กรมบัญชีกลาง (อังกฤษ: The Comptroller General's Department) เป็นกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง รัฐบาลไทย มีภารกิจเกี่ยวกับการควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน และของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปโดยถูกต้อง มีวินัย คุ้มค่า โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ โดยการวางกรอบหลักเกณฑ์กลางให้หน่วยงานภาครัฐถือปฏิบัติ การให้บริการคำแนะนำปรึกษาด้านการเงินการคลัง การบัญชี การตรวจสอบภายใน การบริหารเงินนอกงบประมาณ และการพัสดุภาครัฐ การดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารเงินคงคลังให้มีใช้จ่ายอย่างเพียงพอ และการเสนอข้อมูลในเชิงนโยบายการคลังแก่ฝ่ายบริหาร โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการคลัง รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินผลการคลังภาครัฐ การกำกับดูแลนโยบายและมาตรฐานค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ของบุคลากรภาครัฐ [3]

กรมบัญชีกลาง
The Comptroller General's Department
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง7 ตุลาคม พ.ศ. 2433; 133 ปีก่อน (2433-10-07)
หน่วยงานก่อนหน้า
  • กรมตรวจ
  • กรมสารบัญชี
  • กรมบาญชีกลาง
สำนักงานใหญ่ซอยพระรามที่ 6 ซอย 30 (อารีย์สัมพันธ์) ถนนพระรามที่ 6 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
งบประมาณประจำปี1,404.6664 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • แพตริเซีย มงคลวนิช ​[2], อธิบดี
  • วารี แว่นแก้ว, รองอธิบดี
  • วิลาวรรณ พยาน้อย, รองอธิบดี
  • สมศักดิ์ ภู่สกุล, รองอธิบดี​
ต้นสังกัดกระทรวงการคลัง
เว็บไซต์http://www.cgd.go.th

กรมบัญชีกลาง มีภารกิจหลัก 4 ภารกิจ ดังนี้ 1) ควบคุมการเบิกจ่ายเงินแผ่นดิน 2) ควบคุมการใช้จ่ายเงินของส่วนราชการ 3) ควบคุมงบบุคลากรภาครัฐ และ 4) สนับสนุนนโยบายของกระทรวงการคลังและรัฐบาล

ประวัติและความเป็นมา แก้

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ทรงให้ตรา "พระราชบัญญัติสำหรับกรมพระคลังมหาสมบัติแลว่าด้วยกรมต่างๆ" ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 5 แรม 12 ค่ำ พ.ศ. 2418 ในการนี้ ได้แยกกรมท่าออกจากกรมพระคลัง และตั้งสำนักงานสำหรับงานการคลัง ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ร.ศ.109 (พ.ศ. 2433) ได้มีการตราพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กำหนดให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีหน้าที่จ่ายรักษาเงินแผ่นดิน ทั้งสรรพราชสมบัติพัสดุทั้งปวง กับถือบัญชีพระราชทรัพย์ รับผิดชอบสำหรับแผ่นดินทั้งสิ้น และเก็บภาษีอากรเงินขึ้นแผ่นดิน โดยแบ่งงานออกเป็น 13 กรม เพื่อให้เป็นระบบระเบียบตามแบบสากล และแบ่งกรมตามภารกิจ งานที่แตกต่างกันออกไป อย่างชัดเจน ประกอบด้วย "กรมเจ้ากระทรวง" 5 กรม ได้แก่ กรมพระคลังกลาง กรมสารบัญชี กรมตรวจ กรมเก็บ และกรมพระคลังข้างที่ "กรมขึ้น" 8 กรม แบ่งเป็น กรมเจ้าจำนวนเก็บภาษีอากร 5 กรม ได้แก่ กรมส่วย กรมสรรพากร กรมสรรพภาษี กรมที่ดิน และกรมศุลกากร และกรมทำการแผ่นดิน 3 กรม ได้แก่ กรมกระสาปนสิทธิการ กรมงานพิมพ์บัตร และกรมราชพัสดุ

