กันเกรา

สปีชีส์ของพืช
กันเกรา
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Asterids
อันดับ: Gentianales
วงศ์: Gentianaceae
สกุล: Fagraea
สปีชีส์: F.  fragrans
ชื่อทวินาม
Fagraea fragrans
Roxb.

กันเกรา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Fagraea fragrans) เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ขึ้นโดยทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนจะออกดอกเป็น ช่อสีเหลือง มีกลิ่นหอมขจรขจาย ต้นกันเกรามีชื่อเรียกอื่นว่า มันปลา ตำเสา มะซูไม้ต้น

กันเกรามีชื่อเรียกต่างกันไปคือ ภาคกลางเรียก กันเกรา ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียก มันปลา ส่วนภาคใต้เรียก ตำแสง หรือตำเสา มูซูเป็นภาษาถิ่นทางภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งถือเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง อันมีชื่อเป็นมงคลและมีคุณสมบัติที่ดีในการใช้ประโยชน์ คือชื่อกันเกราหมายถึง กันสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายไม่ให้มาทำอันตรายใด ๆ ชื่อตำเสาคือ เป็นมงคลแก่เสาบ้านไม่ให้ปลวก มอด แมลงต่าง ๆ เจาะกิน ชื่อมันปลา น่าจะเป็นลักษณะของดอกที่เหมือนกับไขมันของปลาเมื่อลอยน้ำไขมันของปลาในถ้วยน้ำแกง โดยเฉพาะช่วงข้าวใหม่ปลามันที่ปลาจะมีความมันและเอร็ดอร่อยเป็นที่สุด

ต้นกันเกรามีลักษณะต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15–25 เมตร เปลือกสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องลึกไม่เป็นระเบียบ ใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม แผ่นใบรูปมนขนาดกว้าง 2.5–3.5 เซนติเมตร ยาว 8–11 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือยาวเรียว ฐานใบแหลม โคนมน ใบเขียวมันวาว มีทรงพุ่งเป็นทรงฉัตรแหลมสวยงาม ดอกเริ่มบานสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง กลิ่นหอม ผลกลมเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 มิลลิเมตร สีส้มแล้วเปลี่ยนไปเป็นสีแดงเลือดนกเมื่อแก่เต็มที่ มีเมล็ดขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก นิเวศวิทยา ขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณชื้นและตามที่ต่ำที่ชื้นแฉะใกล้น้ำทั่วทุกภาคของประเทศไทย ออกดอกช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน เป็นผลช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ขยายพันธุ์โดยเมล็ด

ประโยชน์ได้แก่ เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อละเอียด เหนียว แข็ง ทนทาน ใช้ในการก่อสร้าง นิยมใช้ทำเสาเรือน แก่นมีรสฝาดใช้เข้ายาบำรุงธาตุ แน่นหน้าอก เปลือกใช้บำรุงโลหิต ผิวหนังพุพอง ปลูกเป็นไม้ประดับ ลักษณะลำต้นที่สวยงามทั้งลวดลายของเปลือกและเนื้อไม้ เหมาะแก่การนำไปใช้ประโยชน์ทำเครื่องเรือนและเครื่องใช้ต่าง ๆ มีน้ำมันหอมระเหยที่เปลือก

กันเกรามีความสวยงามและกลิ่นหอมไม่เหมือนใคร ทั้งยังเป็นไม้มงคล 1 ใน 9 ชนิด เช่นเดียวกับราชพฤกษ์ ขนุน ชัยพฤกษ์ ทองหลาง ไผ่สีสุก ทรงบาดาล สัก และพะยูง ที่คนนิยมนำมาใช้ในพิธีกรรมเมื่อเวลาก่อสร้างบ้านเรือนให้เป็นสิริมงคล นอกจากนั่นคนอีสานยังนำมาบูชาพระโดยเฉพาะเมื่อเวลางานบุญบวชนาคช่วงเดือนพฤษภาคมหรือเดือน 6 ของทุกปี ก่อนที่จะถึงวันบวชนาคผู้ที่จะบวชนาคต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจอย่างดี เรียกว่า การเข้านาค ผู้ที่จะบวชนาคซึ่งต้องมาเข้านาคนั้นจะต้องแต่งกายชุดสุภาพ มีผ้าแพรหรือผ้าขาวม้าพับอย่างงามพาดบ่า รวมทั้งละเว้นอบายมุขต่างๆ พิธีกรรมหนึ่งของการเข้านาคจะมีการแห่ดอกไม้ก็คือดอกมันปลาหรือดอกกันเกรา จุดเริ่มต้นของขบวนอยู่ที่วัดจากนั้นก็เคลื่อนขบวนแห่ไปตามถนน บ้านเรือนท้องไร่ ท้องนา เพื่อไปเก็บดอกมันปลามาบูชาพระ พร้อมที่จะเข้าพิธีอุปสมบท ในระหว่างการแห่ก็จะมีการตีกลองร้องเพลงไปโดยตลอด เวลาเริ่มแห่ก็ช่วงบ่ายๆพอขบวนจะกลับถึงวัดก็ใกล้ค่ำ พิธีกรรมต่อไปคือนำช่อของดอกมันปลาที่เก็บมาในขบวนแห่จุ่มน้ำแล้วสะบัดให้น้ำจากดอกมันปลาไปสรงพระพุทธรูปบูชาขอพรเป็นอันเสร็จพิธี ผู้ที่ร่วมพิธีกรรมตั้งแต่การแห่จนแล้วเสร็จพิธีจะมีพระ 1 รูป สามเณร คนที่จะอุปสมบท หญิงสาวที่อาจจะเป็นที่รักหรือเพื่อนๆของผู้ที่จะอุปสมบท รวมทั้งเด็กๆด้วย พิธีกรรมนี้จะทำจนกว่าจะถึงวันอุปสมบท เมื่อถึงวันอุปสมบทก็มีพิธีกรรมตามประเพณีซึ่งไม่ขอกล่าวในที่นี้

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด แก้

สัญลักษณ์ประจำสถานศึกษา แก้

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้