กองพลทหารอาสาสมัคร

กองพลทหารอาสาสมัคร หรือกองพลเสือดำ (อังกฤษ: Royal Thai Volunteer Force) (อักษรย่อ : พล.อสส.) เป็นชื่อเรียกทหารจากกรมทหารอาสาสมัครที่ไปปฏิบัติการรบในสาธารณรัฐเวียดนาม ช่วงสงครามเวียดนาม พ.ศ. 2510 - 2515 ซึ่งปัจจุบันคือกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ จังหวัดกาญจนบุรี

กองพลทหารอาสาสมัคร
(Royal Thai Volunteer Force)
ตราประจำหน่วย กองพลทหารอาสาสมัคร "กองพลเสือดำ"
ประจำการกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510
ปลดประจำการ1 พฤษภาคม พ.ศ. 2515
ประเทศ ไทย
เหล่ากองทัพบกไทย
รูปแบบกองพลอาสาสมัคร
ขึ้นกับกองบัญชาการทหารสูงสุด
กองบัญชาการกองบัญชาการกองกำลังทหารไทยในสาธารณรัฐเวียดนาม กรุงไซ่ง่อน ประเทศเวียดนามใต้
สมญากองพลเสือดำ
ปฏิบัติการสำคัญสงครามเวียดนาม
การรุกตรุษญวน
ยุทธการฮัตดิช
ปฏิบัติการทวนทังที่ 1
ปฏิบัติการทวนทังที่ 2
ปฏิบัติการทวนทังที่ 3
อิสริยาภรณ์ แกลแลนทรี่ครอส ยูนิท ไซเทเชิน ประดับใบปาร์ม


ซิฟเวิลแอคเชิน ยูนิท ไซเทเชิน ประดับใบโอ๊ค


เมอริโทเรียส ยูนิท คอมมันเดเชิน (ทหารบก)

ประวัติ แก้

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2488 โลกได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ผ่าย คือ ฝ่ายคอมมิวนิสต์ มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ และฝ่ายประชาธิปไตย มีสหรัฐเป็นผู้นำ

ฝ่ายคอมมิวนิสต์ มีนโยบายรุกราน และต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ของประเทศต่าง ๆ ในโลก ให้เป็นแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯ จึงได้เสนอแผนการมาร์แชล เพื่อบูรณะฟื้นฟูประเทศในยุโรปตะวันตก จากวิกฤตทางเศรษฐกิจ และตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ สำหรับช่วยเหลือในทางทหาร ในเอเชียฝ่ายคอมมิวนิสต์ขยายอิทธิพลด้วยการส่งจารชน และผู้ก่อการร้ายเข้าไปบ่อนทำลายบรรดาประเทศในทวีปเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย, เกาหลี, ศรีลังกา, พม่า, กัมพูชา, ลาว และไทย เพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และเข้ายึดครองประเทศเหล่านั้นตามอุดมการณ์ครองโลกของคอมมิวนิสต์

สหรัฐฯ ตระหนักดีว่า หากอินโดจีนแพ้สงคราม และตกเป็นของคอมมิวนิสต์แล้ว จะนำไปสู่การสูญเสียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ตามทฤษฎีโดมิโน จึงได้ทุ่มเทความช่วยเหลือแก่ เวียดนามใต้ สหรัฐฯจึงเป็นผู้นำในการต่อต้านเวียดนามเหนือ นับตั้งแต่ฝรั่งเศสต่อสู้กับเวียดนามเหนือ เมื่อฝรั่งเศสแพ้ สหรัฐฯ จึงเข้าไปช่วยเหลือเวียดนามใต้

