ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เลียงผา"

เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
วิชิต กองคำ (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Patsagorn Y. (คุย | ส่วนร่วม)
Reverted to revision 8991569 by Mr.BuriramCN (talk): กรุณาอ่านวิธีอ้างอิง่ก่อน (TWG)
ป้ายระบุ: ทำกลับ
บรรทัด 34:
== ถิ่นอาศัยของเลียงผา ==
เลียงผาเป็นสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ตามภูเขาที่มีหน้าผาสูงชัน โดยพบว่าเลียงผาจะชอบอาศัยอยู่ตามภูเขาซึ่งปกคลุมด้วยป่าทึบ และพบเลียงผาอาศัยอยู่บริเวณหน้าผากับยอดเขาที่ระดับความสูง 1,000 เมตร ในป่าเบญจพรรณ ในป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และบริเวณหน้าผาหินชั้นตามลาดเขาในป่าดงดิบเขา เลียงผาสามารถพบได้ในสภาพป่าค่อนข้างหลากหลาย โดยในปัจจุบันสามารถพบร่องรอยของเลียงผาในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าไผ่ ป่าฟื้นฟูตามธรรมชาติ พื้นที่เกษตร ป่าเบญจพรรณ ไร่ร้าง ป่าเต็งรังและทุ่งหญ้า อย่างไรก็ตาม เลียงผามักใช้พื้นที่ภูเขาที่มีหน้าผาสูงชันมีป่าปกคลุมเป็นหลัก โดยทั่วไปแล้วเลียงผาสามารถอาศัยอยู่ได้ในบริเวณที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 200 ไปจนถึงที่ระดับ 2,200 เมตร
 
