ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ชุดไทยพระราชนิยม"

เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
P.Liam (คุย | ส่วนร่วม)
หน้าใหม่: '''ชุดไทยพระราชนิยม''' เป็นชุดที่ประกอบด้วยเครื่องแต่งกายอย่า...
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 08:16, 8 มิถุนายน 2563

ชุดไทยพระราชนิยม เป็นชุดที่ประกอบด้วยเครื่องแต่งกายอย่างชุดไทย ออกแบบเพื่อใช้เป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติในงานพิธีทางการ

ชุดฝ่ายชาย

เสื้อพระราชทาน

เสื้อพระราชทาน เป็นเสื้อที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ช่างตัดฉลองพระองค์ ได้แก่ ชูพาสน์ ชูโต, พิชัย วาศนาส่ง และสมภพ หลุยลาภประเสริฐ ออกแบบให้เป็นเครื่องแบบประจำชาติในปี พ.ศ. 2522 จากนั้นโปรดให้พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นแต่งเสื้อดังกล่าวเพื่อเป็นแบบอย่างแก่สาธารณชน[1][2] จนภาพจำของพลเอกเปรมมักคู่กับเสื้อพระราชทานนี้เสมอ ต่อมามีการประยุกต์และมีการแต่งกายด้วยเสื้อแบบนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักการเมืองและข้าราชการในวาระสำคัญต่าง ๆ บ้างก็แต่งในงานพิธีต่าง ๆ เช่น งานมงคลสมรส

เสื้อพระราชทานนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับเสื้อราชปะแตนซึ่งเป็นเสื้อที่มีมาก่อนโดยได้รับการประยุกต์จากเสื้อคลุมเนห์รูของอินเดีย แต่มีความต่างที่วัสดุในการตัดเย็บที่มีความหลากหลายกว่า[3] เสื้อพระราชทานมีลักษณะคอเสื้อตั้งอย่างแมนดารินสูง 3.5 ถึง 4 เซนติเมตร และเรียวคอเสื้อเข้าสาบอก ขลิบรอบคอ สาบอก แขนเสื้อหรือรอยพับแขนเสื้อ กระดุมกลมแบน 5 เม็ดคลุมด้วยผ้าหรือวัสดุที่ใกล้เคียงกับสีและเนื้อผ้า มักเจาะกระเป๋าบนเสื้อที่แนวเหนือกระดุมเม็ดล่างสุดเล็กน้อย ข้างละ 1 กระเป๋า กระเป๋านอก 2 กระเป๋า กระเป๋าด้านบนตรงอกซ้าย 1 กระเป๋า หรืออาจมีมากกว่าหรือไม่มีเลยก็ได้ ตัวเสื้อมีทั้งแบบแขนสั้น แบบแขนยาว และแบบแขนยาวผูกเอว เสื้อแบบแขนยาวโดยมากจะเย็บแขนเสื้อทาบด้วยผ้าแบบและสีเดียวกันกับตัวเสื้อกว่างประมาณ 4 ถึง 5 เซ็นติเมตรเริ่มจากด้านในอ้อมด้านหน้าไปสุดเป็นปลายมนด้านหลังแขนเสื้อ และชายเสื้ออาจผ่ากันตึงหรือมีเส้นรอยตัดต่อมีหรือไม่มีก็ได้ สวมกับกางเกงขายาว[4]

ชุดฝ่ายหญิง

 
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยจักรี

เมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐและหลายประเทศในทวีปยุโรปในปี พ.ศ. 2503 พระองค์ทรงคำนึงและมีพระราชดำริว่าควรจะจัดให้สร้างสรรค์เครื่องแบบประจำชาติให้เป็นไปตามประเพณีอันดีงาม พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ศึกษาค้นคว้าเครื่องแต่งกายของเจ้านายฝ่ายในในอดีต และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ จากนั้นทรงโปรดให้ปรับปรุงพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย มีรูปแบบที่หลากหลายถึง 8 ชุด ได้แก่ ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจักรพรรดิ์ และชุดไทยศิวาลัย ชุดไทยพระราชนิยมเหล่านี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงใช้ในโอกาสต่าง ๆ และพระราชทานแบบให้แก่บุคคลใกล้ชิดได้สวมใส่ จนต่อมาเป็นที่รู้จักและใช้ในวงกว้าง[5][6]

ชุดไทยจักรี

ชุดไทยจักรี ตั้งชื่อตามพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นชุดที่มีความเป็นทางการและมีความสง่างาม โดยปกติ ชุดนี้ทอด้วยวิธีการยกเพื่อให้ชุดมีความหนาโดยไม่ต้องเสริมด้าย มักจะเสริมด้วยด้ายสีทองหรือสีเงินเพื่อเสริมให้เนื้อผ้ามีความสง่างามยิ่งขึ้น ห่มสไบ และสวมกับซิ่นจีบหน้านาง

ชุดไทยบรมพิมาน

 
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยบรมพิมาน

ชุดไทยบรมพิมาน ตั้งชื่อตามพระที่นั่งบรมพิมาน เป็นอีกชุดที่มีความเป็นทางการและมักใช้ในงานช่วงเย็นหรืองานพิธีสำคัญ ประกอบด้วยเสื้อแขนยาว อาจมีกระดุมกลัดติดเสื้อที่ด้านหน้าหรือหลังก็ได้ ตัวเสื้อจะสวมกับซิ่นผูกจีบหน้านาง ผ้าจะถักเพิ่มด้วยไหมทองเพื่อสร้างรูปลักษณ์และความรู้สึกที่มีความหรูหรา คอเสื้อมีลักษณะกลมแนบไปกับคอ นุ่งซิ่นยาวถึงข้อเท้า ตัวชุดตัดเย็บให้มีความกลมกลืนและทำให้ผู้สวมใส่แลดูสูงโปร่งและสมส่วน มักสวมใส่ในพิธีทางการหรือกึ่งทางการก็ได้ นอกจากนี้อาจประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย

ชุดไทยดุสิต

ชุดไทยดุสิต ตั้งชื่อตามพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตัวเสื้อไม่มีแขน คอหน้า-หลังคว้านกว้าง ผ่าหลัง ปักเป็นลวดลายด้วยไข่มุก ลูกปัดหรือเลื่อม มีลวดลายสวยงาม ทอจากผ้ายกไหมหรือยกทอง ใช้ในงานพระราชพิธีตอนค่ำที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ

ชุดไทยศิวาลัย

ชุดไทยศิวาลัย ตั้งชื่อตามพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นอีกชุดที่มีความเป็นทางการและมักใช้ในงานช่วงเย็นหรืองานพิธีสำคัญ มีลักษณะคล้ายกับชุดไทยบรมพิมาน เพียงแต่จะมีการห่มสไบเฉียงเหนือไหล่ด้วย

ชุดไทยจักรพรรดิ

ชุดไทยจักรพรรดิ ตั้งชื่อตามพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นชุดไทยที่มีผ้าคลุมคล้ายชุดไทยจักรี แต่มีความอนุรักษนิยมสูงกว่า จึงมักใช้ในพิธีที่มีความเป็นทางการสูง ส่วนบนมีสไบปักที่มีคววามหนาคลุมทับไหล่ มักจะสวมในพระราชพิธีหรือรัฐพิธีที่สำคัญ

ชุดไทยอมรินทร์

ชุดไทยอมรินทร์ ตั้งชื่อตามพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย เป็นชุดเหมาะสำหรับงานช่วงเย็น ทอจากผ้าที่มีลักษณะเงางาม ผู้สวมใส่ชุดนี้ไม่ต้องสวมเข็มขัด ตัวเสื้อสร้างตัดให้ตัวเสื้อกว้างและรอบคอกลมรอบพอดีกับผู้สวมใส่ แขนเสื้อจะตัดให้แขนสั้นเพียงข้อศอกหรือยาวถึงข้อมือก็ได้ ชุดนี้มีความงามที่ตัวเนื้อผ้าและเครื่องประดับ โดยมักมักสวมในงานพิธีเลี้ยงอาหารเย็นหรือพระราชพิธีฉลองพระชนมพรรษา ทั้งนี้มักจะประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย

ชุดไทยจิตรลดา

ชุดไทยจิตรลดา ตั้งชื่อตามพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ใช้ในงานพิธีช่วงกลางวัน เสื้อทักด้วยไหม แขนยาว ผ่าอกตลอด มีกระดุมเงิน ทอง หรือกระดุมที่กลืนกับผืนผ้า 5 กระดุม ปลายเสื้อคลุมรอบท่อนต้นของซิ่นมักแต่งในงานพิธี เช่น งานพระราชพิธีต่างๆ รับประมุขจากต่างประเทศที่มาเยือนอย่างเป็นทางการ ไม่ต้องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ชุดไทยเรือนต้น

ชุดไทยเรือนต้น ตั้งชื่อตามเรือนต้น เป็นชุดที่มีความลำลองที่สุดในบรรดาชุดไทยพระราชนิยม ใช้ผ้าไหมมีลายริ้ว ตามขวางหรือตามยาว หรือใช้ผ้าเกลี้ยงมีเชิงซิ่น ยาวจรดข้อเท้า ตัวเสื้อแขนยาวถึงข้อมือและผ่าอกตลอด เหมาะสำหรับงานที่ไม่เป็นพิธีการ หรือในโอกาสปกติและต้องการความเรียบง่าย เช่น งานบุญ

ดูเพิ่มเติม

  วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
  พิธีเปิดงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2561 ภาพจากเอ็นบีที พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์ราชปะแตน ต้นแบบเสื้อพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีทรงฉลองพระองค์ชุดไทยดุสิต

อ้างอิง

  1. หลุยลาภประเสริฐ, สมภพ (ธันวาคม 2550). "ช่างตัดฉลองพระองค์". รีดเดอร์ส ไดเจสท์ ฉบับภาษาไทย (ภาษาThai). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 March 2012. สืบค้นเมื่อ 10 June 2010.{{cite journal}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  2. "วธ.เตรียมรื้อใส่เสื้อพระราชทาน". บ้านเมือง (ภาษาThai). 13 มกราคม 2550. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 July 2011. สืบค้นเมื่อ 10 June 2010.{{cite news}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  3. GQ Thailand (17 มิถุนายน 2559). "ชุดราชปะแตน เหตุใดคนไทยทึกทักเอาว่าเป็นของตน?". GQ Thailand. สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "ชุดไทยพระราชนิยม (Chut Thai Phra ratcha niyom)". Ministry of Culture website (ภาษาThai). Ministry of Culture. 3 February 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 January 2010. สืบค้นเมื่อ 10 June 2010.{{cite web}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  5. "สารคดีเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ตอนที่ 40". สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (ภาษาThai). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-12. สืบค้นเมื่อ 10 June 2010.{{cite web}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  6. "ประวัติ ชุดไทยพระราชนิยม ชุดประจำชาติ การแต่งกาย ความภูมิใจในความเป็นไทย". ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เลย กรมหม่อนไหม (ภาษาThai). สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)