ในปี พ.ศ. 2508 เวียดนามใต้ตกอยู่ในจุดล่อแหลมที่สุด สหรัฐฯ จึงตกลงใจส่งกำลังทหารเข้าไปปฏิบัติการในสาธารณรัฐเวียดนาม พร้อมกับกำลังของฝ่ายโลกเสรีอีก 7 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สเปน, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน และไทย การจัดรูปแบบของการรบเป็นในแบบสงครามจำกัด มุ่งให้เป็นการรบของ เวียดนามทั้งสองฝ่ายเท่านั้น

การจัด แก้

การจัดกำลังทหาร[1] แก้

การจัดทหารเพื่อส่งไปยังเวียดนามใต้ กองทัพบกมีนโยบายส่งกำลังทหารไปเป็นผลัด ในแต่ละผลัดให้บรรจุทหารกองหนุนและกองเกินร่วมกับทหารประจำการ โดยถือทหารประจำการอาสาสมัครเป็น คือ

  • ทหารประจำการ 64 %
  • ทหารกองหนุน 20 %
  • พลเรือนที่อาสาสมัคร 16 %

ในแต่ละผลัดให้แบ่งกำลังออกเป็น 2 ส่วน โดยเรียกกำลังที่เข้ารวมในแต่ละส่วน มีระยะห่างกัน 6 เดือน และแต่ละผลัดห่างกัน 1 ปี

การจัดหน่วยทหาร แก้

การจัดหน่วยในกองพล เป็นการจัดในรูปผิดแผกไปจากหน่วยกองพลทหารราบของกองทัพบกทั่วไป คือ กองพลทหารราบทั่วไป จะจัดเป็นหน่วยแบบ 3 แต่กองพลอาสาสมัคร จะจัดเป็นหน่วยแบบผสม คือมีแบบ 2, แบบ 3, และแบบ 4 ผสมกันอยู่ ซึ่งประกอบด้วย

  1. ส่วนบังคับบัญชา ได้แก่
    • กองบัญชาการ และกองร้อยกองบัญชาการ
  2. ส่วนลาดตระเวน ได้แก่
    • กองพันทหารม้ายานเกราะ
    • กองร้อยลาดตระเวนระยะไกล
  3. ส่วนรบ ได้แก่
    • กรมทหารราบ 2 กรม แต่ละกรมประกอบด้วย กองบังคับการกรมและกองร้อยกองบังคับการ กับอีก 3 กองพันทหารราบ
  4. ส่วนสนับสนุนการรบ ได้แก่
    • ทหารปืนใหญ่กองพล (2 กองพัน กรมทหารปืนใหญ่ที่ 105 และ 1 กองพัน กรมทหารปืนใหญ่ที่ 155)
    • กองพันทหารช่างสนาม
    • กองพันทหารสื่อสาร
    • กองร้อยบินเบา
    • กองร้อยทหารสารวัตร
    • หน่วยข่าวกรองทหาร
  5. ส่วนสนันสนุนทางการส่งกำลังบำรุง ได้แก่กรมสนันสนุน ประกอบด้วย
    • กองบังคับการกรม และกองร้อยกองบังคับการและดุริยางค์
    • กองพันทหารเสนารักษ์
    • กองพันซ่อมบำรุง
    • กองร้อยส่งกำลังและบริการ
    • กองร้อยทหารขนส่ง
    • กองร้อยธุรการ
    • กองร้อยกำลังทดแทน

การส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม แก้

 
ทหารกองพลอาสาสมัครสงครามเวียดนามกำลังขึ้นเครื่องบินซี-130 ของกองทัพอากาศสหรัฐไปยังสมรภูมิระหว่างสงครามเวียดนาม

