กบฏอินเดีย ค.ศ. 1857

กบฏอินเดีย ค.ศ. 1857 เป็นการกบฏเพื่อต่อต้านการปกครองอินเดียของบริษัทอินเดียตะวันออกระหว่างค.ศ. 1857–1858 การกบฏเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1857 เมื่อซีปอย หรือทหารราบอินเดียที่ใช้ปืนเล็กยาวเป็นอาวุธที่บริษัทอินเดียตะวันออกเกณฑ์มาเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์และช่วยในการรบลุกฮือขึ้นที่เมืองเมรฐะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเดลี (ปัจจุบันคือโอลด์เดลี) ก่อนจะเกิดการกบฏอื่น ๆ โดยทหารและประชาชนตามมาในพื้นที่ลุ่มคงคาและอินเดียกลาง[2] การกบฏจบลงในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1858 การกบฏครั้งนี้รู้จักในชื่ออื่น ๆ เช่น กบฏซีปอย (Sepoy Mutiny)[3], การจลาจลอินเดีย (Indian Insurrection)[4] และสงครามประกาศเอกราชครั้งที่หนึ่ง (First War of Independence)[5]

กบฏอินเดีย ค.ศ. 1857

แผนที่ปี ค.ศ. 1912 แสดงศูนย์กลางของการกบฏ
วันที่10 พฤษภาคม ค.ศ. 1857 (1857-05-10)1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1858 (1858-11-01)
(1 ปี 6 เดือน)
สถานที่
ผล

บริติชชนะ

ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
สถาปนาบริติชราชเพื่อปกครองดินแดนของบริษัทอินเดียตะวันออกเดิม
คู่สงคราม
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
ความสูญเสีย
ชาวยุโรป 6,000 คนถูกฆ่า[1], ชาวอินเดียกว่า 800,000 คนได้รับผลกระทบจากกบฏ ทุพภิกขภัย และโรคระบาด[1]

บริษัทอินเดียตะวันออกเป็นบริษัทร่วมทุนสัญชาติอังกฤษที่มีจุดประสงค์เพื่อทำการค้ากับภูมิภาคอินเดียตะวันออก จัดตั้งในปี ค.ศ. 1600 บริษัทเข้ามาติดต่อค้าขายกับอินเดียและจัดตั้งสถานีการค้าในปี ค.ศ. 1612[6] การเข้ามามีบทบาทในอินเดียทำให้บริษัทขัดแย้งกับเจ้าพื้นเมืองและบริษัทของชาติมหาอำนาจอื่น ๆ จนในปี ค.ศ. 1757 บริษัทอินเดียตะวันออกรบกับจักรวรรดิโมกุลและประสบชัยชนะในยุทธการที่ปลาศี ทำให้ได้ครอบครองเบงกอล[7] หลังจากนั้นบริษัททำสงครามกับราชอาณาจักรไมซอร์และจักรวรรดิมราฐา ทำให้ครอบครองดินแดนในอนุทวีปอินเดียมากขึ้น นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าการกบฏครั้งนี้มีที่มาจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ความขัดแย้งด้านความเชื่อ การปกครองและพัฒนาอินเดียให้เป็นตะวันตกจนเกินไปของบริติช และการขูดรีดภาษี[8][9] อีกหนึ่งปัจจัยที่มักถูกพูดถึงคือข่าวลือเรื่องไขมันที่ชโลมปลอกกระสุนปืนเล็กยาวเอนฟิลด์ พี-53 ที่เป็นอาวุธประจำกายทหารซีปอยนั้นทำมาจากไขมันวัวและหมู ซึ่งวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูและหมูเป็นสัตว์ต้องห้ามของชาวมุสลิม[10]

วันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1857 มงคล ปาณเฑย (Mangal Pandey) ทหารซีปอยผู้ไม่พอใจบริษัทอินเดียตะวันออกใช้ปืนยิงผู้บังคับบัญชาชาวบริติชก่อนจะถูกจับกุมและถูกประหารชีวิต[11] การประหารชีวิต Pandey ทำให้ทหารบางส่วนไม่พอใจจนในวันที่ 10 พฤษภาคม เกิดเหตุจลาจลในเมืองเมรฐะ อาคารต่าง ๆ ถูกเผาและมีประชาชนถูกฆ่า[12] ทหารซีปอยบางส่วนที่ก่อการกำเริบเดินทางไปยังเดลีอันเป็นที่ประทับของจักรพรรดิบาฮาดูร์ ชาห์ ซาฟาร์แห่งโมกุล และเรียกร้องขอการสนับสนุนซึ่งพระองค์ตอบรับ[13] การจลาจลที่เดลีทำให้ทหารซีปอยหน่วยอื่น ๆ ลุกฮือตาม ชาวมุสลิมส่วนใหญ่เข้าร่วมฝ่ายกบฏ[14] ในขณะที่ชาวซิกข์และปาทานสนับสนุนฝ่ายบริติช[15] ฝ่ายกบฏสามารถยึดเมืองสำคัญของรัฐพิหาร หรยาณา มัธยประเทศ มหาราษฏระ และอุตตรประเทศ ก่อนจะถูกทหารฝ่ายบริติชที่ได้กำลังเสริมมาจากเปอร์เซียและจีนตีโต้ วันที่ 21 กันยายน ฝ่ายบริติชยึดเมืองเดลีคืนจากฝ่ายกบฏได้สำเร็จและเนรเทศจักรพรรดิบาฮาดูร์ ชาห์และพระญาติไปที่ย่างกุ้ง[16] ปลายปี ค.ศ. 1857 ฝ่ายบริติชก็เริ่มยึดดินแดนสำคัญคืนได้และตีทัพฝ่ายกบฏในอินเดียกลางจนแตกพ่ายในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1858 ต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม มีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ ตามมาด้วยการล้างแค้นกบฏที่ก่อเหตุสังหารหมู่ชาวบริติชในการล้อมเมืองกานปุระและลัคเนาด้วยการแขวนคอหรือยิงด้วยปืนใหญ่[17] การกบฏจบลงในวันที่ 1 พฤศจิกายน เมื่อทางบริติชประกาศนิรโทษกรรมกบฏที่ไม่ก่อเหตุฆาตกรรม ก่อนจะประกาศว่าการกบฏจบลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1859[18]

กบฏอินเดีย ค.ศ. 1857 เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้จักรวรรดิโมกุลที่ดำรงอยู่นานกว่า 300 ปีต้องล่มสลาย[19] ด้านรัฐสภาสหราชอาณาจักรออกพระราชบัญญัติรัฐบาลอินเดีย ค.ศ. 1858 ทำให้บริษัทอินเดียตะวันออกสิ้นสภาพในการปกครองอินเดียและถ่ายโอนอำนาจการปกครองไปยังราชสำนักอังกฤษโดยตรง[20] ส่วนกองทหารซีปอยถูกรวมเข้ากับกองทัพอินเดียที่จัดตั้งใหม่ภายใต้บัญชาการของราชสำนักอังกฤษ

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Peers 2013, p. 64.
  2. Bose & Jalal 2004, pp. 72–73
  3. "Indian History – British Period – First war of Independence".
  4. The Empire, Sydney, Australia, dated 11 July 1857, and the Taranaki Herald, New Zealand, 29 August 1857
  5. Williams, Chris (2006), A Companion to 19th-Century Britain, John Wiley & Sons, p. 63, ISBN 978-1-4051-5679-0
  6. "East India Company". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ November 10, 2019.
  7. "Battle of Plassey". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ November 10, 2019.
  8. "Indian Mutiny". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ November 10, 2019.
  9. Szczepanski, Kallie (August 12, 2019). "What Was the Indian Revolt of 1857?". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ November 10, 2019.
  10. McNamara, Robert (June 25, 2019). "Sepoy Mutiny: Indian Revolt of 1857". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ November 10, 2019.
  11. "Mangal Pandey - Biography". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ November 10, 2019.
  12. David 2003, p. 93
  13. Dalrymple, William (2006). The Last Mughal. Viking Penguin. ISBN 0-670-99925-3.
  14. Bandyopadhyay, Sekhar (May 10, 2017). "In 1857, Hindus and Muslims fought side by side to take India back from the British". News18.com. สืบค้นเมื่อ November 10, 2019.
  15. Hussain, Hamid. "The Story of the Storm — 1857". Defence Journal (Opinion). Karachi. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2019-11-10.
  16. Bhatia, H.S. Justice System and Mutinies in British India. p. 204.
  17. Long (1869), p. 397–398
  18. Prichard, Iltudus Thomas (1869). The Administration of India from 1859-1868: The First Ten Years of Administration Under the Crown. London: Macmillan & Co.
  19. "Mughal dynasty". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ November 10, 2019.
  20. Wolpert, Stanley (1989). A New History of India (3d ed.), pp. 239–40. Oxford University Press. ISBN 0-19-505637-X.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้