ผลต่างระหว่างรุ่นของ "รอเบิร์ต จอห์นสัน"

เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Anonimeco (คุย | ส่วนร่วม)
หน้าใหม่: {{Infobox musical artist | name = รอเบิร์ต จอห์นสัน | image = | caption = | background = solo_singer | birth_name = รอเบิร์...
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:20, 9 สิงหาคม 2563

รอเบิร์ต ลีรอย จอห์นสัน (อังกฤษ: Robert Leroy Johnson, 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1911 – 16 สิงหาคม ค.ศ. 1938) เป็นนักเล่นกีตาร์ นักร้อง และนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน ผลงานการบันทึกเสียงในปี ค.ศ. 1936 และ 1937 ทำให้เขาได้รับการยอมรับในฐานะนักดนตรีบลูส์ฝีมือฉกาจ วิธีการร้อง การเล่นกีตาร์ และการเขียนเนื้อเพลงของจอห์นสันยังส่งอิทธิพลต่อนักดนตรีรุ่นหลังหลายคน เอริก แคลปตัน นักเล่นกีตาร์ชาวอังกฤษกล่าวว่าจอห์นสันเป็น "นักร้องเพลงบลูส์ที่มีความสำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมา"[1][2] ขณะที่คีธ ริชาดส์ มือกีตาร์วงเดอะโรลลิงสโตนส์กล่าวในปี ค.ศ. 1990 ว่า "หากคุณอยากรู้ว่าดนตรีบลูส์สามารถเล่นให้ดีได้ขนาดไหน ให้ดูที่จอห์นสัน"[3] อย่างไรก็ตาม จอห์นสันเป็นที่รู้จักและมีบันทึกเกี่ยวกับตัวเขาน้อยมากในช่วงที่มีชีวิตอยู่ จึงก่อให้เกิดเรื่องเล่าต่าง ๆ นานา รวมถึงเรื่องเล่าที่ว่าเขาแลกวิญญาณตัวเองกับปีศาจที่ทางแพร่งเพื่อให้บรรลุความสำเร็จด้านดนตรี

รอเบิร์ต จอห์นสัน
ชื่อเกิดรอเบิร์ต ลีรอย จอห์นสัน
เกิด8 พฤษภาคม ค.ศ. 1911(1911-05-08)
เฮเซิลเฮิสต์ รัฐมิสซิสซิปปี สหรัฐ
เสียชีวิต16 สิงหาคม ค.ศ. 1938(1938-08-16) (27 ปี)
กรีนวูด รัฐมิสซิสซิปปี สหรัฐ
แนวเพลงเดลตาบลูส์
อาชีพนักดนตรี, นักร้อง, นักแต่งเพลง
เครื่องดนตรีกีตาร์, เสียงร้อง, ฮาร์โมนิกา
ช่วงปีค.ศ. 1929–1938

รอเบิร์ต จอห์นสันเกิดในปี ค.ศ. 1911 ที่เมืองเฮเซิลเฮิสต์ รัฐมิสซิสซิปปี เป็นบุตรของโนอาห์ จอห์นสันกับจูเลีย ดอดส์ ต่อมาจอห์นสันย้ายตามแม่ที่แต่งงานใหม่ไปอยู่ที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี ที่ซึ่งความสนใจด้านดนตรีบลูส์ของเขาเริ่มขึ้น[4] จอห์นสันอาศัยอยู่ที่เมืองนี้เกือบ 10 ปีก่อนจะย้ายตามแม่ไปหลายเมืองแล้วลงหลักปักฐานที่ไร่แอบเบย์แอนด์เลเธอร์แมนในเมืองโรบินสันวิลล์[5] ในปี ค.ศ. 1929 จอห์นสันแต่งงานกับเวอร์จิเนีย เทรวิส แต่เธอเสียชีวิตขณะตั้งครรภ์ไม่นานหลังจากนั้น[6] แมก แมคคอร์มิก นักดนตรีวิทยาผู้สืบค้นประวัติศาสตร์ดนตรีบลูส์รายงานว่าญาติของเวอร์จิเนียกล่าวว่าการตายของเวอร์จิเนียเป็นการลงโทษจากเบื้องบน หลังจอห์นสัน "ขายวิญญาณให้ปีศาจ" ด้วยการตัดสินใจละทิ้งอาชีพชาวไร่ไปเป็นนักดนตรีพเนจร[7] ในช่วงเวลาเดียวกัน ซัน เฮาส์ นักดนตรีบลูส์ย้ายมาอยู่ที่เมืองโรบินสันวิลล์ เขากล่าวในช่วงบั้นปลายว่าจอห์นสันเป็น "นักเล่นฮาร์โมนิกาที่มีความสามารถ แต่เป็นมือกีตาร์ที่เล่นได้แย่มาก ๆ" จากนั้นไม่นาน จอห์นสันจากเมืองโรบินสันวิลล์ไปอยู่ใกล้เมืองมาร์ตินส์วิลล์ และฝึกฝนจนสามารถเล่นกีตาร์ได้อย่างเฮาส์และไอก์ ซิมเมอร์แมน[8] เมื่อกลับมาที่โรบินสันวิลล์ ฝีมือการเล่นกีตาร์ของเขาก็เพิ่มพูนขึ้นอย่างน่าประหลาดจนเป็นที่ร่ำลือในหมู่นักดนตรีว่าจอห์นสันขายวิญญาณให้ปีศาจเพื่อแลกกับความสามารถทางด้านดนตรี ปีค.ศ. 1931 จอห์นสันแต่งงานกับคาเลตตา คราฟต์ และย้ายไปอยู่ที่เมืองคลากส์เดล ก่อนเธอจะเสียชีวิตในอีกสองปีต่อมา[9] ระหว่างปีค.ศ. 1932–1938 จอห์นสันเดินทางไปมาระหว่างเมืองเมมฟิสกับเฮเลนา รัฐอาร์คันซอ[10] และบางครั้งเดินทางไปแสดงดนตรีไกลถึงชิคาโก เท็กซัสและนิวยอร์ก[11] โดยในการเดินทางแต่ละครั้ง จอห์นสันมักใช้ชื่อที่แตกต่างกันไปและผู้คนที่ให้ที่พักอาศัยแก่จอห์นสันมักไม่ทราบภูมิหลังของเขา[12]

