสตมป์ดวงแรกออกเมื่อ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2383 ซึ่งสมัยนั้นมีการใช้เครื่องปรุรูสำหรับพิมพ์สมุดเช็คแต่ก็ไม่ได้นำมาปรุรูแสตมป์เนื่องจากการปรุรูแสตมป์แต่ละแนวจะอยู่ชิดกัน

กระบวนการเจาะรูแสตมป์คิดค้นโดย เฮนรี อาร์เชอร์ (Henry Archer) ชาวไอริช โดยเสนอแนวความคิดกับไปรษณีย์สหราชอาณาจักรเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2390 เครื่องจักรต้นแบบได้ถูกส่งมอบในเดือนมกราคม พ.ศ. 2393 และได้รับอนุมัติเมื่อ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2395 หลังจากนั้นไปรษณีย์สหราชอาณาจักรก็ได้ทดลองปรุรูแสตมป์และนำใช้งาน และนำแสตมป์ปรุรูออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อ 29 มกราคม พ.ศ. 2397 ส่วนประเทศอื่นก็เริ่มแสตมป์ปรุรูออกใช้ตามมา เช่น สวีเดน เมื่อ กรกฎาคม พ.ศ. 2398 นอร์เวย์เมื่อ พฤศจิกายน พ.ศ. 2399 สหรัฐอเมริกาเมื่อ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2400

เครื่องจักรปรุรูของ เฮนรี อาร์เชอร์ นั้นทำงานเป็นจังหวะ แต่ละจังหวะจะกดเข็มรูปวงกลมกลวง ที่เรียงต่อกันเป็นแนว ลงบนกระดาษเพื่อเจาะเป็นรูรูปวงกลม การเจาะแต่ละครั้งจะได้ฟันแสตมป์หนึ่งแนว วิลเลียม เบมโรส (William Bemrose) ได้จดสิทธิบัตรวิธีการปรุอีกแบบโดยทำงานแบบลูกกลิ้ง โดยเรียงเข็มให้อยู่รอบลูกกลิ้ง แล้วหมุนลูกกลิ้งให้เข็มกดลงบนแสตมป์เกิดเป็นรูตามแนวที่ลูกกลิ้งหมุนไป การปรุรูในปัจจุบันยังคงอาศัยหลักการสองแบบนี้

ชนิดการปรุรู แก้

การปรุแบบเส้นตรง
   
ขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนที่ 2

ในสมัยแรกที่การปรุรู เป็นการปรุแบบเส้นตรง (line perforation) ซึ่งการปรุแต่ละจังหวะจะได้รอยปรุแนวตั้งหรือแนวนอนแนวใดแนวหนึ่ง เมื่อเสร็จหนึ่งจังหวะเครื่องพิมพ์จะเลื่อนแผ่นแสตมป์และปรุในจังหวะถัดไป เมื่อแผ่นแสตมป์เคลื่อนผ่านเครื่องปรุจนครบแผ่นออกมาอีกด้านจะมีการปรุแนวนอนครบทุกเส้นหรือแนวนอนครบทุกเส้น การปรุจะเสร็จสมบูรณ์ได้จะต้องป้อนแผ่นแสตมป์เข้าเครื่องปรุสองครั้ง ครั้งหนึ่งสำหรับแนวนอน อีกครั้งสำหรับแนวตั้ง ถึงจะได้รอยปรุรอบดวงแสตมป์

ข้อสังเกตแสตมป์ที่ปรุวิธีนี้คือ ฟันแสตมป์ที่มุมทั้งสี่ของแสตมป์เมื่อฉีกแยกออกเป็นดวง ๆ แล้ว มีรูปร่างไม่แน่นอน ไม่เป็นระเบียบ

การปรุแบบหวี
   
ขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนที่ 2

การปรุที่มีการพัฒนาขึ้นในระยะแรกอีกรูปแบบหนึ่งใช้การปรุแบบหวี (comb perforation) โดยในการเจาะแต่ละจังหวะ จะเจาะรูพร้อมกันสามด้านของแสตมป์แสตมป์ในแถวหนึ่ง ๆ (เช่นด้านซ้าน บน และล่าง) ส่วนด้านที่เหลือจะเจาะเมื่อปรุแสตมป์ในจังหวะถัดไป ข้อสังเกตแสตมป์ที่ปรุด้วยวิธีนี้คือ มุมทั้งสี่ของแสตมป์ดูเรียบร้อย

การปรุแบบนี้นอกจากจะปรุทีละแถวแล้ว ยังมีการพัฒนาต่อโดยปรุพร้อมกันหลายแถวในคราวเดียวได้

