การทำแท้งในประเทศไทย

การทำแท้งในประเทศไทย ถูกกฎหมายหากอยู่ในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 หลังจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญใน พ.ศ. 2564 ได้วินิจฉัยว่ากฎหมายบางมาตราการทำแท้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ[1]

สถานะทางกฎหมาย แก้

สถานะทางกฎหมายของการทำแท้งในประเทศไทยอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมายยกเว้นในบางกรณี ซึ่งตามกฎหมายอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์โดยแพทย์เท่านั้น โดย (1) จำเป็นต้องทำแท้งเนื่องจากสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ หรือ (2) การตั้งครรภ์เป็นผลมาจากการถูกข่มขืน หากนอกเหนือจากกรณีดังกล่าว ผู้ทำแท้งตนเอง มีโทษจำคุกสูงสุดสามปี และผู้ที่ทำให้หญิงแท้ง มีโทษจำคุกสูงสุดห้าปี (หากผู้ทำให้หญิงแท้งโดยไม่ยินยอม มีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี)[2]

ใน พ.ศ. 2532 ช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคเอดส์เพิ่มขึ้น แพทยสภาได้ปรึกษาหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าสามารถตีความกฎหมายเพื่ออนุญาตให้ทำแท้งในกรณีที่มีการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งไม่สามารถคาดหมายได้ว่าหากเด็กเกิดออกมาแล้ว จะมีคุณภาพชีวิตที่ยอมรับได้หรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบว่าไม่สามารถตีความเป็นอย่างนั้นได้ เนื่องจากกฎหมายอนุญาตให้พิจารณาเฉพาะสุขภาพของมารดาเท่านั้น ไม่ใช่เด็ก[3] ต่อมามีการถกเถียงเรื่องการตีความเรื่องสุขภาพ และแพทยสภาได้ออกข้อบังคับเมื่อปี 2548 ซึ่งตีความอย่างชัดเจนทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจว่า เป็นปัจจัยที่จำเป็นต้องทำแท้ง[4] ข้อบังคับนี้ตีความอย่างกว้างว่ารวมถึงผู้หญิงที่ความเครียดอย่างรุนแรง เนื่องจากมีโอกาสที่เด็กในครรภ์จะมีความพิการ กฎระเบียบดังกล่าวได้บังคับใช้เช่นเดียวกับคลินิกที่ดำเนินการโดยสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย เพื่อให้บริการทำแท้งแก่สตรีในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรกเท่านั้น ส่วนผู้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่สองต้องทำที่โรงพยาบาล ห้ามทำแท้งหลังจาก 28 สัปดาห์ไปแล้ว[5]

กระทรวงสาธารณสุข ออกควบคุมการทำแท้งด้วยยา ซึ่งการยุติทารกในครรภ์ที่อายุครรภ์น้อยกว่าเก้าสัปดาห์ทำได้หากมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์บางประการหรือทั้งหมดต่อไปนี้: (1) ความจำเป็นทางการแพทย์, (2) ความจำเป็นทางกฎหมาย (เช่น ถูกข่มขืน), (3) ผู้หญิงมีอายุต่ำกว่า 15 ปี (และยังไม่จดทะเบียนสมรส) (4) ทารกในครรภ์เสี่ยงต่อความผิดปกติอย่างรุนแรงหรือความผิดปกติทางพันธุกรรม[6]:17

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 ยาสองชนิดที่ทำให้เกิดการแท้ง ได้แก่ มิฟีพริสโตน และมิโสโปรสตอล ได้รับการอนุมัติให้ใช้เป็นยายุติการตั้งครรภ์ในสถานพยาบาล และต้องสั่งยาโดยแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกที่ได้รับการรับรอง ผู้หญิงที่กินยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ด้วยตนเองมีโทษตามกฎหมาย[5][7]

