กรมศิลปากร

กรมในรัฐบาลไทย

กรมศิลปากร (อังกฤษ: Fine Arts Department) เป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีภารกิจคุ้มครอง ป้องกัน อนุรักษ์ บำรุงรักษา ฟื้นฟู ส่งเสริม สร้างสรรค์ เผยแพร่ จัดการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนา สืบทอดศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่อธำรงคุณค่าและเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมไทยและความมั่นคงของชาติ

กรมศิลปากร
ราชอาณาจักรไทย

อาคารกรมศิลปากร
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง27 มีนาคม พ.ศ. 2454 (113 ปี)
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่ไทย
1 ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร และ 81/1 ถนนศรีอยุธยา แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
งบประมาณประจำปี2,444.9905 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • พนมบุตร จันทรโชติ, อธิบดี
  • ขนิษฐา โชติกวณิชย์, รองอธิบดี
  • เจษฎา ชีวะวิชวาลกุล, รองอธิบดี
  • เสริมกิจ ชัยมงคล, รองอธิบดี
ต้นสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม
หน่วยงานลูกสังกัด
เว็บไซต์FineArts.go.th

ประวัติ แก้

ในอดีตก่อนพุทธศักราช 2454 ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เกี่ยวกับมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ บรรดาโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม การดนตรี นาฏศิลป์ งานช่างประณีตศิลป์ หอสมุด จดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์ ฯลฯ กิจการดังกล่าวจึงกระจายการจัดการไว้ตามหน่วยงานต่างๆ ทำให้ราชการบางอย่างยังไม่เป็นระเบียบอันดี หรือมีงานที่ก้าวก่ายกันอยู่

ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ 27 มีนาคม 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนกิจการของช่างมหาดเล็กจากกระทรวงวัง และกรมพิพิธภัณฑ์ จากกระทรวงธรรมการ มารวมกันตั้งเป็น “กรมศิลปากร” โดยให้มีผู้บัญชาการขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดในกระทรวง หรือกรมใดเป็นผู้บัญชาการเมื่อใดก็ได้ สุดแต่จะทรงพระราชดำริเห็นเหมาะสม ทั้งนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมศิลปากรพระองค์แรก

จากพระราชญาณทัศนะของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของมรดกศิลปวัฒนธรรม อันเป็นมูลฐานแสดงให้เห็นถึงความเจริญของชาติ จึงก่อกำเนิดเป็น “กรมศิลปากร” ซึ่งดำเนินภารกิจดูแลมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติมาจนถึงปัจจุบัน

  • พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้โอนกิจการของช่างมหาดเล็ก จากกระทรวงวัง และกรมพิพิธภัณฑ์ จากกระทรวงธรรมการ มาจัดตั้งเป็น "กรมศิลปากร"
  • พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนงานพิพิธภัณฑ์ ไปอยู่ในความควบคุมดูแลของ กรรมการหอพระสมุดฯ และได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งราชบัณฑิตยสภา เรียกว่า "ศิลปากรสถาน" ดังนั้น กรมศิลปากร จึงถูกยกเลิกไป
  • พ.ศ. 2476 มีพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมศิลปากร ขึ้นมาใหม่ โดยสังกัดกระทรวงธรรมการ และมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ส่วนราชการภายใน และย้ายสังกัด เพื่อความเหมาะสมหลายครั้ง
  • พ.ศ. 2501 มีพระราชบัญญัติ โอนกรมศิลปากร มาสังกัด กระทรวงศึกษาธิการ และต่อมาได้โอนมาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545

บทบาท และหน้าที่ แก้

กรมศิลปากรเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างสรรค์ บำรุงรักษา อนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ศิลปวิทยาการและวัฒนธรรมของชาติในด้านศิลปกรรม พิพิธภัณฑ์ โบราณคดีและโบราณสถาน วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รวมทั้งนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ สถาปัตยกรรม และช่างศิลป์ ให้คงอยู่อย่างมั่นคงถาวร

  1. ปกป้อง คุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมธำรงจารีตประเพณี พระราชพิธี และรัฐพิธีให้คงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศไทย
  2. สืบทอด สร้างสรรค์ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม
  3. ปรับเปลี่ยนระบบและกลไกการบริหารจัดการมรดกศิลปวัฒนธรรม
  4. บริหารจัดการองค์ความรู้และพัฒนามรดกศิลปวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว
  5. จัดการศึกษาเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์ สืบทอดและพัฒนาอย่างยั่งยืน

การแบ่งส่วนราชการ แก้

พ.ศ. 2545 มีการปฏิรูประบบราชการของประเทศครั้งใหญ่ กรมศิลปากรย้ายสังกัดจากกระทรวงศึกษาธิการไปสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และ แบ่งส่วนราชการเป็น 9 หน่วยงาน คือ สำนักเลขานุการกรม สำนักการสังคีต สำนักโบราณคดี สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ สำนักสถาปัตยกรรมและหัตถศิลป์ ต่อมา พ.ศ. 2548 แบ่งส่วนราชการเป็น 10 หน่วยงาน โดยแยกเป็น สำนักสถาปัตยกรรม และ สำนักช่างสิบหมู่

พ.ศ. 2549 กรมศิลปากรปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารของสำนักงานศิลปากร ที่ 1-15 จากหน่วยงานในสังกัดสำนักโบราณคดี เป็นราชการส่วนภูมิภาคขึ้นตรงต่อกรมศิลปากร เรียกว่า "สำนักศิลปากรที่ 1-15"

พ.ศ. 2550 สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป และ วิทยาลัยช่างศิลป แยกไปขึ้นตรงต่อกระทรวงวัฒนธรรม

