ผลต่างระหว่างรุ่นของ "จิตวิทยาชุมชน"

เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
ศุภกิจ (คุย | ส่วนร่วม)
หน้าใหม่: '''จิตวิทยาชุมชน COMMUNITY PSYCHOLOGY''' จิตวิทยาชุมชนเป็นสาขาของจิตวิทยาที...
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 22:17, 7 กรกฎาคม 2550

จิตวิทยาชุมชน COMMUNITY PSYCHOLOGY

จิตวิทยาชุมชนเป็นสาขาของจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมและวิธีที่สังคมส่งผลกระทบต่อบุคคลและหน้าที่ของชุมชน จิตวิทยาชุมชนเน้นที่ประเด็นทางสังคม สถาบันทางสังคม และสภาพแวดล้อมอื่นที่มีอิทธิพลต่อบุคคล กลุ่ม และองค์กร

จิตวิทยาชุมชนเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำความเข้าใจบุคคลภายในโลกทางสังคมและการใช้ความเข้าใจนี้ในการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคล นักจิตวิทยาชุมชนจะตรวจสอบอย่างเป็นระบบถึงวิถีที่บุคคลติดต่อกับคนอื่น ๆ หรือติดต่อกับกลุ่มทางสังคม ชมรม วัด โรงเรียน ครอบครัว ละแวกบ้าน และวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่กว่า เป็นหลักการประยุกต์ที่นักวิจัยใช้ตรวจสอบประเด็นทางสังคมต่าง ๆ ที่รวมเรื่องความยากจน การละเมิด ความผิดพลาด การเรียนรู้ การพัฒนาชุมชน ปัจจัยเสี่ยงและการปกป้อง ความเข้มแข็ง ความหลากหลาย การป้องกัน การแทรกแซง ความเหลวไหล พฤติกรรมเสี่ยงสูง ความก้าวร้าว ความรุนแรง และหัวข้ออื่น ๆ มากมาย

จิตวิทยาชุมชนมีประเด็นร่วมกับแนวคิดทางสังคมวิทยาตรงที่เป็นเรื่องของการศึกษาระบบสังคมระบบใหญ่ แต่จิตวิทยาชุมชนเน้นที่อิทธิพลของระบบใหญ่ที่มีต่อพฤติกรรม โดยเฉพาะการพรรณาและการประยุกต์แนวคิดพื้นฐานทฤษฎีเพื่อเสนอการเปลี่ยนแปลงสู่การกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมและการดำรงความยุติธรรมในสังคม ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าจิตวิทยาชุมชนเน้นที่การดำเนินกิจกรรมในสังคมมากกว่าสาขาสังคมวิทยา นอกจากนี้ จิตวิทยาชุมชนยังมีรากฐานมาจากที่เดียวกันกับแนวคิดด้านสังคมสงเคราะห์ตรงที่สนใจเรื่องของความยุติธรรมในสังคม จิตวิทยาชุมชนมีความใกล้เคียงกับสังคมสงเคราะห์ตามแนวทางสวัสดิการสังคมมากกว่าสังคมสงเคราะห์ทางคลินิก แต่จิตวิทยาชุมชนก็ให้ความสนใจกับประเด็นของครอบครัวและบุคคลรวมทั้งโรงเรียน กลุ่ม องค์กร ชุมชน และระบบด้วย รวมทั้งจิตวิทยาชุมชนเน้นที่การวิจัยมากกว่างานสังคมสงเคราะห์

ปรัชญาและเป้าหมายของจิตวิทยาชุมชน

เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคลและชุมชนด้วยกิจกรรมทางเลือกและสร้างสรรคที่ออกแบบร่วมกันระหว่างสมาชิกชุมชนและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งที่เป็นนักวิชาการด้านจิตวิทยาและไม่ใช่ด้านจิตวิทยา

เป้าหมายและจุดเน้น

จิตวิทยาชุมชนมีเป้าหมายและจุดเน้นดังนี้ ศึกษาหาวิธีการดำเนินการกับพฤติกรรมเบี่ยงเบนจากบรรทัดฐานของสังคม ศึกษาหาทางสนับสนุนสิทธิความแตกต่างของบุคคลโดยไม่เสี่ยงต่อการถูกลงโทษทางจิตใจและกาย พัฒนาความเข้มแข็งและพลังความเข้มแข็งของทรัพยากรมนุษย์ ศึกษาหาวิธีการนำการเปลี่ยนสู่การกระจายทรัพยากรทางกายภาพและจิตใจอย่างเท่าเทียมให้มากที่สุด เน้นโอกาสและความสามารถในการเข้าถึงบริการทางสังคมและการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาสังคม สร้างความรู้สึกสำนึกชุมชน ความเป็นสมาชิกภาพของชุมชน อิทธิพล การบูรณาการ และความรู้สึกของการเชื่อมโยงทางอารมณ์