== การศึกษาด้านอาหารในเลียงผา ==
เลียงผาเป็นสัตว์กินพืช ( herbivore ) อยู่ในกลุ่มเดียวกับสัตว์เคี้ยวเอื้อง(ruminant) เช่น วัว ควาย แพะ แกะ จากการสำรวจในธรรมชาติพบว่า เลียงผากินพืชเกือบทุกชนิด โดยชอบกินใบอ่อน เปลือกไม้ หน่อไม้อ่อน โดยเฉพาะรากไม้ที่มีกลิ่นหอม (Peacock,1933) นอกจากนี้ยังชอบกินหญ้าด้วย(Yin,1967) จากการศึกษาของ Miller (1975) เกี่ยวกับอาหารของสัตว์ป่าที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าที่เขาเขียว จังหวัดชลบุรี พบว่าเลียงผาที่อาศัยอยู่กับเนื้อทราย กวางป่า เก้ง ละมั่ง มีการใช้อาหารร่วมกันคือ ข่อย โมกมัน หญ้าสองหาง กระดูกอึ่ง มะขามเบี้ย หญ้าขนหนาม หญ้าตีนกา
วิจักขณ์ (2533) ศึกษาชนิดพืชอาหารของเลียงผาในป่าธรรมชาติ จากการศึกษาโดยการวิเคราะห์มูล ที่รวบรวมได้จากบริเวณป่าภูเขาหินปูนเขาแดง อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบชนิดพืชอาหารเลียงผาที่วินิจฉัยได้ ได้แก่ ตะกิม มะเดื่อน้ำ ตับเต่า มันหมู น้ำข้าวเขา เถาวัลย์แพน นอกจากนี้ จากร่องรอยการกินของเลียงผาพบพืชที่เลียงผากินจำนวน 32 ชนิด มีทั้งไม้ยืนต้น ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ไม้พุ่ม ไม้พุ่มขนาดเล็ก ไม้ล้มลุก ไม้เถาและไม้เถาล้มลุก เช่น ตะกิม น้ำข้าวเขา มะเดื่อน้ำ สังกรณี มะลิวัลย์เขา กระดูกไก่แดง เป็นต้น ซึ่งในสกุลของพืชอาหารที่เลียงผากินส่วนใหญ่พบว่ามีประโยชน์ทางยาสมุนไพร นอกจากนี้ยังพบอีกว่าในฤดูฝนปริมาณพืชอาหารที่เลียงผากินและปริมาณอาหารในธรรมชาติมีมากกว่าที่พบในฤดูแล้ง ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาพฤติกรรมการกินอาหารของเลียงผาในกรงเลี้ยง (จินดา,2526)
จินดา (2526) ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมการกินอาหารและกิจกรรมต่างๆของเลียงผาในกรงเลี้ยงที่สวนสัตว์ดุสิต กรุงเทพฯ โดยอาหารที่ให้ได้แก่ มันเทศ กล้วยน้ำว้า ถั่วฝักยาว หญ้าขน และผักบุ้ง โดยเลียงผาจะเลือกกิน ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว กล้วยน้ำว้าตามลำดับ ปริมาณอาหารที่เลียงผากินตลอดทั้งปีคิดเฉลี่ยเป็นน้ำหนักสดวันละ 8,626 กรัม คิดเป็นน้ำหนักแห้งวันละ 1,652 กรัม มีค่าพลังงานเฉลี่ย 3,544.81 กิโลแคลอรี่ แต่ผลจากการคำนวณหาค่าความต้องการพลังงานเพื่อการดำรงชีพของเลียงผา น้ำหนัก 60 กิโลกรัม ได้ค่าเฉลี่ยวันละ 3,018.40 กิโลแคลอรี่ จากการศึกษาพฤติกรรมพบว่า เลียงผาจะกินอาหารบ่อยครั้งทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งตัวผู้และตัวเมีย จะกินอาหารมากที่สุดในฤดูฝน รองลงมาในฤดูหนาวและน้อยที่สุดในฤดูร้อน เนื่องจากฤดูฝนพืชอาหารจะมีลักษณะสดและชุ่มน้ำ มียอดอ่อนปริมาณมาก และสัตว์ชอบกินยอดอ่อนของพืชมากกว่าส่วนอื่น (Blair และ Brunette,1980) และในช่วงฤดูฝน สัตว์มักจะมีการผสมพันธุ์และตั้งท้อง ทำให้ความต้องการอาหารของร่างกายมีมากกว่าในฤดูอื่นๆ ส่วนฤดูหนาวสัตว์ต้องการพลังงานมากเพื่อต่อต้านความหนาวเช่นเดียวกับคนและสัตว์อื่นๆ ในช่วงฤดูร้อนเลียงผาจะกินน้ำมากที่สุก และฤดูหนาวน้อยที่สุด คิดเฉลี่ยตลอดทั้งปีเลียงผากินน้ำวันละ 278.33 ลบ.ซม. เลียงผาจะนอนพักผ่อนและเคี้ยวเอื้องในเวลากลางวันและจะนอนหลับในเวลากลางคืนประมาณ 3-5 นาฬิกา พฤติกรรมการถ่ายมูลจะย่อขาหลังลงต่ำแล้วจึงถ่าย การถ่ายมูลจะถ่ายซ้ำที่เดิม แต่การถ่ายปัสสาวะจะไม่ซ้ำที่ มูลมีสีดำเป็นเม็ดเล็กๆกว้าง 1 ซม. ยาว 1.5 ซม. ถ่ายมูลเฉลี่ยวันละ 615 กรัม
Ochiali (1999) ได้ทำการศึกษาชนิดพืชอาหารสัตว์ของเลียงผาญี่ปุ่น((Japanese serow) โดยการติดตามและสังเกต การเลือกกินพืชของเลียงผาญี่ปุ่นในธรรมชาติบริเวณคาบสมุทรชิโมกิตะ ( shimokita peninsula) ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น พบว่า เลียงผาญี่ปุ่นเลือกกินพืชถึง 114 ชนิด และ จัดเป็น selective browers โดยเลือกกินใบไม้เป็นหลัก (folivore) และพืชส่วนมากมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพร (Miyao,1976) ซึ่งเลียงผาญี่ปุ่นจัดอยู่ใน tribe เดียวกัน ( tribe Rupicaprini ) กับเลียงผาเอเชีย ( mainland serow or Asiatic serow; C.sumatraensis ) และกวางผา (goral; Nemorhaedus goral) ได้มีรายงานการวิเคราะห์พืชอาหารจากมูลของเลียงผาเอเชียและกวางผา ในตอนเหนือของอินเดีย ชี้ให้เห็นว่าเลียงผาเอเชียจัดอยู่ในกลุ่ม browsers ในขณะที่กวางผาจัดเป็น grazers ( Green,1987)
Yamamoto (2007) ทำการศึกษาโครงสร้างของกระเพาะอาหารส่วนหน้าของเลียงผาญี่ปุ่นทั้งมหภาค (macroscopically) และจุลภาค (microscopically) ผลการศึกษาจัดเลียงผาญี่ปุ่นอยู่ในกลุ่ม intermediate selectors คือ เลือกกินได้ทั้งอาหารที่มีเยื่อใยต่ำ(browsers)และอาหารที่มีเยื่อใยสูง(grazers)
 