ในคำตัดสินที่เผยแพร่เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่ากฎหมายการทำแท้งของประเทศไทยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ซึ่งผู้ทำแท้งต้องจำคุกไม่เกิน 3 ปีและปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 และ 28 ซึ่งชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันตลอดจนสิทธิและเสรีภาพในชีวิตของทุกคน ศาลมีคำสั่งให้แก้ไขมาตรา 301 ภายใน 360 วันนับจากวันพิพากษา กล่าวคือ ไม่เกิน 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564[8] ส่วนมาตรา 305 ซึ่งอนุญาตให้ทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายเมื่อการตั้งครรภ์เกิดจากการถูกข่มขืน หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมารดา ได้รับการวินิจฉัยว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้แก้ไขมาตรา 301 และ 305 ทั้งสองมาตราเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของประเทศไทยในปัจจุบัน

หลังจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเมื่อ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยมีสาระสำคัญคือการแก้ไขความในมาตรา 301 โดยปรับลดโทษลงเหลือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และ/หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท และแก้ไขความในมาตรา 305 ซึ่งอนุญาตให้ทำแท้งได้ในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์[9] ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างพระราชบัญญัตดังกล่าวเมื่อ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2563[10] และผ่านการพิจารณาทั้งสามวาระเมื่อ 20 มกราคม พ.ศ. 2564 ด้วยคะแนนเสียง 276 ต่อ 8 เสียง และงดออกเสียง 54 เสียง[11] และผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภาทั้งสามวะระเมื่อ 25 มกราคม พ.ศ. 2564 ด้วยคะแนนเสียง 166 ต่อ 7 เสียง[12] ร่างพระราชบัญญัติได้รับพระบรมราชานุญาตเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป[13]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "Abortion laws to be amended by court ruling". Bangkok Post. 20 February 2020. สืบค้นเมื่อ 25 February 2020.
  2. "Thai Criminal Code; Chapter 3 Offence of Abortion (Sections 301-305)". Thailand Law Library. Siam Legal. สืบค้นเมื่อ 25 February 2020.
  3. อวิการัตน์ นิยมไทย (January–February 2011). "กฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้ง: Abortion act" (PDF). Chunniti: 167–176. ISSN 1686-3720. สืบค้นเมื่อ 25 February 2020.
  4. "ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548" [The Thai Medical Council’s Regulation On Criteria for Performing Therapeutic Termination of Pregnancy In accordance with Section 305 of the Criminal Code of Thailand, B.E. 2548] (PDF). Royal Thai Government Gazette. 122 (118D): 7–8. 15 December 2005. สืบค้นเมื่อ 25 February 2020.
  5. 5.0 5.1 Charuvastra, Teeranai (3 March 2017). "Abortion in Thailand: More safe and legal than you may have thought". Khaosod English. สืบค้นเมื่อ 25 February 2020.
  6. "Situation Analysis of Adolescent Pregnancy in Thailand" (PDF). UNICEF. 2015. สืบค้นเมื่อ 25 February 2020.
  7. Ekachai, Sanitsuda (21 February 2020). "Historic ruling offers pro-choice hope" (Opinion). Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 25 February 2020.
  8. "Abortion laws to be amended by court ruling". Bangkok Post. 20 February 2020. สืบค้นเมื่อ 25 February 2020.
  9. "Abortion in first 12 weeks to be allowed". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-11-17. สืบค้นเมื่อ 2021-01-26.
  10. "Historic abortion bill passes". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-12-24. สืบค้นเมื่อ 2021-01-26.
  11. "House passes early-stage abortion bill". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-01-21. สืบค้นเมื่อ 2021-01-26.
  12. "Thailand backs amendment allowing early-stage abortions". Reuters (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-01-26. สืบค้นเมื่อ 2021-01-26.
  13. "พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564" [An act Amending the Penal Code (No. 28) B.E. 2654 (2021)] (PDF). Royal Thai Government Gazette. 138 (10A): 1–2. 6 February 2021. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-02-06. สืบค้นเมื่อ 2021-02-09.