รอเบิร์ต จอห์นสันด้วยวัย 27 ปีที่เมืองกรีนวูด รัฐมิสซิสซิปปีในปี ค.ศ. 1938 โดยไม่ทราบสาเหตุ เกือบ 30 ปีต่อมา เกย์ล ดีน วอร์ดโลว์ นักดนตรีวิทยาทำการสืบค้นจนพบมรณบัตรของจอห์นสันที่ระบุแค่วันที่และสถานที่ แต่ไม่มีการระบุสาเหตุการเสียชีวิตและการชันสูตรพลิกศพ การเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนานี้ก่อให้เกิดเรื่องเล่าต่าง ๆ เช่น จอห์นสันถูกวางยาพิษในสุราโดยสามีของหญิงสาวที่จอห์นสันไปติดพันด้วย โดยพิษดังกล่าวอาจเป็นสตริกนิน (แต่มีการโต้แย้งว่าสตริกนินมีกลิ่นและรสแรงเกินกว่าจะอำพรางด้วยสุราได้)[13] ขณะที่หนังสือ Up Jumped the Devil เสนอว่าอาจเป็นแนฟทาลีนจากการละลายลูกเหม็นเนื่องจากเป็นวิธีทั่วไปในการวางยาพิษของทางใต้ของสหรัฐ ซึ่งถึงแม้จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาจทำให้จอห์นสันซึ่งมีประวัติเป็นหลอดเลือดขอดในหลอดอาหารมีอาการเลือดออกจนเสียชีวิตได้[14] ขณะที่เดวิด คอร์เนล แพทย์สันนิษฐานจากการตรวจสอบภาพถ่ายของจอห์นสันว่าเขาอาจเป็นกลุ่มอาการมาร์แฟน ซึ่งส่งผลให้จอห์นสันเสียชีวิตจากการฉีกเซาะของเอออร์ตา[15]

อ้างอิง

  1. "The 50 Albums That Changed Music". The Observer. July 16, 2006. สืบค้นเมื่อ November 1, 2008.
  2. LaVere, Stephen (1990). Booklet accompanying Complete Recordings. Sony Music Entertainment. p. 26.
  3. Thompson, M. Dion (1998-03-05). "At the American Folklife Center, a blues resurrection: A long-lost recording by bluesman Robert Johnson is most remarkable for flaws that make the legendary musician a little more human". THE BALTIMORE SUN (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2020-04-17.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. Guralnik, pp. 10–11.
  5. Mississippi Blues Trail. Retrieved September 25, 2018.
  6. Wald 2004, p. 108.
  7. The Search for Robert Johnson, 1992 film.
  8. Pearson and McCulloch, p. 7.
  9. Conforth and Wardlow, 2019, pp.112-113
  10. Pearson and McCulloch, p. 12.
  11. Neff and Connor, p. 56.
  12. Gioia, pp. 172–173.
  13. Graves, Tom; LaVere, Steve (2008). Crossroads: The Life and Afterlife of Blues Legend Robert Johnson. Demers Books. pp. 39–43. ISBN 978-0-9816002-0-8. The tale most often told about how Johnson met his fate is that he was poisoned by a jealous husband who put strychnine in his whiskey.
  14. Conforth and Wardlow 2019, pp. 253-255.
  15. Connell, D. (2006). "Retrospective blues: Robert Johnson—an open letter to Eric Clapton". British Medical Journal. 333 (7566): 489. doi:10.1136/bmj.333.7566.489. PMC 1557967.