"กรมสารบัญชี" หรือ กรมบัญชีกลางในปัจจุบัน จึงถือกำเนิด เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2433 มีหน้าที่ สำหรับรับจ่ายเงินแผ่นดินและถือสารบาญชีพระราชทรัพย์ทั้งหมด โดยมีอธิบดีรับผิดชอบการทั้งปวง มีรองอธิบดีสำหรับช่วยการแทน และมีนายเวร 4 นาย คือ เวรรับ เวรจ่าย เวรแบงก์ และเวรบาญชี โดยแต่ละนายเวร มีหน้าที่ดังต่อไปนี้ 1. เวรรับ สำหรับรับเงิน หรือราชสมบัติทั้งปวง และทำบาญชีรายรับ 2. เวรจ่าย สำหรับจ่ายเงิน หรือราชสมบัติทั้งปวง และทำบาญชีรายจ่าย 3. เวรแบงก์ สำหรับทำบาญชีเงินรับจ่ายในนานาประเทศ และเป็นธุรการแลกเปลี่ยน หรือฝากเงินแบงก์ 4. เวรบาญชี สำหรับรักษาบาญชีพระราชทรัพย์ บาญชีรายงบประมาณ บาญชีหนี้หลวง และใบเบิก ใบนำ ใบเสร็จ ทั้งเร่งหนี้หลวง

โดยได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระยานรนารถภักดีศรีรัษฎากร (เอม ณ มหาชัย) เป็นอธิบดีกรมสารบาญชีคนแรก และได้โปรดเกล้าฯ ให้ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช เป็นรองอธิบดี กับทรงแต่งตั้งให้มิสเตอร์ แอล.เอ็ม.เอ็ม.ครอส (Mr.L.M.M.Cross) เป็นผู้ช่วยอธิบดีที่ปรึกษากับการบัญชีทั้งปวง ต่อมา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติกรมสารบาญชีขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 กอง ประกอบด้วย กองบาญชีกลาง กองรับ และกองจ่าย กับหน้าที่ 4 นายเวร คือ เวรรับ เวรจ่าย เวรเกณฑ์ (เวรแบงก์เดิม) และเวรบาญชี เพื่อกำหนดหน้าที่ภายในกรมให้เป็นสัดส่วน ชัดเจน และเหมาะสมขึ้น

ครั้นถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมตรวจเงินแผ่นดินขึ้นในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2458 โดยให้รวม "กรมตรวจ" และ "กรมสารบาญชี" เข้าด้วยกัน และเปลี่ยนชื่อเป็น "กรมบาญชีกลาง" เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2458 ในคราวนี้ทำให้กรมบาญชีกลางมีภารกิจหนักขึ้น โดยเป็นทั้งผู้รวบรวมประมวลบัญชีเงินรายได้และรายจ่ายของแผ่นดิน วางรูป และแนะนำการบัญชีแก่เจ้าหน้าที่ที่ทำการเบิกจ่าย เก็บเงินผลประโยชน์ รักษาเงินแผ่นดิน สอบสวนการเบิกจ่ายในราชการแผ่นดิน รวมถึงการสอบสวน และตักเตือนเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่ทำการเก็บเงินผลประโยชน์รายได้ของแผ่นดินนำส่งพระคลัง

และเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบกรมในกระทรวงพระคลังได้เปลี่ยนชื่อ กรมบาญชีกลาง เป็น "กรมบัญชีกลาง" เพื่อสะท้อนภาระงานให้ชัดเจน [4]