วิธีการ

วิธีการหรือแนวทางของสาขาจิตวิทยาชุมชน อยู่ที่มุมมอง มิติความสัมพันธ์กับวัฒนธรรม ความแตกต่างหลากหลายของชาติพันธุ์ เชื้อชาติ เพศ กับสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ กระบวนการของการเปลี่ยนแปลงเป็นแบบเปิด เพราะเป้าหมายของสังคมไม่มีทางที่จะสมบูรณ์ได้ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจึงมีความจำเป็นเสมอ ข้อสรุปหรือทางแก้ปัญหาในวันนี้อาจกลายเป็นปัญหาของวันพรุ่งนี้ หลักการและข้อสมมติฐานที่สำคัญ สมมติฐานของจิตวิทยาสังคมล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหาในฐานะที่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสภาพและระบบสังคม (รวมถึงโครงสร้างของการสนับสนุนทางสังคมและอำนาจทางสังคม) ซึ่งมีประเด็นคำถามที่ต้องการหาคำตอบยืนยันว่า เสรีภาพของบุคคลสามารถประนีประนอมกับข้อเกี่ยวข้องด้านกฏหมายของชุมชนที่ใหญ่กว่าได้ รวมทั้ง การดำรงรักษาสภาพสังคมใหญ่สามารถคำนึงถึงความแตกต่างทางบุคคล และในเวลาเดียวกันก็สามารถทำให้เกิดเครือข่ายระบบสังคมที่เป็นทรัพยากรของสังคมเพื่อสุขภาพอนามัย การศึกษา และสวัสดิการที่มีให้กับพลเมืองทุกคนได้ ระดับการวิเคราะห์แตกต่างกันตั้งแต่มหภาคจนถึงจุลภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ระดับขององค์กรและชุมชน วิธีการวิจัยด้านจิตวิทยาชุมชนมีได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การวิจัยแบบกึ่งทดลอง วิจัยเชิงคุณภาพ การวิจัยปฏิบัติการ และศึกษากรณี ส่วนระดับการปฏิบัติการทางจิตวิทยาชุมชนต้องอยู่ใกล้สิ่งที่เกี่ยวข้องมากที่สุด

ประโยชน์ของการมีความรู้ด้านจิตวิทยาชุมชนสำหรับนักพัฒนา

นักพัฒนากับนักจิตวิทยาชุมชน ต่างก็ทำงานในชุมชน และมุ่งสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในชุมชนและปกป้องชุมชนจากสิ่งที่จะกระทบในทางลบต่อชุมชน นักพัฒนาอาจจะทำได้ดีในงานพัฒนาร่วมกับผู้คนในชุมชน ใช้ประโยชน์จากระบบราชการในการส่งเสริมการพัฒนาชุมชน มุ่งส่งเสริมโครงการพัฒนาแต่นักจิตวิทยาชุมชนจะทำได้ดีกว่าในการจัดระบบสังคมที่เกี่ยวข้องกับผู้คนในชุมชน และเน้นส่งเสริมพฤติกรรมของประชาชนในการดำเนินโครงการพัฒนามากกว่าตัวโครงการ การที่นักพัฒนามีความรู้ด้านจิตวิทยาชุมชน ก็จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาทักษะที่เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาที่หนักหนาสาหัสหลายอย่างที่ชุมชนเผชิญหน้าอยู่ นอกจากนี้นักพัฒนายังสามารถฝึกฝนวิธีการดำเนินการวิจัยชุมชนและการจัดกิจกรรมชุมชนในสังคมหลากหลายรูปแบบตามความต้องการจำเป็นของชุมชนในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ และมีเทคนิคทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพสามารถนำมาใช้เพื่อศึกษาปัญหาสังคมที่ซับซ้อน อีกทั้งสามารถทำงานกับชุมชนในลักษณะการจัดระบบสังคมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนเพื่อการจัดระเบียบชุมชนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ที่มา จิตวิทยาชุมชน อ.รศ.ดร.สุรพล พยอมแย้ม อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว มหาวิทยาลัญศิลปากร