ในพระพุทธศาสนา กรรม (สันสกฤต: कर्म กรฺม, บาลี: กมฺม) แปลว่า "การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา" ได้แก่ กระทำทางกาย เรียก กายกรรม ทางวาจา เรียก วจีกรรม และทางใจ เรียก มโนกรรม

กรรม 2 แก้

กรรม 2 (การกระทำ, การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ทางกายก็ตาม ทางวาจาก็ตาม ทางใจก็ตาม - Kamma: action; deed) [1]

  1. อกุศลกรรม (กรรมที่เป็นอกุศล, กรรมชั่ว, การกระทำที่ไม่ดี ไม่ฉลาด ไม่เกิดจากปัญญา ทำให้เสื่อมเสียคุณภาพชีวิต หมายถึง การกระทำที่เกิดจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ หรือโมหะ - Akusala-kamma: unwholesome action; evil deed; bad deed) เป็นบาป กรรมชั่ว ความชั่วร้าย ความเสียหาย ความไม่ถูกต้อง ซึ่งให้ผลเป็นความทุกข์ เป็นสิ่งที่ควรเว้น การกระทำบาป กระทำความชั่ว เรียกว่าทำอกุศลกรรม เรียกย่อว่า ทำอกุศล หรือเรียกว่า ทำบาปอกุศล อกุศลกรรมเกิดมาจากอกุศลมูลอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 อย่างคือ โลภะ โทสะ โมหะ เพราะเมื่อเกิดอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเหตุชักนำใจให้คิดทำอกุศลกรรม เช่นเมื่อโลภะเกิดขึ้นก็เป็นเหตุให้คิดอยากได้ เมื่ออยากได้ก็แสวงหา เมื่อไม่ได้ตามต้องการด้วยวิธีสุจริต ก็เป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมอื่นต่อไป เช่น ลักขโมย ปล้น จี้ ฉ้อโกง เป็นต้น[2]
  2. กุศลกรรม (กรรมที่เป็นกุศล, กรรมดี, การกระทำที่ดี ฉลาด เกิดจากปัญญา ส่งเสริมคุณภาพของชีวิตจิตใจ หมายถึง การกระทำที่เกิดจากกุศลมูล คืออโลภะ อโทสะ หรืออโมหะ -Kusala-kamma: wholesome action; good deed) เป็นบุญ ความดี ความถูกต้อง ซึ่งให้ผลเป็นความสุขโดยส่วนเดียว การทำบุญ การทำความดี เรียกว่า ทำกุศลกรรม หรือเรียกย่อว่าทำกุศล กุศลกรรมที่ควรทำเป็นประจำได้แก่ ให้ทาน เสียสละ รักษาศีล อบรมจิตใจ เจริญภาวนา เรียกย่อว่าบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ซึ่งสามารถทำได้โดยบรรเทาความโลภ ความโกรธ ความหลงให้น้อยลง เพราะถ้ายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงเต็มจิตอยู่ ก็ไม่สามารถทำกุศลกรรมอะไรได้[2]

การจำแนกประเภทของกรรม แก้

กรรมดี หรือ กรรมชั่วก็ตาม กระทำทางกาย วาจา หรือทางใจก็ตาม สามารถจำแนกอีก เป็นประเภทต่าง ๆ ได้หลายแบบ ดังนี้

  • กรรมจำแนกตามเวลาการให้ผลของกรรม (ปากกาลจตุกะ) 4 อย่าง
  • กรรมจำแนกตามหน้าที่ของกรรม (กิจจตุกะ) 4 อย่าง
  • กรรมจำแนกตามลำดับการให้ผลของกรรม (ปากทานปริยายจตุกะ) 4 อย่าง
  • กรรมจำแนกตามฐานที่ให้เกิดผลของกรรม (ปากฐานจตุกะ) 4 อย่าง

จำแนกตามเวลาการให้ผลของกรรม แก้

การกระทำทางกาย วาจา ใจ ทั้งที่เป็นฝ่ายดีหรือไม่ดีก็ตาม ย่อมตอบสนองแก่ผู้กระทำ ไม่เร็วก็ช้า เวลาใดเวลาหนึ่ง กรรมจำแนกตามเวลาการให้ผลของกรรม (ปากกาลจตุกะ) แสดงกำหนดเวลา แห่งการให้ผลของกรรม มี 4 อย่าง คือ

  1. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน คือในภพนี้
  2. อุปปัชชเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า
  3. อปราปริเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในภพต่อ ๆ ไป
  4. อโหสิกรรม หมายถึง กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก

จำแนกตามหน้าที่ของกรรม แก้

กรรมจำแนกตามหน้าที่การงานของกรรม (กิจจตุกะ) กรรมมีหน้าที่ ที่จะต้องกระทำสี่อย่าง คือ