การปรุแบบแผ่น
 

การปรุที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือการปรุแบบแผ่น (sheet perforation หรือ harrow perforation) กล่าวคือจะเจาะรูทั้งหมดในคราวเดียว แสตมป์ที่ได้จะมีมุมเรียบร้อยเช่นเดียวกับการปรุแบบหวี

จุดที่แยกแยะข้อแตกต่างระหว่างการปรุแบบแผ่นและแบบหวีตรงที่การปรุแบบหวีต้องปรุหลายครั้งต่อแผ่น ในแสตมป์เก่า ๆ ที่เทคนิกการพิมพ์ยังไม่ดี แนวการปรุหวีแต่ละครั้งอาจไม่ตรงกัน

มีตัวอย่างของแสตมป์ไทยชุดหนึ่งซึ่งมีการปรุสองแบบ คือ แสตมป์ทั่วไปพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 ชุดที่ 2 (นิยมเรียกว่า ชุดไทยแลนด์ เพราะแสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์ชุดก่อนหน้านี้ใช้ชื่อประเทศบนแสตมป์ว่า สยาม) แสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์ชุดนี้ เริ่มจำหน่ายเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 (เฉพาะราคา 25 สตางค์ ราคาอื่นทยอยวางจำหน่ายทีหลัง) และมีการพิมพ์เพิ่มหลายครั้ง จนถึง พ.ศ. 2506[1] การพิมพ์ในรุ่นแรก ๆ พิมพ์ที่โรงพิมพ์วอเตอร์โลว์แอนด์ซันส์ ใช้วิธีปรุแบบเส้น ภายหลังโรงพิมพ์ถูกซื้อกิจการโดยโทมัส เดอ ลา รู เมื่อ พ.ศ. 2504[2] การพิมพ์รุ่นหลัง ๆ โดยเดอ ลา รู ใช้วิธีการปรุแบบหวี สามารถสังเกตได้ง่ายว่าพิมพ์ที่โรงพิมพ์ไหนจากมุมทั้งสี่ของแสตมป์

รูเล็ตต์ แก้

 
รูเล็ตต์บนอากรแสตมป์ของสหรัฐอเมริกา

รูเล็ตต์ (อังกฤษ: roulette) เป็นวิธีการเจาะแสตมป์ให้ฉีกง่ายอีกวิธีหนึ่งที่พบได้ไม่บ่อยนักในแสตมป์ แต่พบมากในงานพิมพ์ประเภทอื่น ลักษณะของรูเล็ตต์ แทนที่จะเจอะเป็นรูกลม ๆ กลับใช้วิธีตัดเป็นเส้นบนกระดาษ ซึ่งอาจเป็นเส้นตรง รูปฟันเลื่อย หรือ รูปแบบอื่น ๆ ก็ได้ แสตมป์ยุคแรกของประเทศฟินแลนด์ใช้วิธีเจาะแบบรูเล็ตต์แบบต่าง ๆ

การปรุแบบต่าง ๆ ในแสตมป์สมัยใหม่ แก้

ปัจจุบันเราจะพบแสตมป์รูปร่างแปลก ๆ ทำขึ้นสำหรับการสะสมมากขึ้น เช่น รูปสามเหลี่ยม รูปวงกลม หรือ รูปร่างอื่น ซึ่งแนวการปรุต่างไปจากที่พบแบบเดิม ใช้เทคนิกการปรุแบบแผ่น

นอกจากนี้ บางโรงพิมพ์มีการปรุรูให้มีขนาดของรูไม่เท่ากัน ปรุเป็นรูที่มีรูปร่างอื่น เช่น วงรี หรือ รูปดาว ทั้งหมดนี้เป็นทางหนึ่งของมาตรการป้องกันการปลอมแปลงแสตมป์

แสตมป์สติกเกอร์ แก้

แสตมป์สติกเกอร์ เป็นแสตมป์ที่นิยมใช้กันในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แสตมป์สติกเกอร์จะมีการตัดเป็นดวง ๆ เรียบร้อย ด้านหลังฉาบด้วยกาวแบบเดียวกับสติกเกอร์และติดบนกระดาษมันที่อยู่ข้างหลัง เวลาใช้ก็ลอกออกจากกระดาษมันมาติดบนจดหมายได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้น้ำลูบด้านที่เป็นกาวของแสตมป์ แสตมป์แบบนี้จึงไม่มีการปรุรู (แต่อาจปรุรูบนกระดาษมันแทนในรูปแบบ รูเล็ตต์)