ในปี พ.ศ. 2507 ประธานาธิบดี เซือง วัน มิญ แห่งเวียดนามใต้ได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย โดยขอให้ฝึกหัดนักบินของกองทัพอากาศเวียดนามใต้ ที่ส่งเข้ามาฝึกในประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 รัฐบาลเวียดนามใต้ได้ขอความช่วยเหลือทางทหารจากไทยเพิ่มเติม โดยขอให้จัดส่งเรือไปช่วยปฏิบัติการลำเลียง และเฝ้าตรวจบริเวณชายฝั่ง ป้องกันการแทรกซึมทางทะเลให้แก่ เวียดนามใต้ และในปีเดียวกัน ก็ได้ขอกำลังจากกองทัพบก เพื่อช่วยยับยั้งการคุกคามของเวียดนามเหนือ นอกจากรัฐบาลไทยแล้วเวียดนามใต้ก็ได้ขอร้องทำนองเดียวกันไปยังประเทศฝ่ายโลกเสรีอื่น ๆ[2]

คณะรัฐมนตรี ได้ลงมติ อนุมัติหลักการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่รัฐบาลสาธารณรัฐเวียดนาม จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้น เรียกว่า กรมทหารอาสาสมัคร มีภารกิจในการรบเป็นหลัก และปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนเป็นรอง ถือว่าเป็นกองกำลังทหารไทยหน่วยแรก ที่ปฏิบัติการรบในเวียดนาม ได้สมญานามว่า "จงอางศึก" หลังจากที่ กรมทหารอาสาสมัคร เดินทางไปปฏิบัติการรบในสาธารณรัฐเวียดนาม เป็นเวลา 1 ปี กองทัพบกได้ มอบให้คณะกรรมการพิจารณา เตรียมการส่งกำลังไปผลัดเปลี่ยน กรมทหารอาสาสมัคร และเพิ่มเป็น 1 กองพลทหารอาสาสมัคร

เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2511 จึง มีคำสั่งจัดตั้ง กองพลทหารอาสาสมัคร บรรจุมอบเป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก มีที่ตั้งปกติ ณ ค่ายกาญจนบุรี ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี และไปปฏิบัติการรบ ณ สาธารณรัฐเวียดนาม มีสมญานามเป็น ที่รู้จักกัน ในนามว่า กองพลเสือดำ

ส่วนหนึ่งของวีรกรรมการรบที่สำคัญ แก้

การปฏิบัติการรบที่ฟุกโถ (20 - 21 ธันวาคม 2510) แก้

 
จงอาจศึก ในปี 2510

การรบที่ฟุกโถ นับเป็นการรบที่กรมทหารอาสาสมัครของไทยประสบชัยชนะอย่างเด็ดขาดถือได้ว่าเป็นวันแห่งชัยชนะของไทย ในสมรภูมิต่างแดน และยังผลในการสร้างขวัญกำลังใจแก่ทหารเวียดนามใต้เป็นอันมาก กรมทหารอาสาสมัครของไทยได้รับคำชมเชยจาก พล.อ. วิลเลียม เวสต์มอร์แลนด์ ผู้บัญชาการ กองบัญชาการช่วยเหลือทางทหาร ประจำเวียดนามใต้ และพล.อ. เคา แวน เวียน ประธานคณะเสนาธิการผสม กองทัพเวียดนามใต้

การรบที่เฟือกกาง (Phuoc Cang) แก้

ในคืนวันวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2512 เวลา 02.20 น. กองพันที่ 3 กรมที่ 274 เวียดกงได้เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยอาวุธเบาที่ 3 ของไทยอย่างรุนแรง โดยได้ยิงเตรียมด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด และจรวดอาร์พีจี ไปยังค่ายแบร์แคต และฐานยิงสนับสนุนพร้อมกัน หลังจากนั้นได้ใช้กำลังทหารราบเข้ารบประชิด รอบที่ตั้งฐานปฏิบัติการ ฯ ใน 3 ทิศทาง เนื่องจากการรบติดพันในระยะต้นไม่อาจใช้ปืนใหญ่ และเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธได้เต็มขีดความสามารถ จนถึงเวลา 06.00 น. เวียดกงเริ่มถอนตัวจากการรบ กองพลทหารอาสาสมัครได้ใช้ปืนใหญ่ของกองพล 5 กองร้อยกับกำลังทางอากาศระดมยิงอย่างหนัก เพื่อสกัดกั้น และทำลายการถอนตัวของข้าศึก และได้ส่งกำลังหมวดทหารม้ายานเกราะออกกวาดล้างข้าศึก จนถึง เวลา 10.45 น. จึงเสร็จสิ้น