รายพระนามและรายนามอธิบดีกรมบัญชีกลาง แก้

  • ลำดับที่ 1 : พ.ศ. 2433–2441 พระยานรนารถภักดีศรีรัษฎากร (เอม ณ มหาชัย)
  • ลำดับที่ 2 : พ.ศ. 2442–2442 พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์
  • ลำดับที่ 3 : พ.ศ. 2443–2445 มิสเตอร์ชาลล์ เจมส์ ริเวตต์ คาร์แนค (Mr.Charles James Rivett Carnac)
  • ลำดับที่ 4 : พ.ศ. 2445–16 ก.พ. 2450 กรมพระจันทบุรีนฤนาถ[5]
  • ลำดับที่ 5 : พ.ศ. 2450–2 ก.ย. 2458 กรมหมื่นพิทยาลงกรณ
  • ลำดับที่ 6 : 3 ก.ย. 2458–31 มี.ค. 2463 มหาอำมาตย์ตรี เจ้าพระยาพลเทพ (เฉลิม โกมารกุล ณ นคร)
  • ลำดับที่ 7 : 1 เม.ย. 2464–17 พ.ค. 2469 มหาอำมาตย์ตรี พระยาอนุรักษ์โกษา (ประเวศ อมาตยกุล)
  • ลำดับที่ 8 : 24 พ.ค. 2469–31 มี.ค. 2472 มหาอำมาตย์ตรี พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
  • ลำดับที่ 9 : 1 เม.ย. 2473–11 ก.พ. 2478 มหาอำมาตย์ตรี พระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ)
  • ลำดับที่ 10 : 22 มิ.ย. 2480–20 ธ.ค. 2481 มหาอำมาตย์ตรี พระยาชัยสุรินทร์ (ตาล บุนนาค)
  • ลำดับที่ 11 : 28 มิ.ย. 2482–30 มิ.ย. 2486 อำมาตย์โท พระยาทรงสุรรัชฎ์ (อนุสนธิ์ (อ่อน) บุนนาค)
  • ลำดับที่ 12 : 1 ก.ค. 2486–29 ม.ค. 2490 รองอำมาตย์เอก หลวงเสถียรโชติสาร (จรัล โชติกเสถียร)
  • ลำดับที่ 13 : 1 ก.พ. 2490–30 เม.ย. 2490 รองอำมาตย์เอก หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก)
  • ลำดับที่ 14 : 10 พ.ค. 2490–7 ก.ย. 2500 อำมาตย์ตรี หม่อมเจ้าสุวิชากร วรวรรณ
  • ลำดับที่ 15 : 8 ก.ย. 2500–30 ก.ย. 2506 นายบุญมา วงศ์สวรรค์
  • ลำดับที่ 16 : 1 ต.ค. 2506–31 ก.ค. 2508 ม.ร.ว.ทองแท่ง ทองแถม
  • ลำดับที่ 17 : 1 ส.ค. 2508–30 ก.ย. 2510 นายพิศลย์ เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา
  • ลำดับที่ 18 : 9 ต.ค. 2510–1 ต.ค. 2511 นายเยื่อ สุสายัณห์
  • ลำดับที่ 19 : 2 ต.ค. 2511–30 ก.ย. 2513 นายอรุณ ทัพพะรังสี
  • ลำดับที่ 20 : 1 ต.ค. 2513–30 ก.ย. 2515 นายประพนธ์ บุนนาค
  • ลำดับที่ 21 : 1 ต.ค. 2515–30 ก.ย. 2521 นายพนัส สิมะเสถียร
  • ลำดับที่ 22 : 1 ต.ค. 2521–31 ต.ค. 2522 นายนุกูล ประจวบเหมาะ
  • ลำดับที่ 23 : 1 พ.ย. 2522–30 ก.ย. 2525 นายสุนทร เสถียรไทย
  • ลำดับที่ 24 : 1 ต.ค. 2525–30 ก.ย. 2529 นายบัณฑิต บุณยะปานะ
  • ลำดับที่ 25 : 1 ต.ค. 2529–30 ก.ย. 2531 นายภุชงค์ เพ่งศรี
  • ลำดับที่ 26 : 1 ต.ค. 2531–30 ก.ย. 2532 นายเมธี ภมรานนท์
  • ลำดับที่ 27 : 1 ต.ค. 2532–7 ก.ค. 2535 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล
  • ลำดับที่ 28 : 8 ก.ค. 2535–30 ก.ย. 2536 นายมนัส ลีวีระพันธุ์
  • ลำดับที่ 29 : 1 ต.ค. 2536–28 ธ.ค. 2539 นายปรีดี บุญยัง
  • ลำดับที่ 30 : 29 ธ.ค. 2539–4 ก.พ. 2541 นายนิพัทธ พุกกะณะสุต
  • ลำดับที่ 31 : 5 ก.พ. 2541–30 ก.ย. 2541 นายกมล จันทิมา
  • ลำดับที่ 32 : 1 ต.ค. 2541–30 ก.ย. 2542 นายวุฒิชัย พงษ์ประสิทธิ์
  • ลำดับที่ 33 : 1 ต.ค. 2542–20 ต.ค. 2545 นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ
  • ลำดับที่ 34 : 21 ต.ค. 2545–30 ก.ย. 2546 นายวิสุทธิ์ มนตริวัต
  • ลำดับที่ 35 : 1 ต.ค. 2546–30 ก.ย. 2547 นายศานิต ร่างน้อย
  • ลำดับที่ 36 : 1 ต.ค. 2547–2549 นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา
  • ลำดับที่ 37 : 16 พ.ย. 2549–30 ก.ย. 2552 นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์
  • ลำดับที่ 38 : 1 ต.ค. 2552–30 ก.ย. 2553 นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์
  • ลำดับที่ 39 : 1 ต.ค. 2553–30 ก.ย. 2555 นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์
  • ลำดับที่ 40 : 1 ต.ค. 2555–30 ก.ย. 2559 นายมนัส แจ่มเวหา
  • ลำดับที่ 41 : 1 ต.ค. 2559–30 ก.ย.2562 นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ[6]
  • ลำดับที่ 42 : 1 ต.ค. 2562–30 ก.ย.2564 นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข
  • ลำดับที่ 43 : 1 ต.ค. 2564-ปัจจุบัน นางสาวกุลยา ตันติเตมิท

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้