  1. ชนกกรรม หมายถึง กรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด กรรมแต่งให้เกิด
  2. อุปัตถัมภกกรรม หมายถึง กรรมสนับสนุน กรรมที่ช่วยสนับสนุนหรือซ้ำเติม ต่อจากชนกกรรม
  3. อุปปีฬกรรม หมายถึง กรรมบีบคั้น กรรมที่มาให้ผล บีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้น ให้แปรเปลี่ยนทุเลาลงไป บั่นทอนวิบากมิให้เป็นไปได้นาน
  4. อุปฆาตกกรรม หมายถึง กรรมตัดรอน กรรมที่แรงฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรม เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรมทั้งสองอย่างนั้น ให้ขาดไปเสียทีเดียว

จำแนกลำดับการให้ผลของกรรม แก้

กรรมจำแนกตามลำดับการให้ผลของกรรม (ปากทานปริยายจตุกะ) จำแนกตามความยักเยื้อง หรือ ลำดับความแรงในการให้ผล 4 อย่าง

  1. ครุกรรม หรือ ครุกกรรม (หนังสือพุทธธรรมสะกดครุกกรรม หนังสือกรรมทีปนีสะกดครุกรรม) หมายถึง กรรมหนัก ให้ผลก่อน เช่น ฌานสมาบัติ 8 หรือ อนันตริยกรรม จัดเป็นกรรมที่หนักที่สุด ให้ผลเร็วและแรง มีทั้งฝ่ายที่เป็นกุศลคือฝ่ายดีและฝ่ายที่เป็นอกุศลคือฝ่ายไม่ดี ครุกรรมที่เป็นกุศลได้แก่ฌานสมาบัติ ๘ ผู้ได้ฌานสมาบัติชื่อว่าได้ทำกรรมฝ่ายกุศลที่ดีที่สุด เมื่อสิ้นชีวิตแล้วย่อมได้เกิดในพรหมโลกทันที ส่วนครุกรรมที่เป็นอกุศลได้แก่อนันตริยกรรม ๕ มี ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา เป็น ผู้ทำอนันตริยกรรมชื่อว่าได้ทำกรรมฝ่ายอกุศลที่ร้ายแรงที่สุด เมื่อสิ้นชีวิตแล้วย่อมเกิดในนรกทันที ครุกรรมย่อมให้ผลก่อนกรรมอื่นเสมอ อุปมาเหมือนวัวแก่มีกำลังน้อย แต่ยืนอยู่ตรงปากประตูคอกพอดี ย่อมจะออกจากคอกได้ก่อนวัวหนุ่มอื่นๆ ทั้งหลาย ฉะนั้น[2]
  2. พหุลกรรม หรือ อาจิณกรรม หมายถึง กรรมที่ทำมาก หรือ ทำจนเคยชิน ให้ผลรองจากครุกรรม
  3. อาสันนกรรม หมายถึง กรรมจวนเจียน หรือ กรรมใกล้ตาย คือกรรมที่ทำเมื่อจวนจะตาย จับใจอยู่ใหม่ ๆ ถ้าไม่มีสองข้อก่อน ก็จะให้ผลก่อนอื่น
  4. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม (กตตฺตา-สิ่งที่เคยทำไว้, วา ปน-ก็หรือว่า, กมฺม-กรรม) หมายถึง กรรมอื่นที่เคยทำไว้แล้ว นอกจากกรรม 3 อย่างข้างต้น, ฏีกากล่าวว่า กรรมนี้ให้ผลในชาติที่ 3 เป็นต้นไป กรรมนี้จึงจะให้ผล เป็นกรรมทั้งฝ่ายดีและไม่ดีที่ทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่มีเจตนาจะให้เป็นอย่างนั้น กรรมที่ทำไว้ด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นโดยตรง ภาษาวินัยว่าเป็นอจิตตกะ ทำไปก็สักแต่ว่าทำ แม้มีโทษก็ไม่รุนแรง ถือว่าเป็นกรรมที่มีโทษเบาที่สุดในบรรดากรรมทั้งหลาย ถ้าไม่มีกรรมที่หนักกว่าเช่นพหุลกรรม หรือต่อเมื่อไม่มีกรรมอันอื่นให้ผลแล้ว กรรมนี้จึงจะให้ผล กรรมข้อนี้ ท่านเปรียบเหมือนคนบ้ายิงลูกศร เพราะคนปกติที่ไม่มีฤทธิ์จะไม่รู้เลยว่า เป็นกรรมอะไรที่จะมาให้ผลนำเกิด เนื่องจากทำไว้ในอดีตชาตินั่นเอง[2]

จำแนกตามฐานที่ให้เกิดผลของกรรม แก้

กรรมจำแนกตามฐานที่ให้เกิดผลของกรรม (ปากฐานจตุกะ) แสดงที่ตั้งแห่งผลของกรรมสี่อย่าง เป็นการแสดงกรรมโดยอภิธรรมนัย (ข้ออื่น ๆ ข้างต้นเป็นการแสดงกรรมโดยสุตตันตนัย)

  1. กามาวจรอกุศลกรรม
  2. กามาวจรกุศลกรรม
  3. รูปาวจรกุศลกรรม
  4. อรูปาวจรกุศลกรรม

