ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เมืองเสมา"

เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
หน้าใหม่: {{Infobox ancient site | name = เมืองเสมา | native_name = | native_name_lang = | alternate_name = | image = Muang Sema-002.jpg...
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 22:00, 15 เมษายน 2564

เมืองเสมา เป็นเมืองโบราณอยู่ห่างจากอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาไปทางทิศเหนือ 5 กิโลเมตร คาดว่ามีการอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และต่อมาเป็นเมืองโบราณร่วมสมัยวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมร

เมืองเสมา
โบราณสถานหมายเลข 1 เป็นหนึ่งในโบราณสถานภายในเมืองเสมา
แผนที่
ที่ตั้งตำบลเสมา, จังหวัดนครราชสีมา, ประเทศไทย
พิกัด14°55′21.5″N 101°47′57.2″E / 14.922639°N 101.799222°E / 14.922639; 101.799222พิกัดภูมิศาสตร์: 14°55′21.5″N 101°47′57.2″E / 14.922639°N 101.799222°E / 14.922639; 101.799222
ประเภทโบราณสถาน
ความเป็นมา
วัสดุอิฐ
สร้างพุทธศตวรรษที่ 10
ละทิ้งพุทธศตวรรษที่ 18
สมัยเริ่มประวัติศาสตร์
ทวารวดี
เขมร
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ขุดค้นพ.ศ. 2533
ผู้ขุดค้นกรมศิลปากร

ลักษณะทางกายภาพของเมืองนั้นมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ แผนผังเมืองเป็นรูปกลมรีไม่สม่ำเสมอ มีกำแพงเมืองชั้นเดียว ลำน้ำสำคัญที่ไหลผ่าน คือ ลำตะคองซึ่งไหลผ่านทางทิศใต้ของเมือง และห้วยไผ่ไหลผ่านทางทิศตะวันตกของเมือง เมืองเสมามีลักษณะการสร้างเมืองซ้อนกันสองชั้น เรียกว่า เมืองนอก–เมืองใน

ในปี พ.ศ. 2533 และ พ.ศ. 2542 กรมศิลปากรได้ดำเนินการสำรวจและขุดค้นเมืองเสมา พบโบราณสถานที่ตั้งอยู่ภายในเขตเมืองชั้นในและในเขตเมืองชั้นนอกจำนวน 11 แห่ง[1]: 9–15  ส่วนใหญ่เป็นซากวิหารที่สร้างโดยได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธ ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน และศาสนาพราหมณ์ ฝ่ายไศวนิกาย ที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมร

ลักษณะทางกายภาพ

คูน้ำและคันดิน

เมืองเสมามีคูน้ำคันดิน ซึ่งมีความยาวจากด้านทิศเหนือไปทิศใต้ ประมาณ 1,700 เมตร และจากด้านทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ประมาณ 1,500 เมตร กำแพงหรือคันดินสูงเฉลี่ย 3-4 เมตร คูน้ำกว้างประมาณ 10-20 เมตร

สภาพคูน้ำคันดินของเมืองเสมาสามารถสังเกตเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะคูน้ำคันดินของเมืองชั้นใน บริเวณคันดินและริมคูน้ำมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่นเป็นบางช่วง คูเมืองด้านทิศใต้และทิศตะวันตกมีน้ำขังอยู่ ส่วนคูเมืองด้านทิศเหนือของเมืองชั้นในมีสภาพตื้นเขินเป็นบางช่วงแนวคันดินทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออกสังเกตเห็นได้ไม่ค่อยชัดเจนนักเนื่องจากมีชาวบ้านมาจับจองพื้นที่อยู่อาศัย ไถดินเพื่อทำการเพาะปลูก และมีการตัดถนนผ่าน

ศาสนสถาน

ศาสนาพุทธ

ภายในเมืองเสมาพบหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพุทธแสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลศาสนาพุทธจากเมืองโบราณสมัยทวารวดีในภาคกลาง และเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าศาสนาพุทธคงเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 หรือ 13 เป็นต้น[2]: 108  โดยพบศาสนาสถานกระจายอยู่ภายในเมืองชั้นในและชั้นนอก ได้แก่ โบราณสถานหมายเลข 2, โบราณสถานหมายเลข 3, โบราณสถานหมายเลข 4, โบราณสถานหมายเลข 5, โบราณสถานหมายเลข 7, โบราณสถานหมายเลข 8, และโบราณสถานหมายเลข 9 ลักษณะของศาสนสถานมีทั้งประเภทเจดีย์ วิหาร และอาคารทรงปราสาท[1]: 241–242 [3]: 44–46  นอกจากนี้ยังพบศาสนสถานนอกเมือง คือ พระนอนที่วัดธรรมจักรเสมาราม และเจดีย์ที่วัดแก่นท้าว