ผลการรบ

  •   ฝ่ายไทย
    • เสียชีวิต 1 นาย
    • บาดเจ็บสาหัส 5 นาย
  •   ฝ่ายเวียดกง
    • เสียชีวิต 57 นาย
    • จับเป็นเชลย 10 คน
    • ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นอันมาก

ยุทธการทัมเทียน (Tham Thien) แก้

หมู่บ้านเฟือกเหงียนอยู่ในเขตอำเภอลองถั่น ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มมีลำน้ำหลายสาย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา และมีป่ารกทึบรอบบริเวณ มีสวนยางสลับป่า หมู่บ้านนี้สืบทราบมาว่าเป็นแหล่งหลบซ่อนกำลัง และสะสมเสบียงอาหารของกรมที่ 274 ของเวียดกงและกองโจรประจำถิ่นเวียดกง กองพลทหารอาสาสมัคร ได้รับมอบภารกิจให้ปฏิบัติการยุทธผสมร่วมกับกองกำลังกึ่งทหาร กำลังตำรวจ และกำลังเจ้าหน้าที่อำเภอลองถั่น เข้าทำการปิดล้อมและตรวจค้นหมู่บ้าน เพื่อทำลายข้าศึก และแยกประชาชนออกจากกองโจร ประจำถิ่นของเวียดกง กองพลทหารอาสาสมัครได้จัดกำลังกองร้อยอาวุธเบา วางกำลังไว้วงนอก ส่วนกำลังกึ่งทหาร 2 กองร้อยของกองทัพเวียดนามใต้ และกำลังตำรวจเวียดนามใต้อีกจำนวนหนึ่งวางกำลังไว้วงในทำการปิดล้อม และตรวจค้นหมู่บ้านแห่งนี้ โดยปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 12 ธันวาคม 2512 มีการปะทะกับเวียดกง 2 ครั้ง

ผลการรบ

  •   ฝ่ายไทย
    • ไม่มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ
  •   ฝ่ายเวียดกง
    • เสียชีวิต 4 คน
    • จับผู้ต้องสงสัยได้ 20 คน
    • ยึดอุปกรณ์ และเอกสารได้เป็นจำนวนมาก

ยุทธการสายฟ้าแลบ (Thunderbolt) แก้

เป็นการปฏิบัติการในพื้นที่ปฏิบัติการศิรินทร์ (AO Sirin) อยู่เหนือลำน้ำคา บริเวณที่ลำน้ำบรรจบกัน ตั้งแต่ 19 - 21 ตุลาคม 2513 โดยใช้ 2 หมวดทหารม้าลาดตระเวนทางอากาศเข้าตรวจค้นที่หมาย และใช้ 2 กองร้อยอาวุธเบาเคลื่อนที่ทางอากาศเข้าสกัดกั้น และติดตามเวียดกง

ผลการปฏิบัติ

  •   ฝ่ายไทย
    • ทหารปลอดภัย
  •   ฝ่ายเวียดกง
    • เสียชีวิต 39 คน
    • ทำลายที่กำบังปิดได้ 50 แห่ง
      • หลุมบุคคล 9 หลุม
      • อุโมงค์ 1 แห่ง
    • ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก

การรบที่ล็อกอัน (Loc An) แก้

กรมทหารราบที่ 1 ได้จัดกำลังไปตั้งฐานปฏิบัติการบริเวณหมู่บ้านล็อกอัน เพื่อสะกัดกั้นกองกำลังเวียดกงหมู่บ้านล็อกอันเป็นหมู่บ้านร้าง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอลองถันรอบพื้นที่เป็นที่ลุ่มป่าชายเลนและสวนยาง มีลำห้วยหลายสายไหลผ่าน