จำแนกตามการกระทำ แก้

  • กายกรรม หมายถึง การกระทำทางกาย คือทำกรรมด้วยกาย ไม่ว่าจะทำกรรมชั่วหรือกรรมดี กายกรรมทางชั่ว มี 3 อย่าง คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กายทุจริต แปลว่า ประพฤติชั่วทางกาย กายกรรมทางดี มี 3 อย่างคือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กายสุจริต แปลว่า ประพฤติชอบทางกาย[2]
  • วจีกรรม หมายถึง การกระทำทางวาจา วจีกรรมที่เป็นกุศล มี4 อย่าง.คือ.ไม่พูดเท็จ,ไม่พูดส่อเสียด,ไม่พูดคำหยาบคาย และไม่พูดเพ้อเจ้อ..ส่วนวจีกรรมที่เป็นอกุศลจะตรงกันข้าม.
  • มโนกรรม หมายถึง การกระทำทางใจ คือ ทำกรรมด้วยการคิด ไม่ว่าจะทำกรรมชั่วหรือกรรมดี มโนกรรมทางชั่ว มี 3 อย่าง คือ โลภ อยากได้ของเขา พยาบาทปองร้ายเขา เห็นผิดจากคลองธรรม เรียกอีกอย่างว่า มโนทุจริต (แปลว่า ประพฤติชั่วด้วยใจ) มโนกรรมทางดี มี 3 อย่าง คือ ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้ายเขา เห็นชอบตามคลองธรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มโนสุจริต (แปลว่า ประพฤติชอบด้วยใจ)[2]

กรรมดำ กรรมขาว แก้

นอกจากเรื่องของกรรมดีกรรมชั่วแล้ว ยังมีการอธิบายกรรมอีกนัยหนึ่ง โดยอธิบายถึงกรรมดำกรรมขาว จำแนกเป็นกรรม 4 ประการ คือ

  1. กรรมดำมีวิบากดำ ได้แก่ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกาย วาจา ใจ อันมีความเบียดเบียนบุคคลอื่น ย่อมได้เสวยเวทนาที่มีความเบียดเบียน เป็นทุกข์โดยส่วนเดียว เช่น เป็นผู้ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ มีจิตประทุษร้ายต่อพระตถาคต ยังพระโลหิตให้ห้อขึ้น ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มน้ำเมา
  2. กรรมขาวมีวิบากขาว ได้แก่ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกาย วาจา ใจ อันมีไม่ความเบียดเบียนบุคคลอื่น ย่อมได้เสวยเวทนาที่ไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุขโดยส่วนเดียว เช่น เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการพูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มากไปด้วยความเพ่งเล็งอยากได้ มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบ
  3. กรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาว ได้แก่ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกาย วาจา ใจ อันมีความเบียดเบียนบุคคลอื่นบ้าง ไม่ความเบียดเบียนบุคคลอื่นบ้าง ย่อมได้เสวยเวทนาที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่ความเบียดเบียนบ้าง มีทั้งสุขและทั้งทุกข์ระคนกัน
  4. กรรมไม่ดำไม่ขาวมีวิบากไม่ดำไม่ขาว ได้แก่ เจตนาใดเพื่อละกรรมดำอันมีวิบากดำ เจตนาใดเพื่อละกรรมขาวอันมีวิบากขาว และเจตนาใดเพื่อละกรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม เช่น ผู้ปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปด โพชฌงค์เจ็ด

กฎแห่งกรรม แก้

กฎแห่งกรรม คือ กฎธรรมชาติ ข้อหนึ่ง ที่ว่าด้วยการกระทำ และผลแห่งการกระทำ ซึ่ง การกระทำและ ผลแห่งการกระทำนั้น ย่อมสมเหตุ สมผลกัน เช่น ทำดี ย่อมได้รับผลดี ทำชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว เป็นต้น

  • กรรมใดใครก่อ ตนเองเท่านั้นที่จะได้รับผลของสิ่งที่กระทำ
  • ผลกรรมในปัจจุบันเป็นกรรมคือเจตนาที่ทำมาในอดีต และกรรมคือเจตนาที่ก่อไว้ในปัจจุบันเป็นเหตุที่จะส่งผลสืบเนื่องต่อไปยังอนาคต
  • กรรมดี-กรรมชั่ว ลบล้างซึ่งกันและกันไม่ได้

ถึงแม้ว่าการทำกรรมดีจะลบล้างกรรมชั่วเก่าที่มีอยู่เดิมไม่ได้ แต่มีส่วนช่วยให้ผลจากกรรมชั่วที่มีอยู่เดิมผ่อนลง คือ การผ่อนหนักให้เป็นเบา (ข้อนี้ อุปมาได้กับ การที่เรามีน้ำขุ่นข้นอยู่แก้วหนึ่ง หากเติมน้ำบริสุทธิ์ลงไปแล้ว มิสามารถทำให้น้ำขุ่นกลับบริสุทธิ์ได้ แต่ทำให้น้ำขุ่นข้นนั้นกลับเจือจางลงและใสยิ่งขึ้นกว่าเดิม)

สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ [3]

กมฺมุนา วตฺตติโลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

— พุทธสุภาษิต

อ้างอิง แก้

  1. องฺ.ติก.20/445/131,551/338; ขุ.อิติ.25/208/248;242/272.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
  3. (จูฬกัมมวิภังคสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้