แต่เพื่อไม่ให้แสตมป์มีขอบเรียบเหมือนสติกเกอร์ธรรมดาซึ่งไม่น่าสะสม มักจะตัดขอบให้มีรอยหยักคล้ายกับฉีกมาจากแผ่นจริง ๆ ด้วย

หน่วยวัดการปรุรู หรือ ฟันแสตมป์ แก้

 
เปรียบเทียบขนาดฟันที่แตกต่างกัน ของแสตมป์คนละรุ่น

รอยปรุที่ปรากฏแสตมป์มีประโยชน์ในการศึกษาถึงที่มาของแสตมป์ ไม่ว่าจะเป็นแสตมป์รุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ เนื่องจากแสตมป์หลาย ๆ ดวงที่มีการใช้งานมาก มักต้องมีการพิมพ์เพิ่มหลายครั้ง แต่ละครั้งอาจพิมพ์ที่โรงพิมพ์ต่างกันเนื่องจากสัญญาการพิมพ์หรืออาศัยการประมูล ซึ่งโรงพิมพ์ที่ให้ราคาต่ำกว่าก็ได้สิทธิในการพิมพ์ครั้งนั้น เครื่องปรุฟันแสตมป์ของโรงพิมพ์ต่าง ๆ ก็มักมีการปรุรูที่แตกต่างกันไปด้วย

สิ่งที่ใช้แยกแยะฟันแสตมป์ง่ายสุดคือการวัดขนาดฟันแสตมป์ วิธีการวัดแบบมาตรฐานที่ใช้ในวงการแสตมป์ วัดจากจำนวนฟัน หรือ รู ในช่วงระยะสองเซนติเมตร ตัวอย่างเช่น ฟันขนาด 12 หมายถึงมีฟัน 12 ซี่ใน 2 เซนติเมตรทั้งแนวตั้งและแนวนอน แต่ถ้าขนาดฟันในแต่ละแนวไม่เท่ากัน จะระบุทั้งสองค่า เช่น ฟันขนาด 13×11 หมายถึงแนวนอนมี 13 ซี่ และแนวตั้ง 11 ซี่ในระยะดังกล่าว

ขนาดของฟันแสตมป์โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณระหว่าง 11 จนถึง 16 ถ้าฟันห่างเกินไปจะทำให้ฉีกแสตมป์ออกจากกันยาก แต่ถ้าถี่เกินไปจะทำให้แสตมป์แยกออกจากกันง่ายแม้ไม่จงใจจะฉีก

เพื่อความสะดวกในการวัดขนาดของฟัน หลายบริษัทมีการผลิต มาตรวัดฟันแสตมป์ (perforation gauge) สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ มีลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกบาง บนแผ่นมีการพิมพ์ลวดลายการปรุของฟันแต่ละขนาดเอาไว้ เวลาวัดก็เอาแสตมป์ทาบกับแผ่นพลาสติกนี้เพื่อดูว่าฟันแสตมป์ตรงกับลวดลายขนาดใด

ความผิดพลาดในการปรุรู แก้

แสตมป์ที่เกิดความผิดพลาดในการปรุรู จัดเป็นแสตมป์ตลกอีกแบบหนึ่ง รูปแบบของแสตมป์ตลกที่เกิดจากการปรุรูนี้ ขึ้นอยู่กับวิธีการปรุ ถ้าเป็นการปรุแบบเส้นตรงทีละแถว เครื่องอาจกระโดดไม่ปรุรูแถวหนึ่งในแนวตั้งหรือแนวนอน เป็นต้น เวลาเก็บสะสมนิยมเก็บแสตมป์อย่างน้อยสองดวงติดกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าแนวระหว่างดวงแสตมป์ไม่มีรอยปรุ เรียกว่าไม่ปรุรูระหว่างคู่ (imperforate between) แต่ถ้าผิดพลาดไม่ปรุแสตมป์ตรงแนวขอบของแผ่น เรียกว่าไม่ปรุรุด้านบน ด้านข้าง หรือ ด้านล่าง (margin imperforate) ขึ้นกับว่าขอบด้านไหนไม่มีการปรุรู

ความผิดพลาดแบบอื่นที่พบได้อีก เช่น ปรุรูเคลื่อน (misplaced imperforate) ไปทับภาพบนดวงแสตมป์ ปรุรูซ้ำสองครั้ง ปรุรูตอนที่แผ่นแสตมป์มีการพับ เป็นต้น

อ้างอิง แก้

  1. ๑๒๐ ปีตราไปรษณียากรไทย, บริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด, พ.ศ. 2546
  2. De La Rue: Corporate History เก็บถาวร 2007-07-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เรียกค้นข้อมูลเมื่อ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2550)