ศาสนสถานประเภทเจดีย์ที่พบมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม (พบในโบราณสถานหมายเลข 2), ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส (พบในโบราณสถานหมายเลข 5), ผังรูปแปดเหลี่ยม (พบในโบราณสถานหมายเลข 3) และผังกลม (พบในโบราณสถานหมายเลข 8) ส่วนศาสนสถานประเภทวิหารมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (พบในโบราณสถานหมายเลข 4, โบราณสถานหมายเลข 3 หลังที่ 2, และโบราณสถานหมายเลข 9) มีร่องรอยการประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นทั้งที่เป็นรูปสัตว์และรูปดอกไม้ ศาสนสถานอีกประเภทหนึ่ง คือ อาคารทรงปราสาท มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ส่วนฐานประดับลวดลายปูนปั้น (พบในโบราณสถานหมายเลข 7)

โบราณสถานทุกหลังก่อด้วยอิฐขนาดค่อนข้างใหญ่มีแกลบข้าวปนไม่สอปูนอันเป็นลักษณะของศาสนสถานในวัฒนธรรมทวารวดี

ประติมากรรมเนื่องในศาสนาพุทธที่พบส่วนใหญ่เป็นใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่ ไม่มีลวดลายสลัก โดยปักอยู่เป็นคู่โดยรอบศาสนสถานประเภทวิหาร นอกจากนี้จากการขุดแต่งโบราณสถานได้พบประติมากรรมหลายชิ้นที่สำคัญ ได้แก่ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย พบที่โบราณสถานหมายเลข 1 โดยถูกนำมาทำเป็นฐานกำแพงแก้ว มีลักษณะเหมือนกับพระพุทธรูปสมัยทวารวดีที่ได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะและหลังคุปตะ[3]: 172–173  ชิ้นส่วนธรรมจักรทำจากหินทราย พบที่โบราณสถานหมายเลข 2 สลักทึบทั้งสองด้าน บริเวณขอบโดยรอบสลักลวดลายผักกูด ถัดเข้ามาเป็นลายดอกวงกลมสลับรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีลักษณะคล้ายคลึงกับธรรมจักรศิลาพบที่วัดธรรมาจักรเสมาราม[3]: 173 

ศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธที่พบในเมืองเสมาสามารถเทียบได้กับโบราณสถานหลายแห่งในเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี, เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี, เมืองโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์, และเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์

ศาสนาพราหมณ์

ภายในเมืองเสมาพบหลักฐานการนับถือศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกายในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา เมื่อชุมชนเมืองเสมาได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร และพบจารึกที่กล่าวถึงกิจกรรมทางศาสนาพราหมณ์ ระบุอายุในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 15 จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 อย่างไรก็ตามข้อความในจารึกทำให้ทราบว่ามีการนับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธควบคู่กัน

ศาสนสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ที่พบในเมืองเสมา คือ โบราณสถานหมายเลข 1 เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สุดในเมือง ประกอบด้วยปราสาทประธานแบบเขมรก่อด้วยอิฐหนึ่งหลัง ขนาบข้างด้วยวิหารสอง หลัง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีรูปแบบการก่อสร้างมีการใช้อิฐเนื้อค่อนข้างละเอียดไม่มีแกลบข้าวปนอันเป็นลักษณะของอิฐที่ใช้ก่อสร้างศาสนสถานในวัฒนธรรมร่วมแบบเขมร โดยไม่สอปูน[1]: 11–12  จากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 1 พบประติมากรรมเนื่องในศาสนาพราหมณ์หลายชิ้น ได้แก่ ชิ้นส่วนศิวลึงค์ศิลา, เศียรเทวรูป, ชิ้นส่วนรูปเคารพ, ฐานรูปเคารพ, ชิ้นส่วนโคนนทิ, และท่อโสมสูตร[1]: 25–37 

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 หจก.ปุราณรักษ์. รายงานการขุดแต่งเพื่อการบูรณะโบราณสถานเมืองเสมา ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา. รายงานเสนอต่อสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา, 2542.
  2. มยุรี วีระประเสริฐ. ศรีจนาศะ รัฐอิสระที่ราบสูง. : สำนักพิมพ์มติชน, 2545.
  3. 3.0 3.1 3.2 เขมิกา หวังสุข. พัฒนาการทางวัฒนธรรมในลุ่มแม่น้ำมูล : กรณีศึกษาแหล่งโบราณคดีเมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543.