ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พระเจ้ามานูแวลที่ 1 แห่งโปรตุเกส"

เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Darkydury (คุย | ส่วนร่วม)
หน้าใหม่: '''พระเจ้ามานูเอล''' หรือ '''มานูเอลผู้มีโชค''' ({{Lang-pt|Manuel O Afortunado}}) (31 พฤษภา...
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 01:59, 29 กันยายน 2562


พระเจ้ามานูเอล หรือ มานูเอลผู้มีโชค (โปรตุเกส: Manuel O Afortunado) (31 พฤษภาคม ค.ศ. 1469 – ธันวาคม ค.ศ. 1521) เป็นกษัตริย์แห่งโปรตุเกสที่ครองราชย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1495 จนถึง ค.ศ. 1521 รัชสมัยของพระองค์มีเหตุการณ์สำคัญ คือ การขับไล่ชาวมัวร์และยิวที่ไม่ยอมเข้ารับการทำพิธีศีลล้างบาปออกจากประเทศ, นโยบายอันชาญลาดเพื่อวางตัวเป็นกลางในความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับสเปน และการสานต่อการขยายอาณาเขตทางทะเล โดยเฉพาะในอินเดียวและบราซิล


วัยเยาว์

มานูเอลเสด็จพระราชสมภพที่อาลกูเชตือในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1469 โดยทรงเป็นบุตรคนที่แปดหรือเก้าของอิงฟังตือเฟร์นังดูแห่งโปรตุเกส ดยุคแห่งวีเซวซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าดูวาร์ตือที่ 1 และพระอนุชาของพระเจ้าอาฟงซูที่ 5 พระมารดาของพระองค์ คือ อิงฟังตาเบียตริซ ดิ อาเวโร ธิดาของเจ้าชายฌูเอา ทั้งพระบิดาและพระมารดาของมานูเอลต่างเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าฌูเอาที่ 1 มานูเอลเป็นคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องของพระองค์ หนึ่งในพระเชษฐภคินีของพระองค์ คือ เลโอนอร์ซึ่งเป็นพระราชินีแห่งโปรตุเกสจากการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าฌูเอาที่ 2 และอิซาเบลซึ่งสมรสกับเฟร์นังดู ดยุคที่ 3 แห่งบรากันซา พระองค์ยังเป็นน้องชายของดิเอโกซึ่งได้สืบทอดตำแหน่งเป็นดยุคแห่งวีเซวต่อจากบิดาซึ่งถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1470 หลังมานูเอลเกิดได้เพียงปีเดียว


เมื่อมานูเอลโตขึ้น ขุนนางโปรตุเกสได้สมคบคิดกันล้มล้างพระเจ้าฌูเอาที่ 2 ซึ่งเป็นทั้งลูกพี่ลูกน้องและพี่เขยของมานูเอล สุดท้ายในปี ค.ศ. 1481 ดิเอโก ดยุคแห่งวีเซว พระเชษฐาของมานูเอลถูกสังหารตามคำสั่งของกษัตริย์ มานูเอลในวัย 15 พรรษาได้สืบทอดทรัพย์สินที่ดินและตำแหน่งของพระเชษฐา ในปี ค.ศ. 1483 เฟร์นังดู ดยุคแห่งบรากันซาถูกตัดหัวที่แอวูราหลังก่อกบฏต่อพระเจ้าฌูเอาที่ 2 บุตรของเขา (ซึ่งเป็นพระภาคิไนยของมานูเอล) ถูกขับไล่ออกจากประเทศไปลี้ภัยอยู่ในกัสติยา


ในเวลานั้นโปรตุเกสกับกัสติยากำลังแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจทางทะเลกันอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ที่มีการค้นพบทวีปอเมริกา ความขัดแย้งทางทะเลของทั้งสองอาณาจักรนำไปสู่สนธิสัญญาตอร์เดซียัสที่ลงนามกันในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1494 สนธิสัญญาดังกล่าวได้แบ่งสิทธิ์โดยยกโลกซีกตะวันออกให้แก่โปรตุเกส และโลกซีกตะวันตกให้แก่กัสติยาและอารากอน