ในวันที่ 16 มีนาคม 2512 เวลาประมาณ 02.15 น. เวียดกงประมาณ 1 กองพันเพิ่มเติมกำลังได้เข้าตีที่ตั้งกองร้อยทหารไทยทั้ง 2 กองร้อย โดยเริ่มจากการยิงเตรียมด้วยเครื่องยิงลูกระเบิดและอาร์พีจี แล้วใช้กำลังส่วนใหญ่เข้าโจมตีเป็น 3 ทิศทาง ฝ่ายไทยขอรับการสนับสนุนจากปืนใหญ่กองพลและชุดเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธของกองทัพสนามที่ 2 สหรัฐฯ กองพลทหารอาสาสมัครก็ได้ส่งกำลังมาเสริมเมื่อเวลา 04.30 น.

การรบดำเนินไปอย่างรุนแรงจนใกล้รุ่ง ฝ่ายเวียดกงจึงถอยร่นกลับไป ฝ่ายเราได้ไล่ติดตามไปจนถึงเวลา 07.00 น. จึงเลิกติดตาม

ผลการรบ

  •   ฝ่ายไทย
    • เสียชีวิต 2 นาย
    • บาดเจ็บสาหัส 19 คน
    • บาดเจ็บไม่สาหัส 8 คน
  •   ฝ่ายเวียดกง
    • เสียชีวิตนับศพได้ 116 ศพ
    • จับเป็นเชลยได้ 3 คน
    • ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก

กองร้อยที่ 1 และกองร้อยที่ 4 กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 ได้รับคำสั่งให้ไปตั้งฐานปฏิบัติการที่บริเวณหมู่บ้านล็อกอันเมื่อ 16 มิถุนายน 2512 เวลาประมาณ 00.45 น. เวียดกง 1 กรมหย่อนกำลัง ได้เข้าตีฐานปฏิบัติการของทหารไทยเริ่มด้วยการยิงเตรียมด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด และอาร์พีจีอย่างหนัก แล้วส่งกำลังเข้าตี 3 ทิศทาง

ฝ่ายเราได้ขอรับการสนับสนุนจากปืนใหญ่กองพล 6 กองร้อย และเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธกับเครื่องบินสปุ๊กกี้จากกองทัพสนามที่ 2 สหรัฐฯ และการยิงสนับสนุนทางอากาศอย่างใกล้ชิดเวียดกงได้เข้าตีถึง 3 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ และถอนตัวกลับไปเมื่อเวลาประมาณ 05.00 น. ฝ่ายเราออกติดตามกวาดล้างจนถึงเวลา 08.00 น.

ผลการรบ

  •   ฝ่ายไทย
    • เสียชีวิต 2 ศพ
    • บาดเจ็บสาหัส 9 คน
    • บาดเจ็บไม่สาหัส 25 คน
  •   ฝ่ายเวียดกง
    • เสียชีวิตนับศพได้ 215 ศพ (คาดการว่าเสียชีวิตแล้วนำศพกลับไป 40 ศพ)
    • จับเป็นเชลยได้ 2 คน
    • ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. ที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพทหารหาญแห่งกองพลทหารอาสาสมัครที่เสียชีวิตในการสงคราม ณ สาธารณรัฐเวียดนาม กรกฎาคม 2511- มกราคม 2513. [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์แพร่การช่าง; 2513.
  2. กรมยุทธศึกษาทหาร,ประวัติการรบของทหารไทยในสงครามเวียดนาม, (กรุงเทพฯ: กรมยุทธศึกษาทหาร, 2541), 53

หนังสือสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม แก้

  • Ruth, Richard A. In Buddha’s Company: Thai Soldiers in the Vietnam War. Honolulu: University of Hawai’i Press, 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้