กฎหมายเนือร์นแบร์ค

กฎหมายเนือร์นแบร์ค (เยอรมัน: Nürnberger Gesetze; อังกฤษ: Nuremberg Laws) เป็นกฎหมายการต่อต้านยิวในนาซีเยอรมนี ซึ่งเสนอต่อไรชส์ทาค เมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1935 ในคราวประชุมสมัยวิสามัญ ณ การชุมนุมเนือร์นแบร์คประจำปีของพรรคนาซี ประกอบด้วยกฎหมายสองฉบับ คือ กฎหมายเพื่อคุ้มครองสายเลือดเยอรมันและเกียรติภูมิเยอรมัน โดยห้ามชาวเยอรมันสมรสหรือมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสกับชาวยิว ทั้งห้ามหญิงชาวเยอรมันที่อายุต่ำกว่า 45 ปีรับทำงานในครัวเรือนชาวยิว และกฎหมายว่าด้วยความเป็นพลเมืองไรช์ (Reich citizenship) ซึ่งบัญญัติว่า ผู้มีสายเลือดเยอรมันหรือสายเลือดที่เกี่ยวข้องเท่านั้นจึงจะเป็นพลเมืองไรช์ ส่วนคนที่เหลือจัดเป็น "พสกนิกรของรัฐ" (state subject) โดยไม่มีสิทธิพลเมือง ต่อมาในวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1935 มีการออกกฤษฎีกาเพิ่มเติมเพื่อกำหนดนิยามว่า ใครบ้างที่เป็นชาวยิว วันเดียวกันนั้น กฎหมายว่าด้วยความเป็นพลเมืองไรช์ก็เริ่มใช้บังคับ ครั้นวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1935 มีการขยายเนื้อหากฎหมายเหล่านี้เพื่อให้ครอบคลุมชาวโรมานีและชาวแอฟริกันเยอรมัน อนึ่ง กฤษฎีกาเพิ่มเติมฉบับดังกล่าวยังนิยามชาวยิปซีว่า เป็น "ศัตรูของรัฐที่มีเชื้อชาติเป็นพื้นฐาน" (enemies of the race-based state) ซึ่งเป็นประเภทเดียวกับชาวยิว

กิจจานุเบกษาไรช์ (Reichsgesetzblatt) เล่ม 100 ซึ่งลงประกาศกฎหมายนี้ ออกเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1935

เพราะความกังวลด้านนโยบายต่างประเทศ การบีฑาชาวยิวตามกฎหมายทั้งสองฉบับจึงมิได้เริ่มต้นจนกระทั่งเสร็จสิ้นการจัดโอลิมปิกฤดูร้อน 1936 ในกรุงเบอร์ลินแล้ว หลังยึดอำนาจการปกครองไว้ได้ใน ค.ศ. 1933 พรรคนาซีก็เริ่มดำเนินนโยบายของตน ซึ่งรวมถึงการจัดตั้ง "ประชาคม" (people's community) โดยมีเชื้อชาติเป็นพื้นฐาน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและประมุข (Führer) ได้ประกาศคว่ำบาตรกิจการของชาวยิวทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1933 และตรากฎหมายฟื้นฟูราชการวิชาชีพ (Law for the Restoration of the Professional Civil Service) เมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1933 เพื่อห้ามผู้มิใช่อารยันรับราชการหรือประกอบวิชาชีพทางนิติศาสตร์ หนังสือซึ่งมองว่า "ไม่เป็นเยอรมัน" (un-German) เป็นต้นว่า บรรดาที่ชาวยิวเป็นผู้แต่งนั้น ก็สั่งให้เผาทำลายทั่วประเทศในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1933 ทั้งมีการกลั่นแกล้งรังแกพลเมืองยิวอย่างหนักหน่วง มีการปราบปรามอย่างแข็งขัน ปลดความเป็นพลเมืองและสิทธิพลเมือง จนที่สุดก็กำจัดชาวยิวออกจากสังคมเยอรมันโดยสิ้นเชิง

กฎหมายเนือร์นแบร์คนี้มีผลให้ชุมชนชาวยิวอ่อนแอลงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ผู้ใดถูกตัดสินว่า ฝ่าฝืนข้อห้ามเรื่องสมรส ก็ถูกจำคุก และเมื่อจำคุกครบกำหนดแล้ว ภายหลังวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1938 ก็ถูกตำรวจเกสตาโพ (Gestapo) จับกุมอีกรอบ แล้วส่งไปยังค่ายกักกันนาซี ผู้มิใช่ชาวยิวจึงพากันเลิกสุงสิงกับชาวยิว ไม่จับจ่ายที่ร้านค้าซึ่งชาวยิวเป็นเจ้าของ พอขาดลูกค้า ร้านค้าเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็จำต้องปิดตัวลง นอกจากนี้ เมื่อมีการห้ามชาวยิวรับราชการหรือประกอบวิชาชีพเกี่ยวกับราชการ เช่น แพทย์ และครู บรรดาเจ้าของกิจการและผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวก็จำต้องรับทำงานกุลี ครั้นจะอพยพออกนอกประเทศก็เป็นปัญหา เพราะมีกำหนดว่า ชาวยิวจะย้ายออกนอกประเทศ ต้องชำระภาษีเป็นเงินร้อยละ 90 ของทรัพย์สินตน แต่ชาวยิวที่มีกำลังพอจะจ่ายภาษีได้ก็แทบจะหาประเทศที่ยินดีรับพวกตนไว้ไม่ได้เลย เมื่อปรากฏว่า แผนการเนรเทศหมู่ เช่น แผนมาดากัสการ์ นั้นล้มเหลว รัฐบาลเยอรมันจึงกวาดล้างหมู่ชาวยิวในยุโรปแทน โดยลงมือเมื่อกลาง ค.ศ. 1941