กษัตริย์ของทั้งสองอาณาจักรต่างมุ่งหวังที่จะรวมคาบสมุทรไอบีเรียให้อยู่ภายใต้ราชบัลลังก์เดียว เพื่อสานสายสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นและไม่เป็นศัตรูต่อกันทั้งสองอาณาจักรจึงตกลงร่วมกันในสนธิสัญญาอัลกาโซวาสให้อาฟงซู พระราชโอรสเพียงคนเดียวของกษัตริย์โปรตุเกสสมรสกับอิซาเบล พระราชธิดาคนโตของสองกษัตริย์แห่งกัสติยาและอารากอน ในปี ค.ศ. 1491 อิซาเบลได้สมรสกับอาฟงซู ทว่าหลังสมรสได้เพียงไม่กี่เดือนอาฟงซูก็ประสบอุบัติเหตุส้นพระชนม์ระหว่างแข่งม้า อิซาเบลจึงตกเป็นม่ายและได้เดินทางกลับไปอยู่ที่ราชสำนักของพระบิดามารดา


หลังอาฟงซู พระราชบุตรตามกฎหมายคนสุดท้ายสิ้นพระชนม์ พระเจ้าฌูเอาที่ 2 พยายามผลักดันให้ฌอร์ชี ดิ เล็งกาสตรือ บุตรชายนอกสมรสของพระองค์ได้รับการรับรองเป็นพระโอรสตามกฎหมาย แต่ถูกคัดค้านจากขุนนางจึงทำไม่สำเร็จ

การขึ้นครองราชย์

ในปี ค.ศ. 1493 มานูเอลถูกเรียกตัวเข้าร่วมการประชุมสภาซึ่งพระเจ้าฌูเอาได้เสนอชื่อพระองค์เป็นทายาทในบัลลังก์ พระเจ้าฌูเอาที่ 2 สวรรคตในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1495 ลูกพี่ลูกน้องและพระอนุชาของพระมเหสีของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้ามานูเอลที่ 1 เมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์ได้เรียกบุตรของบรากันซาซึ่งถูกขับไล่ออกจากประเทศกลับมาและคืนทรัพย์สินที่ดินและตำแหน่งเดิมให้


ในตอนที่ขึ้นครองราชย์พระเจ้ามานูเอลมีพระชนมายุ 26 พรรษาและยังไม่สมรส เมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์ พระเจ้ามานูเอลมีความจำเป็นต้องมีทายาทตามกฎหมายโดยด่วน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะรวมราชบัลลังก์ในคาบสมุทรไอบีเรียเป็นหนึ่งเดียวพระเจ้ามานูเอลจึงหมายตาอิซาเบลแห่งอารากอน ชายาม่ายของเจ้าชายอาฟงซู โดยพระเจ้ามานูเอลมีพระชนมายุมากกว่าอิซาเบลหนึ่งพรรษาและว่ากันว่าพระองค์เคยตามอารักขาอิซาเบลเมื่อครั้งที่พระนางเดินทางจากกัสติยามาโปรตุเกสเพื่อสมรสกับเจ้าชายอาฟงซู


เนื่องด้วยกษัตริย์และพระราชินีนาถแห่งกัสติยาและอารากอนมีพระราชโอรสด้วยกันเพียงคนเดียว คือ เจ้าชายฆวนซึ่งมีสุขภาพอ่อนแอ จึงมีการคาดหมายว่าหากเจ้าชายสิ้นพระชนม์โดยไม่มีผู้สืบทอดตำแหน่งเพศชาย อิซาเบลซึ่งเป็นพระราชธิดาคนโตของกษัตริย์และพระราชินีนาถแห่งกัสติยาและอารากอนจะได้เป็นรัชทายาทคนต่อไป พระมานูเอลจึงประสงค์จะสมรสกับพระนางเพื่อจะได้เป็นกษัตริย์แห่งโปรตุเกส กัสติยา และอารากอน แม้ตัวอิซาเบลจะไม่เต็มใจอย่างมากที่จะสมรสกับกษัตริย์แห่งโปรตุเกส แต่พระนางถูกพระราชบิดามารดากดดันอย่างหนักจนต้องยอมสมรส ทั้งคู่อภิเษกสมรสกันเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1497


ในวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1497 เจ้าชายฆวนสิ้นพระชนม์จริงดังคาด อิซาเบลถูกประกาศชื่อเป็นรัชทายาทในบัลลังก์กัสติยา กษัตริย์และพระราชินีนาถแห่งกัสติยาได้เชิญพระนางและพระสวามีมาร่วมงานเลี้ยงฉลองการขึ้นเป็นรัชทายาทในสเปน โดยขณะเดินทางกลับสเปนอิซาเบลกำลังตั้งครรภ์ห้าเดือน พระนางได้ให้กำเนิดพระราชบุตรในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1498 ที่ปราสาทซาราโกซา ทารกน้อยถูกตั้งชื่อว่ามิเกล ดิ ลา ปาซ หลังให้กำเนิดพระราชโอรสได้เพียงชั่วโมงเดียวพระนางอิซาเบลก็สวรรคต


มิเกล ดิ ลา ปาซกลายเป็นทายาทโดยชอบธรรมในบัลลังก์ของทุกราชอาณาจักรในคาบสมุทรไอบีเรีย แต่เด็กน้อยสิ้นพระชนม์ไปพร้อมกับความหวังที่จะรวมราชอาณาจักรในคาบสมุทรเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งในปี ค.ศ. 1500 ด้วยพระชนมายุ 3 พรรษา

พระราชินีคนใหม่

พระเจ้ามานูเอลไม่ยอมล้มเลิกความพยายามและได้อภิเษกสมรสใหม่กับพระธิดาอีกคนของของกษัตริย์และพระราชินีแห่งกัสติยา คือ มารีอาแห่งอารากอน พระขนิษฐาของพระมเหสีคนแรก แต่การสมรสครั้งนี้ต่างจากการสมรสครั้งก่อน คือ พระราชโอรสจะไม่ได้เป็นทายาทโดยชอบธรรมของราชอาณาจักรกัสติยาและอารากอน เนื่องจากฆัวนา พระเชษฐภคินีของมารีอาได้สมรสกับฟิลิปแห่งฮาพส์บวร์คและขึ้นเป็นทายาทสายตรงในบัลลังก์


พิธีอภิเษกสมรสถูกจัดขึ้นในวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1500 ทั้งคู่มีพระราชบุตรด้วยกัน 10 คน คือ

  • พระเจ้าฌูเอาที่ 3 แห่งโปรตุเกส (ประสูติ ค.ศ. 1502)
  • อิซาเบลแห่งโปรตุเกส (ประสูติ ค.ศ. 1503) สมเด็จพระราชินีแห่งสเปนและจักรพรรดินีแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จากการอภิเษกสมรสกับจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ลูกพี่ลูกน้องของพระองค์เอง ทรงเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปนและที่ 1 แห่งโปรตุเกส
  • เบียตริซ (ประสูติ ค.ศ. 1504) สมรสกับชาร์ลส์ที่ 3 ดยุคแห่งซาวอย
  • ลุยส์แห่งโปรตุเกส (ประสูติ ค.ศ. 1506) บิดาของเอิงโตนิโอ บุตรนอกสมรสผู้แสดงตนท้าชิงบัลลังก์โปรตุเกสในปี ค.ศ. 1580
  • เฟร์นังดู (ประสูติ ค.ศ. 1507)
  • อาฟงซู (ประสูติ ค.ศ. 1509)
  • มารีอา (ประสูติ ค.ศ. 1511)
  • พระเจ้าเองรีกือที่ 1 แห่งโปรตุเกส (ประสูติ ค.ศ. 1512)
  • ดูวาร์ตือ (ประสูติ ค.ศ. 1515) บิดาของกาตารินา ดัชเชสแห่งบรากันซา พระอัยกีของพระเจ้าฌูเอาที่ 4 ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์บรากันซาของโปรตุเกส
  • เองโตนิโอ (ประสูติ ค.ศ. 1516)


มารีอาสวรรคตในวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1517 ในกรุงลิสบอนซึ่งเป็นผลจากการคลอดเองโตนิโอ พระราชบุตรคนสุดท้ายในปี ค.ศ. 1516 โดยทารกน้อยมีอายุอยู่ได้เพียงไม่กี่วัน

