กบฏ ร.ศ. 130

ความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครอง

กบฏ ร.ศ. 130 เป็นความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบสาธารณรัฐที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2455 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สาเหตุเกิดจากนายทหารและปัญญาชนกลุ่มหนึ่งไม่พอใจต่อการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการบริหารราชการของพระมงกุฎเกล้า

กบฏ ร.ศ. 130

คณะผู้ก่อการกบฏ ร.ศ. 130
วันที่1 เมษายน พ.ศ. 2455 (112 ปีที่แล้ว)
สถานที่
ผล

การปฏิวัติล้มเหลว

  • ร้อยเอก ยุทธ คงอยู่ ยอมรับสารภาพโดยเปิดเผยแผนและชื่อทั้งหมดก่อนการก่อกบฏ
  • ในกลุ่มผู้สมรู้ร่วมคิด มีผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตสามคน จำคุกตลอดชีวิต 20 คน, จำคุก 20 ปี 32 คน, จำคุก 15 ปี 6 คน และอีก 30 คนจำคุก 12 ปี
  • ผู้สมรู้ร่วมคิดส่วนใหญ่ได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือลดหย่อนโทษ
คู่สงคราม
ราชสำนักสยาม ฝ่ายกบฏ
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
จอมพล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พลเอก สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์
ร้อยตรี เหรียญ ศรีจันทร์
ร้อยตรี จรูญ ษตะเมษ
ร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์
ร้อยตรี ปลั่ง บูรณโชติ
ร้อยตรี หม่อมราชวงศ์แช่ รัชนิกร
ร้อยตรี เขียน อุทัยกุล

เบื้องหลัง แก้

กองทัพเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณแผ่นดินมากที่สุดตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รายจ่ายด้านการป้องกันประเทศพุ่งสูงขึ้นจากการขยายขนาดกองทัพและการจัดระเบียบราชการ คิดเป็นร้อยละ 24.3 ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาประเทศด้านเกษตรกรรม การศึกษา และการพาณิชย์ คิดเป็นเพียงร้อยละ 3.2, 2.6 และ 0.1 ตามลำดับ[1] อีกทั้งขุนนางสมัยนั้นยังมีอคติต่อการรับเงินทุนและให้สัมปทานกับต่างประเทศ ทำให้เงินทุนในสยามมีน้อย

สภาวะข้างต้นทำให้ "สมาคมอานาคิช" (Anarchist) มองว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นต้นเหตุ[2] ความที่พระมงกุฎเกล้าทรงโปรดการเล่นโขนเล่นละคร และมีความใกล้ชิดกับเหล่ามหาดเล็ก ทำให้มหาดเล็กเป็นหน่วยราชการที่เติบโตรวดเร็วกว่าข้าราชการหน่วยอื่น แต่ละปีมีมหาดเล็กได้เลื่อนบรรดาศักดิ์มากกว่านายทหาร ข่าวการพระราชทานเงินถุงวันเกิดจำนวน 100 ชั่งให้แก่เจ้าพระยารามราฆพ ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงจากทหารว่า "พระเจ้าแผ่นดินรักคนใช้มากดีไหม...ให้เงินทีตั้ง 100 ชั่ง หมายความว่ากระไร... พระเจ้าแผ่นดินเอาแต่เล่นโขน เอาเงินมาสร้างบ้านซื้อรถให้มหาดเล็ก...ทำไมพระราชาองค์นี้จึงโปรดมหาดเล็ก แต่ผู้หญิงไม่ชอบเลย"[3]

