การตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ต

การตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ต หรือ การเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต (อังกฤษ: Internet censorship) คือการควบคุมหรือปราบปรามว่าสิ่งใดสามารถเข้าถึง เผยแพร่ หรือรับชมได้บนอินเทอร์เน็ตโดยผู้กำกับดูแล ทั้งนี้ปัจเจกบุคคลหรือองค์กรต่าง ๆ ยังสามารถตรวจพิจารณา (เซ็นเซอร์) ตนเอง (Self-censorship) ได้ด้วยเช่นกัน จากเหตุผลด้านจริยธรรม ศาสนา หรือทางธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานทางสังคมและหลีกเลี่ยงการคุกคามข่มขู่ หรือเนื่องจากเกรงกลัวผลทางกฎหมายหรือผลกระทบอื่น ๆ ที่จะตามมาในภายหลัง[1]

ระดับการตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตของประเทศต่าง ๆ โดยองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน
  ไม่มีการตรวจพิจารณา
  มีการตรวจพิจารณาบางส่วน
  ประเทศที่อยู่ภายใต้การสอดส่องจากองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน
  หลุมดำอินเทอร์เน็ต (ประเทศที่มีการตรวจพิจารณาอย่างหนัก)

สำหรับขอบเขตการตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตนั้นจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศประชาธิปไตยส่วนมากมีการตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตไม่มากนัก ในขณะที่บางประเทศตรวจพิจารณาถึงขั้นจำกัดข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ เช่น ข่าวสาร หรือห้ามปรามการพูดคุยอภิปรายในหมู่ประชาชนของตน[1] นอกจากนี้การตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตยังมีไว้เพื่อตอบโต้เหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วหรือกำลังจะเกิดขึ้นก็ได้ เช่น การเลือกตั้ง การประท้วงชุมนุม หรือการก่อจลาจล ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือปริมาณการตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงเหตุการณ์อาหรับสปริง และยังมีเหตุผลอื่น ๆ สำหรับการตรวจพิจารณาอีก เช่น เหตุผลด้านลิขสิทธิ์ การหมิ่นประมาท การก่อกวน/ล่วงละเมิด หรือเพื่อปิดกั้นเนื้อหาลามกอนาจาร เป็นต้น

เสียงสนับสนุนหรือคัดค้านการตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตก็แตกต่างกันออกไป จากผลการสำรวจ อินเทอร์เน็ตโซไซตี ประจำปี พ.ศ. 2555 (2012 Internet Society survey) พบว่าร้อยละ 71 ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยว่า "ควรมีรูปแบบการตรวจพิจารณาบางชนิดบนอินเทอร์เน็ต" และในผลสำรวจเดียวกันพบว่าร้อยละ 83 ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยว่า "ควรถือว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานประการหนึ่ง" และร้อยละ 86 ของผู้ตอบแบบสอบถามยังเห็นด้วยว่า "ควรรับประกันให้มีเสรีภาพในการพูดบนอินเทอร์เน็ต" ซึ่งจากดัชนีเว็บไซต์โลก (GlobalWebIndex) พบว่าผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 400 ล้านคน ใช้เครือข่ายส่วนตัวเสมือนในการหลีกเลี่ยงการตรวจพิจารณาหรือเพื่อเพิ่มระดับความเป็นส่วนตัวให้มากขึ้น[2] อย่างไรก็ตามเทคนิคหรืออุบายการหลีกเลี่ยงส่วนมากไม่เหมาะสมกับการใช้งานแบบวันต่อวัน

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Schmidt, Eric E.; Cohen, Jared (11 March 2014). "The Future of Internet Freedom". New York Times. สืบค้นเมื่อ 11 March 2014.
  2. Roberts, H., Zuckerman, E., & Palfrey, J. (2009, March). 2007 Circumvention Landscape Report: Methods, Uses, and Tools (Rep.). Retrieved March 18, 2016, from The Berkman Center for Internet & Society at Harvard University.