ทายาทในราชบัลลังก์ทั้งสาม

หลังมารีอาสวรรคต พระเจ้ามานูเอลที่ 1 ประสงค์จะสมรสกับเลโอนอร์แห่งออสเตรีย พระราชธิดาของพระราชินีนาถฆัวนาที่ 1 แห่งกัสติยากับพระเจ้าฟิลิปผู้หล่อเหลา พระนางจึงเป็นพระภาคิไนยของพระนางมารีอาแห่งกัสติยา


เพื่อสานต่อนโยบายในการสมรสเพื่อสร้างราชวงศ์ที่จะรวมราชอาณาจักรของคาบสมุทรไอบีเรียเป็นหนึ่งเดียว ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คจึงให้สัญญาว่าจะให้เลโอนอร์ พระราชธิดาคนโตของพระราชินีนาถฆัวนาที่ 1 กับพระเจ้าฟิลิปผู้หล่อเหลาสมรสกับพระเจ้ามานูเอลที่ 1 แห่งโปรตุเกสซึ่งเป็นอาเขยของเลโอนอร์มาแล้วถึงสองครั้งจากการสมรสกับอิซาเบลและมารีอา พระมาตุจฉาของเลโอนอร์


พิธีอภิเษกสมรสของพระเจ้ามานูเอลกับเลโอนอร์ถูกจัดขึ้นในกรุงลิสบอนเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1519 โดยกษัตริย์แห่งโปรตุเกสอยู่ในวัยห้าสิบ ส่วนเจ้าหญิงมีพระชนมายุ 21 พรรษา ทั้งคู่มีพระราชบุตรด้วยกันสองคน คือ

  • การ์โลส สิ้นพระชนม์หลังประสูติได้ไม่นาน
  • มารีอา


สองปีหลังการสมรสพระเจ้ามานูเอลที่ 1 สวรรคตด้วยกาฬโรคในกรุงลิสบอนเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1521

นโยบายด้านศาสนา

การกระทำซึ่งเป็นที่โต้แย้งที่สุดในรัชสมัยของพระเจ้ามานูเอลคือการบังคับให้ชาวยิวทุกคนที่อาศัยอยู่ในโปรตุเกสเปลี่ยนศาสนา เนื่องจากอินฟันตาอิซาเบลแห่งอารากอนได้ตั้งเงื่อนไขว่าจะยอมเดินทางมาสมรสกับพระเจ้ามานูเอลก็ต่อเมื่อชาวมุสลิมและชาวยิวทุกคนถูกกำจัดออกไปจากโปรตุเกส ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 1496 พระเจ้ามานูเอลได้ออกกฤษฎีกาให้ชาวยิวและชาวมุสลิมทุกคนออกไปจากประเทศโดยให้เวลาสิบเดือนจนถึงเดือนตุลาคมของปี ค.ศ. 1497 ไม่เช่นนั้นจะมีโทษประหารชีวิต โดยพระองค์มีรางวัลให้แก่ผู้แจ้งตำแหน่งที่อยู่ของชาวยิวและมุสลิมเป็นทรัพย์สินที่ดินของผู้ที่คนๆ นั้นแจ้งจับ ขณะที่ผู้ที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในโปรตุเกสต่อไป ทว่ามีชาวยิวเพียงไม่กี่คนที่ถูกขับไล่หรือได้รับอนุญาตให้ออกจากประเทศ เนื่องจากพระเจ้ามานูเอลใช้อำนาจทั้งหมดที่มีขัดขวางไม่ให้ชาวยิวออกนอกประเทศ ชาวยิวกว่า 20,000 คนที่ท่าเรือลิสบอนถูกบังคับให้เข้ารับการทำพิธีศีลล้างบาป ขณะที่ชาวมุสลิมได้โอกาสในการเดินทางออกจากประเทศมากกว่า เนื่องจากกษัตริย์หลีกเลี่ยงไม่อยากมีปัญหาผู้ปกครองของประเทศปลายทางที่อาจส่งกำลังทหารมาแก้แค้นได้หากพระองค์กระทำกับชาวมุสลิมเช่นเดียวกับชาวยิว


ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1497 พระองค์มีคำสั่งให้เอาตัวเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปีที่เกิดจากชาวยิวที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนามาจากพ่อแม่และส่งไปให้ชาวคริสต์เลี้ยงดูเพื่อศึกษาคำสอนของศาสนาคริสต์ ต่อมาทรงขยายอายุเพิ่มเป็น 20 ปี กระบวนการบังคับให้เปลี่ยนศาสนาเสร็จสิ้นในช่วงปลายปี ค.ศ. 1497 และก่อให้กิดโศกนาฏกรรมเมื่อพ่อแม่หลายคนยินดีที่จะสังหารบุตรชายของตนดีกว่าให้ถูกส่งไปศึกษาคำสอนของศาสนาคริสต์


การบังคับเปลี่ยนศาสนาทำให้เกิดกลุ่ม "ชาวคริสต์ใหม่" ในโปรตุเกส ซึ่งคนกลุ่มนี้มีสถานะทางสังคมที่ไม่มั่นคงเนื่องจากถูกมองว่ามีสายเลือดยิว คนกลุ่มนี้ถูกกีดกันไม่ให้เข้ารับราชการและไม่ได้รับอนุญาตให้สมรสกับขุนนางหรือชาวคริสต์เดิม ทั้งยังถูกรังความลักขโมยทรัพย์สิน ในปี ค.ศ. 1506 ชาวคริสต์ใหม่ถูกไล่ล่าอย่างหนัก เพราะประชาชนกล่าวหาว่าสาเหตุที่กาฬโรคระบาดในกรุงลิสบอนเนื่องจากมีคนกลุ่มนี้ซึ่งไม่ได้มีศรัทธาอย่างแท้จริงอยู่ในเมือง บ้านและวัดของชาวคริสต์ใหม่ถูกเผา ชาวคริสต์ใหม่ถูกสังหารกว่า 3,500 คน ผู้มีอำนาจสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายในสามวัน ผู้กระทำผิดฐานสังหารหมู่ถูกตัดสินประหารชีวิต

การบริหารจัดการภายใน

พระเจ้ามานูเอลที่ 1 ขึ้นครองบัลลังก์ในช่วงที่ขุนนางกำลังเสื่อมอำนาจ กษัตริย์จึงสามารถบริหารบ้านเมืองด้วยการปกครองแบบรวมอำนาจ ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการปฏิรูปการคลัง, ปฏิรูปกฏหมาย และปฏิรูปการบริหารบ้านเมืองหลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือการปรับประมวลกฎหมายโปรตุเกสให้ทันยุคทันสมัยยิ่งขึ้น ประมวลกฎหมายใหม่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1512 และฉบับแก้ไขความถูกต้องถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1521 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์สวรรคต

การสำรวจทางทะเล

รัชสมัยของพระองค์โด่งดังที่สุดในด้านการสำรวจทางทะเลครั้งสำคัญที่พระองค์เป็นนายทุน ในวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1497 พระองค์ได้ส่งวัชกู ดา กามาพร้อมเรือสี่ลำไปสำรวจเส้นทางทะเลสู่อินเดีย การเดินทางบรรลุเป้าหมายเมื่อดา กามาไปถึงเมืองโคชิโคดในวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1498 ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1499 เรือของดา กามาสองลำเดินทางกลับมาถึงโปรตุเกส ในวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1500 เปดรู อัลวารึช กาบรัล ผู้นำการสำรวจครั้งต่อมาได้นำเรือสิบสามลำเดินทางออกจากเมืองลิสบอน ในวันที่ 22 เมษายนคณะเดินทางมองเห็นเทือกเขามองชือปาสกูอาลในบราซิล ในวันที่ 2 พฤษภาคมกาบรัลเดินทางต่อไปอินเดีย แต่ได้ส่งเรือเสบียงกลับไปโปรตุเกสเพื่อแจ้งข่าวการค้นพบก่อนหน้านั้นแล้ว ในปี ค.ศ. 1501 พระเจ้ามานูเอลส่งเรือสามลำภายใต้การบัญชาการของกองซาโล กูเอลโญไปสำรวจชายฝั่งตะวันออกของบราซิล เมื่อกูเอลโญกลับมาในปีต่อมาพระเจ้ามานูเอลเปิดให้ห้างหุ้นส่วนภายใต้การนำของเฟนูเอา ดิ โลโรนญาเช่าบราซิลเป็นเวลา 3 ปี ทว่าพระเจ้ามานูเอลทรงสนใจในแอฟริกาเหนือ แอฟริกาตะวันออก และเอเชียมากกว่าอเมริกา

อ้างอิง