พระมงกุฎเกล้าทรงทราบดีว่าพระองค์ขาดความนิยมในหมู่ข้าราชการ จึงทรงตั้งกองเสือป่าขึ้นในปี พ.ศ. 2454 เพื่อขยายเครือข่ายราชสำนักเข้าไปสู่ระบบราชการ เป็นการใช้ระบบอุปถัมภ์เพื่อให้กษัตริย์สามารถเชื่อมต่อกับข้าราชการโดยตรง[4] โดยอ้างว่าเป็นกำลังหนุนให้กองทัพ แต่เสือป่ากลับกลายเป็นสถาบันที่เบียดเบียนทั้งบทบาทและงบประมาณกองทัพ[4] การซ้อมรบระหว่างกองเสือป่ากับกองทัพก็หาได้เป็นการฝึกความชำนาญการรบอย่างจริงจัง เป็นไปเพื่อสร้างความสำราญให้แก่พระมงกุฎเกล้าที่ทรงคุมกองเสือป่าหลวงและชนะอยู่เสมอ แถมในช่วงแรก อาวุธของกองเสือป่าก็ถึงกับต้องยืมจากกองทัพบก ต่อมาจึงใช้เงินพระคลังข้างที่จัดซื้อ[5] การเพิ่มขึ้นของเสือป่าได้แทรกแซงระบบราชการ มีการเรียกข้าราชการที่เป็นสมาชิกเสือป่าไปซ้อมรบทำให้ขาดจากงานราชการปกติ หรือการใช้งบประมาณแผ่นดินมาอุดหนุนเสือป่า

เอกสารที่เขียนโดยร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ "บันทึกเรื่องความเสื่อมทรามและความเจริญของประเทศ" ได้ระบุไว้ว่า:

คนสอพลอนั้นมีอยู่ 2 จำพวก จำพวกหนึ่งทำการให้กษัตริย์โดยตรง ดังเช่นข้าทาสแลพวกบริวารของกษัตริย์เป็นต้น อีกจำพวกหนึ่งนั้นถึงแม้ว่าจะมีหน้าที่ตั้งแต่งให้ทำงานสำหรับรัฐบาลก็จริง แต่เอาเวลาไปใช้ในทางสอพลอเสียหมด ส่วนการที่ออฟฟิซนั้น ถึงแม้ว่าจะบกพร่องแลเสียหายอย่างไรก็ไม่ต้องคิด ขอแต่ให้ได้ใกล้ชิดกลิ้งเกลือกอยู่กับฝ่าบาทก็แล้วกัน ความดีความชอบจะไปข้างไหนเสีย ประเดี๋ยวได้ลาภประเดี๋ยวได้ยศ ฝ่ายพวกที่มัวหลงทำการอยู่ยังออฟฟิซก็ต้องอดโซไปตามกัน บางคนก็ติเตียนว่าคนเหล่านี้โง่ ไม่รู้จักหาความดีความชอบใส่ตัว มัวนั่งมุดหัวอยู่แต่ที่ออฟฟิซ[6]

ข้อความข้างต้นสะท้อนความคับแค้นที่มีต่อเหล่าข้าราชสำนักเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเขียนวิจารณ์ความชั่วร้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้ว่า:

กษัตริย์จะกระทำการชั่วร้ายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ทำได้ เพราะไม่มีใครขัดขวาง กษัตริย์จะกดขี่แลเบียดเบียนราษฎรให้ได้ความทุกข์ยากด้วยประการหน่งประการใดทุกอย่าง ราษฎรที่ไม่มีความผิดกษัตริย์จะเอามาเฆี่ยนตีหรือฆ่าฟันแลจองจาได้ตามความพอใจ ทรัพย์สมบัติแลท่ดินของราษฎรนั้นกษัตริย์จะเบียดเบียนเอามาเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวได้โดยไม่มีขีดขั้น เช่นอย่างไล่ที่ทำวังเป็นต้น เงินประโยชน์สำหรับแผ่นดินที่เก็บได้มานั้น กษัตริย์จะรวบรวมเอามาบำรุงความศุขแลความรื่นเริงในส่วนตัวส่วนพระญาติวงษ์หรือกอบโกยให้ข้าทาสบ่าว แลเอามาบำเรอพวกประจบประแจงสอพลอมากน้อยเท่าใดก็ได้โดยไม่มีขีดขั้น เพราะฉน้นเงินที่ใช้ในการบำรุงบ้านเมืองจึงไม่มีเหลือ[6]

