ผลต่างระหว่างรุ่นของ "โทรณาจารย์"

เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Ziprasidone (คุย | ส่วนร่วม)
Ziprasidone (คุย | ส่วนร่วม)
บรรทัด 16:
โทรณะเดินทางไปยังเมืองหัสตินาปุระ และได้พบกับราชกุมารทั้งหลายซึ่งกำลังเดือดร้อน เพราะเล่นกันแล้วทำลูกบอลตกลงไปในบ่อน้ำลึก โทรณะจึงสำแดงฝีมือธนูโดยยิงลูกธนูให้ต่อกันเป็นสาย จนสามารถเก็บลูกบอลรวมถึงแหวนที่โยนลงไปขึ้นมาได้สำเร็จ เด็กๆอัศจรรย์ใจกับทักษะนี้มาก โทรณะจึงสั่งให้นำเรื่องนี้ไปเล่าแก่ภีษมะ (Bhīṣma) เมื่อได้ฟังจากหลานๆ ภีษมะก็ทราบในทันทีว่าบุคคลผู้นี้คือโทรณะ จึงเข้าไปพบและขอร้องให้รับเหล่าราชบุตรเป็นศิษย์ โทรณะซึ่งตั้งใจเช่นนั้นอยู่แล้วก็ตอบรับ โดยขอสัญญาจากเด็กๆว่า เมื่อสำเร็จการศึกษา จะต้องกระทำสิ่งหนึ่งตามที่ตนสั่งโดยไม่บิดพลิ้ว แต่ไม่ได้แจ้ง ณ เวลานั้นว่าสิ่งที่ต้องการคือกิจธุระใด การเข้ารับตำแหน่งเป็นอาจารย์ด้านวิชาอาวุธในราชสำนักหัสตินาปุระนี้ทำให้โทรณะมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “อาจารยะ (Ācārya)” ซึ่งก็แปลว่า “อาจารย์” นั่นเอง
 
ในฐานะครูผู้ถ่ายทอดวิชา โทรณะทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม สามารถสร้างลูกศิษย์ให้เป็นนักรบที่เก่งกาจได้ทั่วถ้วน แต่หากพิจารณาถึงจรรยาบรรณความเป็นครูตามแนวคิดปัจจุบัน การกระทำของโทรณะอาจเรียกได้ว่าไม่สู้ยุติธรรมนัก สิ่งหนึ่งที่โทรณะแสดงออกอย่างชัดเจนคือความรักใคร่และเข้าข้างอรชุน (Arjuna) เหนือกว่าศิษย์คนอื่นๆ เพราะอรชุนนั้นมีพรสวรรค์ ใฝ่รู้ใฝ่เรียน และรู้จักกระทำตนให้เป็นที่รักของอาจารย์ เช่นที่ในบางต้นฉบับเล่าว่า โทรณะต้องการถ่ายทอดวิชาพิเศษให้บุตรของตนคือ อัศวัตถามันแต่เพียงผู้เดียว จึงสั่งให้ศิษย์คนอื่นๆไปตักน้ำ แล้วสอนวิชาลับแก่อัศวัตถามันในระหว่างนั้น อรชุนรู้เข้าจึงพยายามตักน้ำให้เสร็จโดยเร็วแล้วกลับเข้าไปเรียนด้วย ทำให้อรชุนได้รับการสั่งสอนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอัศวัตถามัน หรือครั้งหนึ่งอรชุนนำธนูไปฝึกเพิ่มเติมเองในเวลากลางคืน โทรณะมาพบเข้าก็ประทับใจอย่างยิ่ง ถึงกับออกปากว่า จะทุ่มเททุกวิถีทางเพื่อให้อรชุนเป็นนักธนูที่ไม่มีผู้ใดในโลกเสมอได้ ด้วยความรักและคำสัตย์ที่ให้ไว้กับอรชุนนี้เอง ทำให้โทรณะเลือกจะไม่สอนวิชาอาวุธพรหมาสตร์ (Brahmāstra) แก่กรรณะ (Karṇa) ตามที่กรรณะร้องขอ แม้ว่ากรรณะมีศักยภาพเพียงพอที่จะเรียน ทั้งยังทำให้เกิดเรื่องราวน่าสลดของ[[เอกลัพย์]] (Ekalavya) อีกด้วย
 
เอกลวยะเป็นเจ้าชายของชาวนิษาท (Niṣāda) ซึ่งเป็นกลุ่มชนนอกสังคมอารยัน อาศัยอยู่ในป่า เอกลวยะเดินทางมาขอเรียนกับโทรณะในหัสตินาปุระแต่ถูกปฏิเสธ จึงกลับไปแล้วปั้นดินเป็นรูปโทรณะ ฝึกฝนวิชาธนูเองต่อหน้ารูปดินนั้นจนชำนาญ วันหนึ่งอรชุนได้เห็นฝีมือของเอกลวยะโดยบังเอิญ จึงกลับไปต่อว่าโทรณะ ว่าเหตุใดจึงผิดคำสัญญาไปสอนศิษย์อื่นให้เก่งกาจกว่าตนได้ โทรณะจึงไปหาเอกลวยะและขอค่าทักษิณาเป็นนิ้วโป้งของเอกลวยะ เอกลวยะนั้นนับถือโทรณะเป็นครูโดยสุจริตใจ จึงตัดนิ้วโป้งมอบให้โดยไม่รีรอ เมื่อขาดนิ้วที่เป็นหลักในการจับลูกธนู เอกลวยะก็ไม่อาจทัดเทียมกับอรชุนได้อีก เหตุการณ์นี้แม้จะนับว่าโทรณะกระทำตามสัตยวาจาตามหลักศาสนาฮินดู แต่ก็ทำให้เห็นความคิดจิตใจบางประการของโทรณะได้ดีทีเดียว