==ปัจจัยคุกคาม==
นอกจากการที่ป่าไม้อันเป็นที่พำนักถูกทำลายแล้ว เลียงผายังถูกไล่ล่าเพราะถูกเชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ใช้น้ำมันในการรักษาบาดแผลที่ได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตกเขาหรือบาดแผลจากการถูกยิงหรือสมานกระดูกที่หักได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ดังนั้นจึงมีการล่าเพื่อเอาน้ำมันเลียงผาใช้ในการรักษาบาดแผลและสมานกระดูก ทำให้ในอดีตเลียงผาถูกล่าเป็นจำนวนมาก เลียงผาแต่ละตัวสามารถสร้างเงินรายได้ให้ผู้ประกอบการขายน้ำมันเลียงผาได้อย่างมหาศาล ด้วยกระบวนการนำหัวและกระดูกของเลียงผาไปต้มกับน้ำมันมะพร้าวแล้วใส่ขวดขนาด 100-150 ซีซี ขายกันในราคาขวดละ 10 บาท รายได้จึงขึ้นอยู่กับปริมาตรน้ำมันมะพร้าวที่ใส่ลงไป นอกจากการล่าแล้วการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและการบุกรุกป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตร ทำให้หลายพื้นที่ในปัจจุบันเลียงผาถูกไล่ต้อนให้อยู่ตามภูเขาสูงโดยเฉพาะภูเขาหินปูน นอกจากนี้การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยบริเวณชายเขาหินปูนที่เลียงผามักจะลงมาหาน้ำและอาหารในที่ต่ำทำให้พื้นที่หากินลดลงและถูกล่าได้ง่ายขึ้น เลียงผาจึงลดจำนวนประชากรลงอย่างมาก นอกจากนี้การระเบิดภูเขาเพื่อการผลิตปูนซีเมนต์และเพื่อการผลิตหินคลุก เป็นการทำลายถิ่นที่อยู่ที่ปลอดภัยของเลียงผาโดยตรง<ref name="dnp"/>
 
== สถานภาพทางการอนุรักษ์ของเลียงผา ( Conservation status ) ==
แม้ว่าเลียงผาจะอาศัยอยู่ใน สภาพภูมิประเทศที่สูงชัน ยากแก่การที่มนุษย์จะเข้าถึง แต่จากปัจจัยคุกคามทั้งจากมนุษย์และสัตว์เลี้ยง ที่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของเลียงผามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบล่าเพื่อเอาเนื้อไปเป็นอาหาร ไขมันและไขกระดูกเอาไปทำน้ำมันที่มีความเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยาในการรักษาโรคไขข้อได้ หรือการล่าเอาหัวไปขายแก่ผู้ที่ชอบสะสม การบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำการเกษตร การเผาเพื่อเปิดพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้พื้นที่ที่เป็นแหล่งอาศัยของเลียงผาลดลง ทั้งยังปล่อยสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะวัว ควาย เข้าไปหากินในพื้นที่ป่าโดยอิสระซึ่งอาจนำโรคระบาดร้ายแรงไปสู่เลียงผาได้ จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้จำนวนเลียงผาลดประชากรลงอย่างมาก โดย จากการประเมินประชากรของเลียงผาในประเทศ ปัจจุบันมีประชากรในธรรมชาติประมาณ 1,000-1,500 ตัว (กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ,2549) ดังนั้นจึงได้มีการจัดสถานภาพทางการอนุรักษ์ เพื่อให้ความสำคัญทางด้านการอนุรักษ์เลียงผา ได้แก่
1. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
เลียงผาจัดเป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิดของประเทศไทย เป็นชนิดสัตว์ป่าที่มีสภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง โดยห้ามมิให้ผู้ใดล่า ครอบครอง เพาะพันธุ์และการค้าซึ่งสัตว์ป่า รวมถึงซากของสัตว์ป่า เว้นแต่ได้รับอนุญาตตามแต่กรณีไป
 
 
2. อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered species of Wild Fauna and Flora, CITES)
เลียงผาถูกจัดอยู่ใน Appendix I ของ CITES หรือ ชนิดพันธุ์แนบท้ายบัญชีหมายเลข 1 กล่าวคือ เป็นชนิดพันธุ์ที่ห้ามทำการค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นกรณีพิเศษเพื่อการศึกษาหรือวิจัย เพราะเป็นสัตว์ชนิดที่ใกล้จะสูญพันธุ์ การนำเข้าหรือส่งออกต้องได้รับการยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าก่อน ประเทศที่ส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตได้ โดยต้องพิจารณาและคำนึงถึงการอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้นๆเป็นความสำคัญ หากไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมาย
3. สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ(International Union of Conservation or Nature and Natural Resources หรือ World Conservative Union: IUCN)
การกำหนดสถานภาพของความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า ( The IUCN Red List of Threatened Animals) โดยเลียงผาถูกกำหนดอยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ( VU: Vulnerable ) ( IUCN 2008 ) ซึ่งหมายถึง สัตว์ป่าชนิดพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์จากพื้นที่ธรรมชาติในอนาคตข้างหน้าต่อไป ในการจัดลำดับสถานภาพทางการอนุรักษ์ดังกล่าวเพื่อ การโน้มน้าว สนับสนุน และส่งเสริมสังคมทั่วโลกให้ร่วมกันสงวนไว้ซึ่งความสมบูรณ์และความหลากหลายของธรรมชาติ และการรับประกันการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใด ๆ จะเป็นไปอย่างเที่ยงธรรมและรักษาสภาพเชิงนิเวศไว้ <ref>รุ่งทิพย์ สุธรรม, 2557, การประเมินคุณค่าทางโภชนะและการย่อยได้ของอาหารสำหรับเลียงผาในสภาพกรงเลี้ยง, วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะเกษตรศาสตร์ ภาควิชาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ </ref>
 
==การจำแนกประเภท==