การตั้งชื่อดาวฤกษ์

การตั้งชื่อดาวฤกษ์ (และวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ) ดำเนินการโดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ชื่อดาวฤกษ์จำนวนมากที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้สืบทอดมาแต่อดีตก่อนจะมีการก่อตั้งสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล แต่ยังมีชื่ออื่นๆ โดยเฉพาะชื่อของดาวแปรแสง (รวมทั้งโนวาและซูเปอร์โนวา) ซึ่งได้รับการตั้งชื่อเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ดี ดาวฤกษ์ส่วนใหญ่แล้วไม่มีชื่อเรียก แต่จะเรียกขานกันด้วยหมายเลขรหัสแคตาล็อก บทความนี้จะกล่าวถึงกระบวนการที่ใช้ในการตั้งชื่อดาวฤกษ์โดยสังเขป

ชื่อเฉพาะ แก้

ดาวฤกษ์สว่างมากที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่ามักมีชื่อเรียกมาแต่โบราณกาล โดยมากเป็นคำมาจากภาษาอารบิก และอีกจำนวนหนึ่งจากภาษาละติน ดูเพิ่มเติมที่ รายชื่อดาวฤกษ์ดั้งเดิม

ในทางปฏิบัติแล้ว ชื่อดั้งเดิมจะใช้เรียกกันโดยทั่วไปสำหรับดาวสว่างมากๆ เท่านั้น (เช่น ซิริอุส อาร์คตุรุส เวกา เป็นต้น) หรือดาวจำนวนหนึ่งที่แม้จะไม่สว่างมากนัก แต่มีความ "น่าสนใจ" (เช่น ดาวอัลกอล ดาวเหนือ ดาวมิรา เป็นต้น) สำหรับดาวฤกษ์สว่างอื่นๆ ที่มองเห็นด้วยตาเปล่า มักนิยมเรียกขานด้วยระบบการตั้งชื่อของไบเออร์

นอกเหนือจากชื่อดาวแบบดั้งเดิมแล้ว ยังมีดาวที่ "น่าสนใจ" อีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษใหม่ เช่น ดาวเบอร์นาร์ด ซึ่งมีค่าการเคลื่อนที่เฉพาะสูงที่สุดในบรรดาดาวฤกษ์ที่เรารู้จัก และยังเป็นดาวที่จางที่สุดเท่าที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดูเพิ่มเติมที่ รายชื่อดาวฤกษ์ซึ่งตั้งตามนามบุคคล

ระบบไบเออร์ แก้

โยฮัน ไบเออร์ ได้เสนอระบบการตั้งชื่อดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในแต่ละกลุ่มดาวตามลำดับอักษรกรีก (บางครั้งก็ใช้ภาษาละติน แต่พบไม่บ่อยนัก) ซึ่งเป็นระบบที่ยังคงใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ดูเพิ่มเติมที่ การตั้งชื่อระบบไบเออร์

หมายเลขแฟลมสตีด แก้

ระบบการตั้งลำดับหมายเลขของดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวของ จอห์น แฟลมสตีด เป็นอีกระบบหนึ่งที่นิยมแพร่หลาย ถึงแม้ว่าระบบอักษรกรีกของไบเออร์จะเป็นที่นิยมมากกว่า ดูเพิ่มเติมที่ การตั้งชื่อระบบแฟลมสตีด[1]

หมายเลขกูลด์ แก้

เบนจามิน กูลด์ กำหนดหมายเลขให้กับดาวฤกษ์ในท้องฟ้าซีกใต้ในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับระบบของเฟลมสตีดที่กำหนดให้ดาวในท้องฟ้าซีกเหนือ ดาวฤกษ์บางดวงยังคงเรียกขานตามระบบนี้อยู่ แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเป็นที่นิยมแล้ว ดูเพิ่มเติมที่ ระบบการตั้งชื่อดาวฤกษ์ของกูลด์

หมายเลขเฮเวลิอุสและโบเดอ แก้

ทั้งโยฮันเนส เฮเวลิอุส และ โยฮัน เอเลิร์ท โบเดอ ได้กำหนดระบบตัวเลขสำหรับดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวเอาไว้คล้ายคลึงกัน หมายเลขดาวในระบบนี้ไม่ค่อยเป็นที่ใช้งานกันแล้ว แต่ในปัจจุบันยังมีบางหมายเลขที่บังเอิญถูกนำไปใช้โดยเข้าใจผิดว่าเป็นระบบหมายเลขของเฟลมสตีด ตัวอย่างที่โด่งดังคือ 47 นกทูแคน ซึ่งเป็นหมายเลขที่กำหนดจากระบบของโบเดอ

การตั้งชื่อดาวแปรแสง แก้

ดาวแปรแสงซึ่งมิได้มีการกำหนดชื่อไว้ในระบบไบเออร์ จะได้รับการตั้งชื่อเป็นพิเศษเพื่อระบุว่าเป็นดาวแปรแสง ดูเพิ่มเติมที่ ระบบการตั้งชื่อดาวแปรแสง

สารบัญแฟ้มดาวฤกษ์ แก้

มีวิธีการตั้งชื่อดาวฤกษ์ที่เป็นที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายคือ การใช้บัญชีรายชื่อดาวฤกษ์ ซึ่งรวบรวมขึ้นโดยนักดาราศาสตร์ด้วยกลวิธีและวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน มีบัญชีรายชื่อดาวฤกษ์อยู่เป็นจำนวนมาก ดูเพิ่มเติมที่ สารบัญแฟ้มดาวฤกษ์

การค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบ แก้

เมื่อมีการตรวจพบดาวเคราะห์โคจรรอบดาวฤกษ์ ดาวฤกษ์นั้นจะได้รับการตั้งชื่อตามชื่อของกล้องดูดาวหรือชื่อปฏิบัติการที่ค้นพบนั้น และหมายเลขตามเป็นจำนวนดาวเคราะห์ที่ค้นพบแล้วในปฏิบัติการนั้นๆ เช่น เอชเอที-พี-9, วอสป์-1, โคโรต-1, เคปเลอร์-4.

การขายชื่อดาว แก้

มีบริษัทจำนวนหนึ่งที่ขายสิทธิในชื่อของดาวฤกษ์เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ การขายชื่อดาวนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการตั้งชื่อดาวฤกษ์อย่างเป็นทางการโดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล อีกทั้งชื่อเหล่านั้นก็ไม่เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิทยาศาสตร์หรือองค์กรใดๆ ดังนั้น ดาวฤกษ์ดวงหนึ่งๆ อาจมีชื่อที่แตกต่างกันได้หลายชื่อตามแต่ละบริษัท หรืออาจมีหลายชื่อในบริษัทเดียวกันก็ได้[2] นอกจากนั้นในแวดวง แฟนคลับของศิลปิน ก็ยังนิยม ซื้อดวงดาวต่างๆในจักรวาล โดยมีการตั้งชื่อ และซื่อขายดวงดาวต่างๆให้กับศิลปินและดาราที่ตนเองชื่นชอบ [3]

อ้างอิง แก้

  1. "Naming Astronomical Objects". International Astronomical Union (IAU). สืบค้นเมื่อ 2009-01-30.
  2. IAU: "Buying Stars and Star Names"
  3. "'เปย์ดาวให้เธอ' ไขข้อข้องใจซื้อแล้วได้อะไร ซื้อได้จริงหรือไม่!?". #beartai (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-09-10.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้