พ.ศ. 2557 กระทรวงวัฒนธรรม ออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากรใหม่ โดยแยกกลุ่มโบราณคดีใต้น้ำออกจากสำนักโบราณคดี ยกขึ้นเป็น กองโบราณคดีใต้น้ำ แล้วเปลี่ยนสำนักโบราณคดีเป็นกองโบราณคดี พร้อมทั้งแยกงานเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม

พ.ศ. 2560 กระทรวงวัฒนธรรมออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากรใหม่โดยยุบรวมปรับลดส่วนราชการส่วนภูมิภาคจากสำนักศิลปากรที่ 1-15 เป็น สำนักศิลปากรที่ 1-12

หน่วยงานในสังกัด แก้

สำนักบริหารกลาง แก้

เป็นหน่วยงานกลางที่ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปของกรม

กองโบราณคดี แก้

เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา ค้นคว้า วิจัยด้านโบราณคดี ตลอดจนการอนุรักษ์และบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน

กองโบราณคดีใต้น้ำ แก้

เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา ค้นคว้า วิจัยด้านโบราณคดีใต้น้ำ ทั้งทางทะเลและแหล่งน้ำในแผ่นดิน

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม แก้

เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมรดกทางศิลปวัฒนธรรม

สำนักการสังคีต แก้

เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ตลอดจนอนุรักษ์และสืบทอดด้านศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์และคีตศิลป์ของชาติ มีหน่วยงานในสังกัดที่สำคัญ ได้แก่

สำนักช่างสิบหมู่ แก้

เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนางานด้านช่างศิลปกรรมของชาติ ตลอดจนการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และออกแบบงานช่างฝีมือ

สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แก้

เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเกี่ยวกับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ตลอดจนงานอนุรักษ์ สงวนรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และบริหารงานพิพิธภัรฑสถานแห่งชาติ โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีหน้าที่บริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก จังหวัดปทุมธานี ส่วนพิพิธภัณฑถานแห่งชาติแห่งอื่นจะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักศิลปากรในแต่ละท้องที่ โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในสังกัดกรมศิลปากรมีดังนี้

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ภาคเหนือ
    • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก
    • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
    • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัย
    • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก จังหวัดสุโขทัย
    • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน จังหวัดน่าน
    • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน
    • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
    • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน จังหวัดเชียงราย
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ จังหวัดนครราชสีมา
    • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
    • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
    • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
    • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
    • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
    • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ แก้

เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา ค้นคว้า วิจัยงานวิชาการด้านภาษา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และจารีตประเพณี ตลอดจนการแปล เรียบเรียง ตรวจสอบและชำระเอกสารดังกล่าวออกเผยแพร่ในรูปแบบต่าง ๆ

สำนักสถาปัตยกรรม แก้

เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และมัณฑนศิลป์ รวมไปถึงงานสำรวจ การประมาณราคา และควบคุมงานก่อสร้างตามที่ได้รับมอบหมาย

สำนักหอสมุดแห่งชาติ แก้

เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการสำรวจ รวบรวม จัดเก็บและสงวนรักษาทรัพยากรสารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เอกสารโบราณ เป็นต้น รวมไปถึงการให้บริการทรัพยากรดังกล่าวแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการศึกษาวิจัยการดำเนินงานด้านบรรณารักษศาสตร์ สารสนเทศศาสตร์ และเทคโนโลยีสารนิเทศ

สำหรับการบริหารจัดการของสำนักหอสมุดแห่งชาติ มีหอสมุดแห่งชาติในสังกัด ได้แก่ หอสมุดแห่งชาติ หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร ส่วนหอสมุดแห่งชาติแห่งอื่นจะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักศิลปากรในแต่ละท้องที่ โดยหอสมุดแห่งชาติในสังกัดกรมศิลปากรมีดังนี้

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แก้

  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ พื้นที่รับผิดชอบ : เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก และนครสวรรค์
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตรัง พื้นที่รับผิดชอบ : ตรัง กระบี่ ภูเก็ต พังงา และระนอง
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยะลา พื้นที่รับผิดชอบ : ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสตูล
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา พื้นที่รับผิดชอบ : สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช สตูล สุราษฎร์ธานี และชุมพร
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พะเยา พื้นที่รับผิดชอบ : พะเยา เชียงราย น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร และเพชรบูรณ์
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อุบลราชธานี พื้นที่รับผิดชอบ : อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี พื้นที่รับผิดชอบ : สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดจันทบุรี พื้นที่รับผิดชอบ : จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว
  • หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ทำหน้าที่รวบรวมเก็บรักษาเอกสารและสิ่งของที่เนื่องในภารกิจของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
  • หอเกียรติยศ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ทำหน้าที่รวบรวมเก็บรักษาเอกสารรวมทั้งการจัดนิทรรศการประวัติผลงานและสิ่งของที่เนื่องในภารกิจของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งอยู่ที่บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดสุพรรณบุรี (ดอนย่างแย้)

สำนักศิลปากร แก้

เป็นหน่วยงานของกรมศิลปากรที่มีหน้าที่บริหารจัดการหน่วยงานของกรมศิลปากรที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ รวม 12 สำนัก ดังนี้

อุทยานประวัติศาสตร์ แก้

อุทยานประวัติศาสตร์ หมายถึง บริเวณสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี โดยมีความหมายครอบคลุมทั้งโบราณสถาน และสภาพแวดล้อมหรือภูมิทัศน์ที่เกี่ยวเนื่องกับโบราณสถาน โดยอุทยานประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากรจะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักศิลปากรในแต่ละท้องที่

ส่วนเกี่ยวข้อง แก้

มหาวิทยาลัยศิลปากร

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
  2. "หอสมุดแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ ร.9 นครราชสีมา".
  3. "หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร". www.nlt.go.th.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้