เหตุเฆี่ยนตีที่ระบุในเอกสารดังกล่าว เกิดขึ้นในสมัยที่พระมงกุฎเกล้ายังทรงดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ที่เมื่อทหารชั้นนายดาบคนหนึ่งสังกัดกรมทหารราบที่ 2 แต่งนอกเครื่องแบบออกไปเที่ยวแถวสะพานมัฆวานฯ แล้วเกิดผิดใจกับมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมฯเกี่ยวกับแม่ค้าขายหมาก ถูกมหาดเล็กตีศีรษะ จึงวิ่งไปรายงาน ร้อยเอกโสม ผู้บังคับกองร้อย ขณะเดียวกันมหาดเล็กคนนั้นก็ยังตามไปร้องท้าอยู่หน้ากรม ร้อยเอกโสมกับนายดาบผู้ถูกตีและยังมีนายร้อยตรีอีกคนจึงออกไปหักกิ่งต้นก้ามปูหน้ากรมไล่ตีมหาดเล็กผู้มาร้องท้า ขณะที่กำลังชุลมุนอยู่นั้นพลทหารอีกสองคนมาเห็นเข้าจึงเข้าสมทบด้วย มหาดเล็กสู้ไม่ได้จึงวิ่งหนีเข้าวังปารุสไปทูลฟ้องสมเด็จพระบรมฯ จึงทรงรับสั่งให้ผู้บังคับการกรมสอบสวน ร้อยเอกโสมก็รับสารภาพ พระองค์จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูนพระบรมชนกให้ทรงเฆี่ยนหลังทหารเหล่านั้น แต่พระบรมชนกไม่ทรงเห็นชอบ ทั้งเจ้านายผู้ใหญ่หลายพระองค์ เช่น กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ก็ไม่ทรงเห็นด้วย เพราะการเฆี่ยนหลังเป็นจารีตนครบาลที่เลิกใช้ไปแล้ว ควรใช้กฎหมายอาญาที่ประกาศใช้อยู่ แต่สมเด็จพระบรมฯไม่ยอม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงจำพระทัยต้องอนุมัติให้เฆี่ยนตามที่ทูลขอ ปรากฏว่าคนถูกเฆี่ยนหลังเลือดอาบ ร้อยเอกโสมถึงกับสลบคาขื่อ เรื่องนี้สร้างความกระเทือนไปทั้งหน่วยทหารในพระนคร นักเรียนนายร้อยทหารบกหยุดเรียนเพื่อประท้วง กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ต้องพยายามปลอบโยนและไกล่เกลี่ยเรื่องจึงสงบลงได้ แต่ในใจนั้นเป็นความขมขื่นของทหารหลายคน

เหตุการณ์ แก้

คณะผู้ก่อการได้รวมตัวกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2455 (หากนับแบบเก่าจะเป็น 2454) ประกอบด้วยผู้ร่วมคณะเริ่มแรกจำนวน 7 คน คือ [7]

  • ร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ เป็นหัวหน้า
  • ร้อยตรีเหรียญ ศรีจันทร์ สังกัดกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
  • ร้อยตรีจรูญ ษตะเมษ สังกัดกองปืนกลรักษาพระองค์
  • ร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ สังกัดกองปืนกลรักษาพระองค์
  • ร้อยตรีปลั่ง บูรณโชติ สังกัดกองปืนกลรักษาพระองค์
  • ร้อยตรีหม่อมราชวงศ์แช่ รัชนิกร สังกัดโรงเรียนนายสิบ
  • ร้อยตรีเขียน อุทัยกุล สังกัดโรงเรียนนายสิบ

และมีการประชุมอีกหลายครั้ง ที่สุดคณะผู้ก่อการวางแผนจะก่อการในวันที่ 1 เมษายน อันเป็นวันขึ้นปีใหม่สู่ พ.ศ. 2455 และเป็นวันพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ผู้ที่จับสลากว่าต้องเป็นคนลงมือลอบปลงพระชนม์ คือ ร้อยเอกหลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ คงอยู่) เกิดเกรงกลัวความผิด จึงนำความไปแจ้งหม่อมเจ้าพันธุ์ประวัติ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ และพากันนำความไปแจ้ง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งพระองค์พิโรธมาก ถึงกับจับคณะผู้ก่อการโยนใส่ห้องขังและกระชากอินทรธนูที่ติดอยู่บนเครื่องแบบที่บ่าด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง

ความทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประทับอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม คณะทั้งหมดจึงถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถูกส่งตัวไปคุมขังที่คุกกองมหันตโทษที่สร้างขึ้นใหม่ ถูกศาลทหารพิพากษาให้ประหารชีวิต 3 คน จำคุกตลอดชีพ 20 คน และจำคุกนานลดหลั่นกันตามความผิด โทษที่น้อยคือจำคุกมีกำหนด 12 ปี ในข้อหาว่าจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองของพระราชอาณาจักรและทำการกบฏประทุษร้ายพระเจ้าแผ่นดิน แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ความผิดของพวกเขาเหล่านี้มี "ข้อสำคัญที่จะกระทำร้ายต่อตัวเรา เราไม่ได้มีจิตพยาบาทอาฆาตมาดร้ายต่อพวกนี้ เห็นควรที่จะลดหย่อนผ่อนโทษโดยฐานกรุณา ซึ่งเป็นอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินจะยกให้ได้" ดังนั้น ผู้ที่มีชื่อถูกประหารชีวิต 3 คน จึงได้รับการลดโทษลงมาเป็นจำคุกตลอดชีวิต และผู้ที่มี่ชื่อถูกจำคุกตลอดชีวิต 20 คนให้ลดโทษลงมาเหลือจำคุก 20 ปี อีก 68 คนซึ่งมีโทษจำคุกต่างกันนั้น ให้รอการลงอาญาไว้

คณะผู้ก่อการทั้งหมด 23 คนได้รับพระราชทานอภัยโทษในพระราชพิธีฉัตรมงคล เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2467 ครบรอบปีที่ 15 ของการครองราชย์

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล, “การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-68)”, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517
  2. "เหตุการณ์ ร.ศ. 130 - ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า". wiki.kpi.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-21. สืบค้นเมื่อ 2021-09-29.
  3. อัจฉราพร กมุทพิสมัย, กบฏ ร.ศ.130 กบฏเพื่อประชาธิปไตย แนวคิดทหารใหม่กรุงเทพฯ: อมรินทร์วิชาการ, 2542
  4. 4.0 4.1 ธรรมธวัช ธีระศิลป์, “การศึกษาเพื่อสร้างกองทัพสมัยใหม่กับอดุมการณ์ทางการเมืองของนายทหาร พ.ศ. 2430-2475”, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2562
  5. เทพ บุญตานนท์, "การเมืองในการทหารไทยสมัยรัชกาลที่ 6" กรุงเทพฯ: มติชน, 2559
  6. 6.0 6.1 ร.อ. ขุน ทวยหาญพิทักษ์, "ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจรีญของประเทศ," ฟ้าเดียวกัน, 2554
  7. ณัฐนันท์ สอนพรินทร์. เจาะลึก สมาคมลับ กับการปฏิวัติโลก. กรุงเทพ : อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์, พ.ศ. 2550. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-7489-88-0

หนังสืออ่านเพิ่ม แก้

  • แถมสุข นุ่มนนท์. ยังเติร์กรุ่นแรก กบฎ ร.ศ. 130. กรุงเทพฯ: เรืองศิลป์, 2522.
  • วาสนา วงศ์สุรวัฒน์. จากปฏิวัติซินไห่ ถึง กบฏ ร.ศ. 130 อะไรคือปฏิวัติ? อะไรคือกบฏ? อะไรคือสำเร็จ? อะไรคือล้มเหลว? ใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และทิพย์พาพร ตันติสุนทร (บก.), จาก 100 ปี ร.ศ. 130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: สถาบันนโยบายศึกษา, 2556.
  • เหรียญ ศรีจันทร์ และเนตร พูนวิวัฒน์. ปฏิวัติ ร.ศ. 130. กรุงเทพฯ: มติชน, 2556.
  • อัจฉราพร กมุทพิสมัย. กบฏ ร.ศ.130: กบฏเพื่อประชาธิปไตย แนวคิดทหารใหม่. กรุงเทพฯ: อมรินทร์วิชาการ, 2542.